‘อินทรีย์…อินสคูล’ จากบ้านสู่โรงเรียน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟนเพจ Hug Wiang Shop : Organic Community ฮักเวียงช็อป
หากคิดจะหาซื้อผักปลอดสารพิษหรือข้าวอินทรีย์ในเชียงใหม่ อาจไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะไม่เพียงมีตลาดหลายแห่งที่มุ่งมั่นจำหน่ายผลผลิตที่พึ่งพาสารเคมีอย่างจริงจัง แต่คนกลุ่มหนึ่งยังพยายามที่จะทำให้เกษตรอินทรีย์เข้าไปสู่วิถีการบริโภคของเยาวชนคนรุ่นใหม่ด้วย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เครือข่ายเชียงใหม่เขียว สวย หอม สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน (ISAC) และฮักเวียงช็อป ในนามชุมชนอินทรีย์เชียงใหม่ ร่วมกับข่วงอินทรีย์ แม่เหียะ จัดงานเสวนา "อินทรีย์ อินสคูล" ขึ้นเพื่อร่วมกันหาแนวทางและข้อเสนอแนะร่วมกัน
"อินทรีย์กับเด็ก ๆ คิดว่าสอดคล้องกันอยู่แล้ว เพราะเป็นวิถีชีวิต แต่ละคนก็มีลูกมีหลานอยู่แล้ว เราก็สามารถให้เด็ก ๆ ของเรามาช่วยเราในแปลงได้ และก็ขยายต่อไปในโรงเรียน แต่การทำเป็นหลักสูตรยากมากขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหารด้วย จึงเริ่มต้นด้วยการพยายามให้โรงเรียนใช้ผักอินทรีย์ในการปรุงอาหารกลางวันให้เด็ก ทำมา 2 ครั้งแล้วก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ อันนี้จะทำรอบที่ 3 เพราะว่าเรามีองค์กรภายนอกก็คือ Greenpeace จะเข้ามาช่วยโดยจูงใจด้วยเชฟที่จะมาทำอาหารให้ เราก็พยายามดันเต็มที่ นายก อบต.ก็ช่วยผลักดันให้อาหารที่โรงเรียนเป็นออร์แกนิก" ศรีแพร ดวงแก้วเรือน ประธานเครือข่ายแม่กาดเกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ เล่าประสบการณ์
ครูวันวิสา นวพงษ์ไพบูลย์ รร.บ้านปง เสริมว่า วัฒนธรรมการกินแบบอินทรีย์มีมาตั้งแต่โบราณแล้ว ผักข้างรั้ว ผักริมรั้ว ซึ่งเมื่อก่อนตอนเด็ก ๆ จะเห็นแม่เอาหม้อใส่น้ำตั้งเตาไฟไว้ก่อน เสร็จแล้วก็เดินเลาะข้างรั้ว พอแม่กลับมาน้ำก็เดือดพอดี แม่ก็จะเอาผักใส่ลงไปก็คือนึ่ง จะกินแบบนี้เป็นประจำ แล้วพ่อมักจะบอกกับแม่ว่า แม่กินผักอย่างเดียวอย่างควายเราก็ซึมซับอย่างนี้มา ก็จะปลูกผักกินเอง พอมาเป็นครูก็คิดว่าจริง ๆ แล้วเป็นธุรกิจได้นะ เห็นเวลาแม่ปลูกเป็นแปลง พอถึงเวลาปลูกก็จะมีคนมาขอซื้อ ถ้ามีผักก็จะมีคนมาขอซื้อถึงที่เลย ก็คิดว่าทำไมเราไม่ปลูกใส่ในกระถางแล้วก็เอาใส่รถไปที่ตลาด ถ้าเกิดคนไหนที่เขาสนใจซื้อก็ให้เขาชี้เอาว่าเขาอยากจะซื้อต้นไหน สามารถเลือกได้จากตรงนั้นเราก็ติดมาจนถึงทุกวันนี้
แต่การสานต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมให้กับเด็กด้วยการปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็กนั้นก็ยังไม่เพียงพอ แรงจูงใจจึงเป็นอีกสิ่งที่เข้ามาช่วยผลักดัน
"ถ้าเราจะทำงานกับเด็กต้องดูว่าเด็กอายุเท่าไหร่ ถ้าเอาเด็ก ป.6, ม.1, ม.2 ไปลงปลูกผักนี่ไม่ทำแล้ว อย่างปุ๋ยหมักอยากจะทำเป็นดินปลูก จะใส่ถุงสวย ๆ ขาย 20 บาท แต่ว่าเอาไปผสมดินปลูกได้อีก 7 เท่า ได้อีก 7 ถุง เอาใส่ในถุงสัก ผ ถุงกาแฟสวย ๆ ถุงละ 10 บาท ใส่เป็นดินปลูกแล้วให้เขาเอาไปให้เด็กปลูกใส่เมล็ดพันธุ์ คือเขาเห็น ว่าเมล็ดพันธุ์ 1 เมล็ด 3 วัน 5 วันผ่านไป มันไม่ใช่เมล็ดพันธุ์แล้ว มันเป็นถั่วงอกคือมันเห็นการเปลี่ยนแปลงแล้วมันตื่นเต้นอันนี้คือการเปลี่ยน เด็กประถมก็ทำได้ อนุบาลก็ยังทำได้ เด็กประถมไปชวนลงนามันม่วนขนาด เจอฝายน้อยเจอปูน้อย ๆ ยิ่งเยอะยิ่งมัน อันนี้เด็กประถมได้แต่ถ้าเด็กมัธยมเริ่มมีค่าใช้จ่ายเพราะชวนทำอาหารเลย ทำขาย พวกนี้ถ้าเกิดว่าได้เงินไปทำโน่นทำนี่ สิ่งที่เราทำถ้าทำให้เหมาะสมให้ตรงกับความต้องการ เราไม่ได้บอกว่าเอาเงินมาเป็นตัวตั้ง เมื่อไหร่ที่เราทำให้ครบวงจร เมื่อไหร่เราเอาเรื่องของเศรษฐกิจมาคุณค่าก็จะเกิด" อัมพร บุญตัน มูลนิธิศักยภาพเยาวชน ระบุ
อัมพร อธิบายต่อว่า ป้อนในที่นี้คือ การให้การเรียนรู้ ไม่ใช่ว่าจะทำเพื่อที่จะผูกขาดทางการค้าหรือการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ใช้เรื่องนี้ไปกระตุ้นให้เขาเริ่มเห็น คือตอนนี้คนซื้อผักที่นี่ มีพี่คนหนึ่งขายผักที่นี่และข้าง ๆ ก็ขายต้นไม้ เพื่อน ๆ ก็บอกว่าขายต้นไม้ ขายโหระพา คนก็ไม่มาซื้อผักเรา เขาบอกว่าก็ดีแล้วไง อย่างน้อย ๆ ก็มีคนทำอินทรีย์เพิ่มขึ้น คือแกคิดอย่างนี้ ตอนแรกแกขายผักเชียงดาก่อน ตอนหลังแกขายต้นผักเชียงดา สุดท้ายวันหนึ่งที่ผักเชียงดาแกโต เราแก่เกินกว่าจะไปเก็บของเขาแล้ว มันเป็นการเรียนรู้โดยใช้เครื่องมือหนึ่งแค่นั้นเอง
เมื่อเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียนยังไม่ลงตัว จึงเป็นที่มาของความคิดในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยทำมาหากิน ประธานเครือข่ายแม่กาดเกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ เล่าว่า มหาวิทยาลัยทำมาหากินของเรามี 2 หลัง เราหุ้นกับอาจารย์ที่ทำวิจัยจากแม่โจ้ เขามาแม่ทาเพื่อทำเรื่องท่องเที่ยว กำลัง
อยู่ในขั้นตอนของการทำหลักสูตรเพราะหลักสูตรของเราไม่ใช่แค่ว่านั่งบรรยาย มันจะต้องเป็นอะไรที่สนุกและก็มีความสุข อาจารย์ก็ค่อนข้างมืออาชีพมาก เขาก็จะดึงศักยภาพของเราออกมาแล้วก็ทำให้เรารู้สึกว่าเริ่มเห็นความหวังของมหาวิทยาลัยทำมาหากินว่าจะไปต่ออย่างไร
"พอพูดว่าทำมหาวิทยาลัยมันต้องมีหลักสูตร พอพูดเรื่องหลักสูตรมันต้องเป็นวิชาการแล้ว เราเป็นชาวบ้าน ก็เลยคิดว่าถ้าเราเรียนรู้ให้สนุก เชื่อมโยงไปที่เด็ก ๆ และสามารถให้เด็ก ๆ เข้ามา ร่วมเป็นเหมือนมัคคุเทศก์ท้องถิ่นเพื่อที่จะเป็นคนคุยบรรยายแทนพ่อแม่ และก็ได้เรียนรู้ไปในแปลงด้วย ที่สำคัญเราจะมีงานวิจัยรองรับเพราะว่าเรากลัวการท่องเที่ยว จริง ๆ เราไม่ได้อยากทำ เราไม่ได้ชอบเลย แต่เราถูกบังคับให้ทำ เหมือนนโยบายต่าง ๆ ทำเรื่องท่องเที่ยว ๆ เราก็เลยคิดว่า ตอนนี้ที่เราทำอย่างหนึ่งก็คือร่างระเบียบการท่องเที่ยว ถ้าไม่ทำระเบียบมันจะมีขยะตามมา มันจะมีร้านเหล้าตามมา มันจะมีเรื่องปวดหัวตามมา ชุมชนอาจจะเปลี่ยน เปลี่ยนแบบพลิกเลย เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เอาชุมชนเปลี่ยนเราต้องมีกฎระเบียบข้อบังคับ ถ้าจะทำมันต้องอยู่ในภายใต้สถาบันและเราสามารถควบคุมดูแล ทำให้บ้านพักก็ดี อาหารก็ดี มันต้องไม่มาตีกันเหมือนท่องเที่ยวหลาย ๆ ที่ที่เขาเป็นกัน ก็ไม่อยากจะพาดพิงมีหลายที่ที่ใช้คำท่องเที่ยวชุมชนแต่ตอนนี้เละจนไม่เป็นท่องเที่ยวแล้ว เราก็ไปศึกษาเรียนรู้ และคิดว่าเด็ก ๆ น่าจะสนุกกับการทำแบบนี้"
ครูวันวิสาเสริมว่า สำหรับบ้านปง พอดีว่ามีโอกาสที่จะเจอเครือข่ายเชียงใหม่ เขียว สวย หอม ได้เข้าไปช่วยดูแลในเรื่องกิจกรรม ตอนนี้มีกิจกรรมท่องเที่ยววิถีชีวิต มีแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ที่อยู่ในรอบโรงเรียน ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้าไม่ได้ทีมงานของน้อง ๆ เขียว สวย หอม แล้ว โรงเรียนก็ยังไม่รู้เลยว่าจุดยืนของตัวเองอยู่ตรงไหน มีแหล่งเรียนรู้ทั้งเรื่องสมุนไพร มีเรื่องบ้านโบราณ มีวัด มีโลหะปราสาทสิ่ง ต่าง ๆ เหล่านี้อยากให้เด็กได้ปลูกฝังไว้ว่ารากเหง้าเขาเป็นอย่างไร รวมถึงการทำอินทรีย์ด้วย และบ้านปงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารมีต้นไม้ด้วยและมีหมอต้นไม้ที่เขียว สวย หอม เขาไปสอนเด็ก ๆ ให้เขาได้เรียนรู้
"ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถทำเป็นธุรกิจได้ เด็กไม่ต้องออกจากบ้านเลย เอาสิ่งที่เป็นจุดเด่นของโรงเรียนของชุมชนทำให้มันมีชื่อเสียงขึ้นมา เพราะทุกวันนี้ผู้ปกครองเขาจะบอกว่าตั้งใจเรียนนะจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ลืมปากท้องตัวเอง เข้าเมืองอย่างเดียว 7-11 อย่างเดียว แต่ตอนนี้ถ้าเราอาศัย 7-11 นะ ตายแน่เลย เขาต้องกลับมาดูตัวเองให้มาก ๆ ทำสิ่งที่บ้านเรามีอย่ามองข้าม active learning จะเกิดขึ้นก็ต้องเกิดขึ้นที่โรงเรียน"