อีสานสถิติพุ่ง เด็กเล็กเสี่ยงปอดบวม

สังเกตลูกน้อยหายใจหอบ-เสียงดัง นำส่งแพทย์ทันที

 

 อีสานสถิติพุ่ง เด็กเล็กเสี่ยงปอดบวม

          ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ ประธานชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าหนาว มีหลายโรคที่แพร่กระจายได้ดี โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ

 

          ซึ่งปอดบวมเป็นอีกโรคที่ระบาดหนัก และเป็น 1 ใน 6 โรคที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเตือนให้ประชาชนระวังในช่วงฤดูหนาวนี้ ซึ่งจากสถิติในปี 2551 พบว่าโรคปอดบวมเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชาชนถึง 280 ราย และมีผู้ป่วยโรคปอดบวมสูงถึง 43,109 ราย

 

          โดยโรคที่เกิดในฤดูหนาวจะเกิดกับเด็กเล็ก และผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเชื้อส่วนมากชอบอากาศเย็น และสามารถติดต่อกันได้ง่ายๆด้วยการไอ และจามตลอดจนใช้ภาชนะร่วมกัน

 

          โดยตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ภาคอีสานเป็นภาคที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดคือประมาณ 14,682 ราย รองลงมาคือภาคกลาง 11,961 ราย ภาคเหนือ 9,712 ราย และภาคใต้ 6,797 ราย โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในชุมชน โดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ๆจำเป็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

 

          ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัยกล่าวต่อว่า โรคปอดบวมเป็นโรคใกล้ตัวที่ทุกคนคุ้นหู โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว แต่หลายๆ คนอาจยังไม่ทราบว่าโรคปอดบวมอาจมีความรุนแรงมาก จนทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะหากเกิดกับเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะร่างกายยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่มากพอ

 

          สาเหตุของการเสียชีวิตอาจเกิดจากเชื้อไวรัส หรือเกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง(โรคไอพีดี) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ นิวโมคอคคัส หรือสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี ที่สามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ

 

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปอด ก่อให้เกิดปอดบวมรุนแรง หรือปอดอักเสบได้ เนื่องจากโรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส เป็นโรคที่มีระยะเวลาการดำเนินการของโรคสั้นมากเพียง 2-3 วันรวมทั้งอาการเริ่มแรกของโรคคล้ายการเป็นไข้หวัด ไอ หายใจเร็ว หอบเขียว

 

          พ่อแม่ส่วนใหญ่จึงมักคิดว่าเป็นไข้ธรรมดาซึ่งถ้าไม่พาไปพบแพทย์และรับการรักษาได้ทันเวลา อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้

 

          ทั้งนี้พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรเฝ้าสังเกตอาการของลูกน้อยว่ามีความเสี่ยงต่อโรคหรือไม่โดยสามารถสังเกตได้จากการหายใจ ซึ่งหากพบว่าลูกน้อยหายใจลำบาก จนซี่โครงหรือคอบุ๋ม หายใจแล้วมีเสียงดัง หายใจหอบ ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

update 25-12-51

Shares:
QR Code :
QR Code