อินเทอร์เน็ต อาชญากรยุคใหม่ทำลายเยาวชน?
เสนอขึ้นราคาเล่นเกมสกัดเด็กชม.ละ 50 บาท
ผู้จัดงานเกมไซเบอร์เสนอภาครัฐกำหนดราคาเล่นเกมออนไลน์ขั้นต่ำชั่วโมงละ 50 บาท เพื่อจำกัดเวลาไม่ให้เล่นนานเกินไป เผยผู้ประกอบการร้านเกมเปิดสงครามราคา แค่ 5 บาทก็เล่นเกมได้ หวังดึงลูกค้าให้เข้าร้านมากที่สุด
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตปริญญาโท สาขาวิชานิเทศศาสตรพัฒนาการ จัดเสวนาเรื่อง “อินเทอร์เน็ต อาชญากรยุคใหม่ทำลายเยาวชน?” โดยนายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด ผู้จัดงานแข่งขันเกมไซเบอร์ระดับประเทศ กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตไม่ใช่ตัวทำลายเยาวชนไทย เพราะเป็นเพียงเครื่องมือที่นำพาไปสู่ความรุนแรง สังคมจึงต้องช่วยกันเฝ้าระวังให้เยาวชนรู้จักเกมที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดเรตติ้งเกมให้เหมาะสมกับช่วงอายุของเด็กและเยาวชน ถือเป็นทางออกที่หลายประเทศทั่วโลกใช้แก้ปัญหาเด็กติดเกม เช่น สหรัฐอเมริกาได้จัดอันดับ 10 เกมอันตรายเพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองเฝ้าระวัง
นายพงศ์สุขกล่าวว่า สังคมต้องช่วยกันดูแล สร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในโลกสมัยใหม่ ดังนั้นการที่ตนมีแนวคิดจัดงานแข่งขันไซเบอร์เกมมีวัตถุประสงค์ให้เด็กได้รู้จักเกมที่ดีมีคุณภาพ ส่งเสริมการใช้ทักษะต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เกมลามกอนาจารหรือกระตุ้นให้ไปก่ออาชญากรรม อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเด็กติดเกมออนไลน์ในร้านอินเทอร์เน็ต สามารถทำได้โดยกำหนดราคาขั้นต่ำในการใช้บริการเล่นเกมชั่วโมงละ 50 บาท เพื่อจำกัดเวลาการเล่นเกมให้ลดน้อยลง
“ทุกวันนี้ผู้ประกอบการร้านเกมออนไลน์มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง เมื่อมีร้านเกมมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้เกิดสงครามราคาในชุมชนเดียวกัน เมื่อก่อนเคยมีราคามาตรฐานชั่วโมงละ 30 บาท แข่งกันลดราคาเหลือ 20 บาท เหลือ 10 บาท จนกระทั่งเหลือชั่วโมงละ 5 บาท เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ผมจึงคิดว่ากระทรวงวัฒนธรรมควรกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ที่ 50 บาท เหมือนกับราคารถแท็กซี่ แต่ถ้าเป็นการใช้งานด้านข้อมูลข่าวสารหรือเพื่อความบันเทิงอื่นๆ ก็อาจจะเป็นชั่วโมงละ 20 บาท”
ผู้จัดงานเกมไซเบอร์กล่าวด้วยว่า การกำหนดราคามาตรฐานสำหรับการเล่นเกมจะทำให้เกิดการแข่งขันเชิงคุณภาพ ไม่ปล่อยให้เป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่น หลายคนคิดว่าการทำธุรกิจร้านเกมเป็นเรื่องง่าย แต่จริงๆ แล้วต้องเจอกับการแข่งขันที่รุนแรงและไม่สามารถตักตวงผลกำไรได้มากเหมือนอดีต เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องเสื่อมสภาพเร็วหากมีการใช้งานหนักๆ นอกจากนี้การประกาศของกระทรวงวัฒนธรรมว่า 90 วันเด็กไทยจะพ้นภัยเกมก็ไม่สอดรับกับความเป็นจริงและไม่สามารถแก้ปัญหาเด็กติดเกมได้
ด้านนายอิทธิพล ปรีติประสงค์ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติการพัฒนาเด็กและเยาวชน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตไม่ใช่อาชญากร แต่ภัยคุกคามคือ พฤติกรรมของมนุษย์ที่ใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ผิด เราต้องเรียนรู้การสร้างวัฒนธรรมในชุมชน การสร้างสื่อเชิงสร้างสรรค์ให้เยาวชนได้มีทางเลือก อีกทั้งยังไม่เห็นมาตรการเชิงบวกจากหน่วยงานภาครัฐ
“ผมได้เสนอกระทรวงวัฒนธรรมเรื่องแนวทางการจัดเรตติ้งเกมคือ การประเมินคุณภาพเนื้อหาเกม การจำแนกช่วงอายุผู้เล่นเกม และการสร้างระบบการดูแลภายในชุมชน โดย รมว.วัฒนธรรมได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษา คาดว่าจะมีการประชุมจัดเรตติ้งภายในเร็วๆ นี้” นายอิทธิพลกล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update : 27-08-51