อึ้ง! เด็ก 9 ขวบ ติดเหล้าป่วยทางจิต

1 เดือนเจอกว่า 20 ราย

 

อึ้ง! เด็ก 9 ขวบ ติดเหล้าป่วยทางจิต

 

 

          พญ.บุญศิริ จันทรศิริมงคล นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานยาเสพติดและสุรา สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยากรมสุขภาพจิต  กล่าวในงานเสวนา “เลิกเหล้าง่ายกว่าที่คิด พลิกชีวิตให้ดีกว่า” ว่า  สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือผู้ป่วยที่มีอาการติดสุรามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากประชากรที่ดื่มในปี 2551 พบว่า 10.9% ในจำนวนนี้มีมากถึง 4% ที่ดื่มจนติด อีกทั้งยังมีผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ามาพบแพทย์ด้วยอาการขาดเหล้า และกลับมาดื่มซ้ำซ้อน ที่สำคัญผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากการดื่มสุรามีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ล่าสุด พบผู้ที่เริ่มดื่มเหล้าจนติดและกลายเป็นผู้ป่วยทางจิต มีอายุเพียง 9 ปี และอายุผู้ติดเหล้าเฉลี่ยแล้วลดลง จากที่มีอายุ 30-45 ปีขึ้นไป ลดเหลือเพียง 20-30 ปี เท่านั้น หากดูข้อมูลจากการรับผู้ป่วยฉุกเฉินในห้องฉุกเฉินจะพบว่า ภายใน 1 เดือน มีผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาด้วยอาการติดเหล้าและป่วยทางจิตกว่า 20 ราย นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วย 15% มีโอกาสทำร้ายตัวเองถึงขั้นเสียชีวิต

 

          พญ.บุญศิริ กล่าวว่า จากการสอบถามประวัติกรณีเด็กอายุ 9 ปี ที่ติดเหล้าและมีอาการทางจิต พบว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อม เพราะทั้งพ่อและแม่ดื่มเหล้า ทำให้เด็กมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาและดื่มตามจนติด เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว มีอาการซึมเศร้า ฟุ้งซ่าน สมองไม่ได้รับการพัฒนาจนต้องออกจากโรงเรียน ทั้งนี้ เด็กที่ไม่ได้เรียนจะมีแนวโน้มการติดเหล้าได้ง่ายกว่าเด็กที่เรียนหนังสือ อย่างไรก็ตาม แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาคงต้องใช้เวลา เพราะยังมีอีกจำนวนมากที่ดื่มเหล้าจนติด แม้คนรอบข้างหรือแพทย์พยายามบอกให้เลิกก็ไม่ยอม ส่งผลทำให้ป่วยจากพิษสุราเรื้อรัง เป็นโรคต่างๆ ตามมา อาทิ โรคระบบจิต ประสาท โรคหัวใจ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ตับแข็ง ตับอักเสบ กระเพาะอักเสบ มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

 

          พญ.บุญศิริ กล่าวว่า สำหรับวิธีทดสอบว่าตนเองเป็นคนติดเหล้าขั้นรุนแรงหรือไม่ เบื้องต้นถามตนเองว่า 1.เคยดื่มถึงขั้นอยากจะหยุดหรือไม่ 2.เคยดื่มจนคนรอบข้างบอกให้หยุดหรือไม่ และ 3.ตื่นเช้ามาแล้วอยากดื่มจนหยุดไม่ได้ หากมีอาการแบบนี้แสดงว่าเข้าข่าย ซึ่งคงต้องรีบมาพบแพทย์ ทั้งนี้ผู้ที่ชอบดื่มเหล้า สามารถปฏิบัติตัวได้เองคือ พยายามตั้งสติ นึกถึงปัญหา และผลกระทบจากการดื่มเหล้าให้มากที่สุด และปฏิญาณตนว่าจะเลิกดื่มไม่ใช่ลดการดื่ม ทั้งนี้ คงต้องอาศัยครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วม เพราะบางรายอาจรักษาให้หายขาดได้โดยไม่ต้องกินยา ซึ่งผู้ที่ต้องการรับคำปรึกษาเลิกเหล้า สามารถปรึกษาได้ที่ ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา สายด่วน 1413

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

 

 

update : 11-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

Shares:
QR Code :
QR Code