‘อุตรดิตถ์ติดยิ้ม’ ปี62 ปลุกการเรียนรู้สู่คนทุกวัย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจาก สสส.
เยาวชนเป็นพลังการขับเคลื่อนที่สำคัญและมีความสนุกสนานของการเรียนรู้อยู่เสมอและพื้นที่ดีถือเป็นเวทีการแสดงพลังคนรุ่นใหม่อย่างเป็นรูปธรรมได้ดีที่สุด
เหตุนี้กลุ่มเยาวชนเครือข่ายอุตรดิตถ์ติดยิ้มจัดงาน "ลุกขึ้นมา Live in Uttaradit กับเทศกาลอุตรดิตถ์ติดยิ้ม" ณ สถานีอุตรดิตถ์ติดยิ้ม (Hub2U) งานครั้งนี้เครือข่ายอุตรดิตถ์ติดยิ้ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุตรดิตถ์ หอการค้าจังหวัดอุตรดิตถ์ และภาคีเครือข่ายกว่า 50 องค์กรร่วมกันจัดขึ้น โดยนายภิภัช ประจันทร์เขต รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานเปิดงาน
กิจกรรมในเทศกาลอุตรดิตถ์นับเป็นปีแรกที่จัดขึ้นถึง 2 วัน โดยมีกิจกรรมระหว่างวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2562 ณ สถานีอุตรดิตถ์ติดยิ้ม Hub2U จุดนัดพบทุกการสร้างสรรค์ ที่ประกอบด้วยกิจกรรม ชวนลุกขึ้นมา Live – วิ่งด้วยกันรอบเมืองอุตรดิตถ์ ลานกิจกรรมสร้างสรรค์ – ยิ้มฮับคาเฟ่ ร้านหนังสือปันยิ้ม มา-มะ อาร์ตช็อป Co-working spaceฟาร์มคิดสร้างสรรค์ บ้านแมลงปอปีกแก้ว แกลเลอรี่ติดยิ้ม ติดยิ้มออนทัวร์ – พื้นที่เรียนรู้ทั่วเมืองอุตรดิตถ์ ประกอบด้วย ลาเต้สตูดิโอ แกลเลอรี่เล่าเรื่องสื่อสร้างสรรค์เพื่อคนอุตรดิตถ์ ต. ท่าอิฐ มา-มะ อาร์ตสเปซ พื้นที่ศิลปะสร้างสรรค์ชุมชน ต.ผาจุก ไร่ลุงรัง เกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติ ต.ท่าเสา บ้านตะวันยิ้ม อาชาบำบัดและกิจกรรมสร้างสรรค์ทักษะชีวิต ต.คุ้งตะเภา ห้องเรียนแรงบันดาลใจ ฟาร์มรู้โฮมสเตย์ ต.ชัยจุมพล บ้านนอกสบายดี ฟาร์มแห่งความสุข ต.บ้านด่านนาขาม บ้านกลางสวน กิจกรรมสร้างสรรค์มทุกเสาร์ที่สองของเดือน ที่สวนมหามงคล ท่าอิฐล่าง ห้องเรียนชุมชนวิถีชีวิตสร้างสรรค์ ต.ท่าอิฐ โรงเรียนใต้ถุนบ้าน เปิดบ้านเป็นห้องเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ต.ฝายหลวง
ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ กรรมการกำกับทิศทางแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า ดีใจที่เห็นการขับเคลื่อนงานด้านพื้นที่สร้างสรรค์เกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยมีเยาวชนพลเมืองสำคัญเป็นกำลังในการขับเคลื่อนด้วยความรักในบ้านเกิดของตนเอง หลายคนมองว่าพื้นที่สร้างสรรค์เกิดขึ้นยาก แต่เมื่อได้เห็นเครือข่ายพื้นที่สร้างสรรค์ที่มีเด็กและเยาวชนเป็นคนขับเคลื่อนในหลายจังหวัด พบว่าพื้นที่เหล่านั้นเกิดขึ้นได้จริง
"เราเห็นเด็กและเยาวชนในพื้นที่คิดและทำเรื่องเกษตร ศิลปะ วัฒนธรรม เกม และการละเล่นสอดคล้องกับที่ สสส. ตั้งใจให้เกิดระบบนิเวศสื่อผ่านยุทธศาสตร์ 3 ดี คือ สื่อดี ภูมิดี และพื้นที่ดี ทำให้เด็กสร้างสรรค์สื่อด้วยตัวเอง ตระหนักรู้และออกแบบชีวิตด้วยตัวเอง กระบวนการเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญสร้างภูมิ คุ้มกันและทักษะชีวิตของเด็กและเยาวชนให้เท่าทันสื่อ มีความรอบรู้ทางสุขภาพ และความตื่นรู้ทางปัญญา เราคาดหวังให้พื้นที่สร้างสรรค์เกิดขึ้นทั่วประเทศด้วยความรักบ้านเกิด โดยมีพื้นที่ของตนเป็นตัวตั้ง ประเทศจะได้พลเมืองพันธุ์ใหม่ที่ร่วมกันสร้างพื้นที่สุขภาวะให้ยั่งยืน" ดร.จิรพรเผย
ด้าน ดร.รดี ธนารักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ หนึ่งในแม่งานคนสำคัญบอกที่มาของเทศกาลอุตรดิตถ์ติดยิ้มให้ฟังว่า จัดงานขึ้นเป็นปีที่ 9 ภายใต้คอนเซ็ปต์ 'ลุกขึ้นมา Live in Uttaradit' ในปีแรกๆ จัดที่สวนสาธารณะ โดยกลุ่มกิ่งก้านใบเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่อยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิดด้วยการ ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชน ปีต่อมาได้เครือข่ายทั้งทางภาครัฐเอกชนมากขึ้น ย้ายมาจัดพื้นที่ชุมชนเก่าติดริมแม่น้ำน่าน ทำให้คำว่า 'พื้นที่สร้างสรรค์' ไม่ได้จำกัดอยู่ในวงของเด็กและเยาวชน แต่กลุ่มผู้ใหญ่จนถึงผู้สูงอายุมีส่วนร่วม รวมถึงสร้างการรับรู้เทศกาลอุตรดิตถ์ติดยิ้มในวงกว้าง กลุ่มเยาวชนพูดคุยกันจะยกระดับให้มีพื้นที่กลางของการเรียนรู้ ไม่อยากให้กิจกรรมจบแค่เทศกาล ค้นหาพื้นที่ที่เป็นสถานีปล่อยของ เป็นศูนย์รวมการทำกิจกรรมของทุกคนและตั้งชื่อว่า 'สถานีอุตรดิตถ์ติดยิ้ม (Hub2U)
"ถ้าถามถึงความสำเร็จของอุตรดิตถ์ติดยิ้มตลอดระยะเวลา 9 ปี ในมุมมองของตนเห็นว่า เป็นการสร้างภาคีเครือข่ายที่ไร้รูปแบบ ไม่ว่าจะจังหวัด เทศบาล หอการค้า มหาวิทยาลัย โรงเรียน หรือองค์กรภาคเอกชน และประชาสังคม ทุกองค์กรที่ขับเคลื่อนกับกลุ่มอุตรดิตถ์ติดยิ้มทำงานแบบแนวราบ คือ ทุกคนเท่ากันหมด โดยมีจุดร่วม คือ ช่วยกันสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน รวมถึงทุกคนในจังหวัด แต่ละองค์กรช่วยทำเรื่องก็ถนัด ถ้าทั่วประเทศเกิดพื้นที่สร้างสรรค์จะเปลี่ยนโฉมของการพัฒนาชาติ แค่ลงมือทำเรื่องดีๆ ให้กับบ้านเกิดของเราเอง และแปะมือกับคนที่เห็นด้วยกับเรา ทุกคนจะมีสำนึกความเป็นพลเมืองเกิดขึ้น นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศที่ดี" ดร.รดี เล่า
นอกจากยุทธศาสตร์ 3 ดี ยังมี 'เพื่อนดี' เป็นอีกหัวใจสำคัญของกลุ่มอุตรดิตถ์ติดยิ้ม ทองแสง ไชยแก้ว ผู้ประสานงานอุตรดิตถ์ติดยิ้ม เผยถึงการเติบโตของโครงการ 9 ปีที่ผ่านมาว่า เป็นกิจกรรมที่ไม่จำกัดแค่กลุ่มเด็กและเยาวชน แต่ครอบคลุมคนอุตรดิตถ์ทุกกลุ่มวัย พื้นที่สร้างสรรค์ได้ถูกสร้างความเข้าใจและการรับรู้ของคนในพื้นที่อย่างจับต้องได้จริง เกิดภาคีเครือข่ายของหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมที่ร่วมภารกิจสนับสนุนพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน
"เราทำงานจากการที่ไม่มีรูปแบบ ทำงานกันด้วยใจ เครือข่ายรอบๆ จังหวัดอุตรดิตถ์เกิดจากการมองเห็นตัวตนของเครือข่าย และเราเปิดพื้นที่ให้เขาทำงานและพัฒนากิจกรรม รวมถึงการเติบโตในบริบทของเครือข่ายเอง โดยมีหัวใจของการสื่อสารในทางเดียวกัน คือ ปลุกคนทั้งเมืองให้เรียนรู้และใช้ชีวิตร่วมกัน" นายทองแสงเล่า
ขณะที่เสียงจากเยาวชนอาสาอย่าง วิไลภรณ์ บุญพัฒน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ บอกว่า ดีใจที่จังหวัดเรามีพื้นที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับทุกคน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยในพื้นที่ ได้เห็นเด็กๆ และผู้ปกครองมีความสุขและสนุกสนานเข้าร่วมกิจกรรมและพบปะกัน อยากจะให้เทศกาลอุตรดิตถ์ติดยิ้มเกิดขึ้นทุก 3 เดือน
อุตรดิตถ์ติดยิ้มครั้งนี้ได้ปลุกพลังของคนในพื้นที่ให้ตื่นตัวกับการสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ ให้เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือหลายฝ่าย จนได้รับการผลักดันเป็นนโยบายของจังหวัด ด้วยความภูมิใจและรักบ้านเกิด พร้อมจะเป็นต้นแบบการเรียนรู้พื้นที่สร้างสรรค์ให้กับจังหวัดอื่นๆ ต่อไป.