‘อิ๋นก๋อน ฟ้อนแคน’ จัดงานปลอดเหล้า
'คนไทยทรงดำ' หรือ ลาวโซ่ง,ไทยโซ่ง ในช่วงกลางๆปี จะต้องมีงานพบปะสังสรรค์กันในหมู่คนไทยทรงดำด้วยกัน ซึ่งเป็นประเพณีที่มีการสืบต่อกันมานานหลายศตวรรษ สมัยก่อนทุกครั้งที่มีการจัดงานสิ่งที่ขาดไม่ได้ของคนลาวโซ่ง คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรียกว่ามีการตั้งโหลเหล้ากันตั้งแต่ปากทางเข้างานเลยทีเดียว
นายณรงค์ ปี่บัว ผู้ใหญ่บ้านดอนคลัง อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า การจัดงาน "อิ๋นก๋อน ฟ้อนแคน" ที่เราจัดขึ้นที่โรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการ ชุมชนบ้านดอนคลังครั้งนี้ เพื่อพบปะสังสรรค์ของคนลาวโซ่งหลังฤดูทำนา ตลอดทั้งเดือนเมษายนจะมีการจัดเวียนกันไปทั้งเดือนแต่มีสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธีกรรมต่างๆของคนลาวโซ่งคือ เหล้า ซึ่งในความเชื่อเดิมก่อนที่จะมีศาสนาคนลาวโซ่งจะนับถือผี ซึ่งเครื่องเซ่นไหว้ จะมีเหล้าเป็นส่วนประกอบด้วยทุกครั้ง
ผู้ใหญ่ณรงค์ เล่าว่า สาเหตุที่บ้านดอนคลังเลือกที่จะจัดงานประเพณ็อิ๋นก๋อน ฟ้อนแคนิ ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจาก เมื่อก่อนในงานจะมีเหล้าใส่โหลตั้งให้เห็น ตั้งแต่หน้างาน เมื่อมีคนต่างถิ่นมาร่วมงาน เมื่อเมามักจะเกิดเหตุทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุเป็นประจำ ตลอดเวลา5 ปีที่ผ่านมาทางหมู่บ้านดอนคลังจึงขอความร่วมมือจากผู้ที่มาร่วมงานและร้านค้าไม่ให้จำหน่ายสุราในงาน โดยทางเจ้าหน้าที่จะจัดน้ำดื่มทางเลือก คือเครื่องดื่มสมุนไพรไว้ให้ผู้ที่มาร่วมงานแทน
"ณ วันนี้ เรายังไม่ได้หวังไปไกลถึงกับให้คนในหมู่บ้านเลิกดื่มได้ทันที แต่เราขอความร่วมมือในการลด ละ เลิก แบบค่อยเป็นค่อยไป"ผู้ใหญ่ณรงค์ กล่าว
สำหรับประเพณีไทยทรงดำอิ๋นก๋อน ฟ้อนแคนิขณะนี้มีทั้งหมด 40 พื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรีราชบุรี สมุทรสาคร นครปฐม สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พิจิต พิษณุโลกสุโขทัย กำแพงเพชร และในจำนวนนี้ได้ขยายผลแนวคิดจัดงานปลอดเหล้ามาตั้งแต่ปี 2552 มีหมู่บ้านนำร่อง อาทิ หมู่บ้านหนองสองห้อง บ้านตาล7ยอด ดอนคลัง จากนั้นได้รับการตอบรับจากหมู่บ้านต่างๆ ทำให้ตอนนี้ขยายเพิ่มเป็น 19 พื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ประจวบฯ เพชรบุรี ราชบุรีนครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสาคร และมีแนวโน้มขยายผลต่อไปเรื่อยๆ
ด้านนายไสว เพชรรุณ ประธานมูลนิธิไทยทรงดำประเทศไทย กล่าวว่า จากเดิมงานเลี้ยงพบปะสังสรรค์ดังกล่าว มีชื่อเรียกง่ายๆว่า "จิบเหล้าเข้างาน" ทุกคนจะถือเหล้ามารวมกัน จากนั้นจะเทใส่โหลตั้งไว้หน้างาน เพื่อให้คนร่วมงานได้ดื่มกัน เมื่อมีการดื่มก็ต้องมีการชกต่อยตีกันจึงได้ประชุมหารือกับคณะกรรมการจัดงานว่า เราควรจะจัดงานอิ๋นก๋อน ฟ้อนแคน ปลอดเหล้าเสียที ซึ่งในตอนแรกมีคนคัดค้านอย่างมาก ทุกคนบอกว่าถ้าไม่มีเหล้าก็ไม่ใช่การจัดงานของคนลาวโซ่ง
ดังนั้น ตนจึงได้ขอโอกาสว่าลองจัดงานปลอดเหล้าสักครั้งเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี จึงได้ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเริ่มจัดงานปลอดเหล้า และมีบริการน้ำดื่มทางเลือก น้ำสมุนไพรตั้งไว้บริการฟรีตลอดทั้งงาน
ในช่วงแรกๆมีบ้างที่พ่อค้าแอบขาย ซึ่งต้องเข้าไปขอความร่วมมือหลังจากนั้นอีก 2 ปี เมื่อชาวบ้านและพ่อค้า เห็นว่างานที่ปลอดเหล้ามีความ ปลอดภัย มีคนมารวมงานมากขึ้น ไม่มีการตีกัน ช่วยลดอุบัติเหตุ และที่สำคัญช่วยลดต้นทุนการจัดงานไปได้ถึง 30-40%ของค่าใช้จ่ายในการจัดงานจนตอนนี้งานประเพณี "อิ๋นก๋อน ฟ้อนแคน" จึงปลอดเหล้าได้อย่างแท้จริง
"แต่ทั้งนี้ ในพิธีกรรมต่างๆของคนลาวโซ่ง เช่น เสนเรือน ปาดตงเสนโต๋ ยังคงมีเหล้าเป็นส่วนประกอบก็ยังคงมีอยู่ เพราะนั่นคือความเชื่อแต่ทางเราจะไม่ส่งเสริมให้ดื่มกัน คืออนุญาต ให้ใช้เพียงในพิธีกรรมเท่านั้น" นายไสว ระบุ การจัดงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยทรงดำของบ้านดอนคลัง เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของชุมชน ที่วิถีชีวิตมีความเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นเวลานาน แต่พวกเขาเลือกที่จะสืบสานความเชื่อความศรัทธาให้คงอยู่ โดยไม่ลืมสร้างวัฒนธรรมการจัดงานปลอดเหล้าให้เป็นตัวอย่างที่ดีกับสังคม
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทย