อาหารไทยเสริม“อุ่น”ช่วยคลายหนาว
เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงอากาศหนาว ร่างกายก็ถวิลหาความอบอุ่น หากเพียงหนึ่งในปัจจัยสี่ คือเสื้อผ้า ที่ช่วยสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลสุขภาพ ที่อาจป่วยเป็นโรคที่มากับฤดูหนาว 6 โรค ได้แก่ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด หัดเยอรมัน อีสุกอีใส และโรคอุจจาระร่วง และอาหารก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะช่วยสร้างความอบอุ่นให้ยามหนาวได้ โดยเฉพาะอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ที่ให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกาย
ซึ่งเรื่องนี้มีความคิดเห็นจากนักโภชนาการจาก รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลว่า ความจริงแล้วในช่วงหน้าหนาวในประเทศไทยจะมีอากาศที่ไม่หนาวเย็นมากเหมือนในต่างประเทศ ที่ตามหลักการการให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายด้วยการเลือกกินอาหาร คือ การกินอาหารที่ให้พลังงานสูง พวกคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง ข้าว อาหารที่มีไขมัน เป็นต้น แต่ด้วยอากาศในประเทศไทยที่ไม่ได้อากาศหนาวเย็นมากเท่ากับในต่างประเทศ หากกินอาหารที่ให้พลังงานสูง และไม่ออกกำลังกาย จะส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นการกินอาหารในช่วงอากาศหนาวนี้คงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงมากนัก เพียงแต่ต้องกินอาหารที่ร้อน ปรุงสุกใหม่ๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้มในตอนเช้า ก็จะช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น นอกจากนี้อาหารส่วนใหญ่ที่คนโบราณและแพทย์แผนไทยแนะนำให้กินเพื่อสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย คือเครื่องดื่มสมุนไพรต่างๆ เช่น น้ำขิง เพราะนอกจากจะช่วยเรื่องความอบอุ่นแล้วยังทำให้ชุ่มคอ ลดอาการหวัดได้ หากเป็นผักสมุนไพร โดยเฉพาะพวกขี้เหล็ก ดอกแค สะเดา ซึ่งเป็นพืชผักที่ขึ้นในฤดูหนาว สามารถนำมาประกอบอาหารเป็นแกงส้ม แกงสะเดา ก็จะช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายได้
อาจารย์ประไพศรี ยังบอกด้วยว่า สำหรับความเชื่อเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คลายหนาวนั้น ถือเป็นความเชื่อที่มีมายาวนาน แต่จริงๆ แล้วไม่เกี่ยวข้องกันเพราะการดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เสียสุขภาพ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีตัวสะสมสารพิษ มีฤทธิ์ทำลายตับ ยิ่งดื่มมากก็ยิ่งมีผลต่อร่างกาย
สำหรับเรื่องการสุ่มเสี่ยงต่อเชื้อโรค แม้จะเป็นสภาพอากาศหนาวเย็น มีความชื้น แต่อาจารย์ประไพศรีก็ย้ำว่าไม่ควรวางใจเรื่องของอาหารเป็นพิษ เพราะด้วยสภาพอากาศหนาวเย็นแบบนี้ เป็นช่วงที่ผักฤดูหนาวประเภทกะหล่ำดอก กะหล่ำปลีเติบโต ประกอบกับเป็นผักที่มีใบซอกแซกเยอะ ดังนั้นหากล้างทำความสะอาดไม่ดีพอและไม่ได้รับการปรุงสุกก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้เช่นกัน หรือเชื้อรา พวกเห็ดที่เป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่กินได้ แต่หากเก็บไว้นานในอากาศชื้นเกินไปก็ไม่เหมาะที่จะนำมาปรุงอาหารเช่นกัน
หันมาดูผลไม้ในช่วงหน้าหนาวนี้ อย่างสับปะรด ซึ่งวางขายอยู่ค่อนข้างมากในช่วงนี้ อาจารย์ประไพศรีบอกว่า เลือกกินได้ แต่ไม่ควรกินมากเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทั้งนี้ตามปกติแล้วควรเลือกกินผลไม้ในวันละ 3-4 ส่วน อย่างผลไม้ที่ลูกโตๆ เช่น สับปะรด ก็เลือกกินครั้งละ 6-8 คำ และควรหมุนเวียนเปลี่ยนกินผลไม้ในแต่ละวัน ไม่ควรซ้ำกันเกินไป
นอกจากนี้แล้วเรายังเห็นภาพรถเข็นสตรอเบอร์รี่กองโตที่เข็นขายตามท้องถนน บางครั้งก็จะเป็นลูกสตรอเบอร์รี่ที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมเกลือและน้ำตาลขายในถ้วยเล็กๆ มองดูแล้วน่าซื้อ น่ากิน อย่างปฏิเสธไม่ได้ทีเดียว เรื่องนี้ อาจารย์ประไพศรี แนะนำว่า เราควรเลือกกินสตรอเบอร์รี่ที่เป็นลูกๆ และล้างให้สะอาดน่าจะดีที่สุด เพราะการกินแบบที่นำมาคลุกเกลือน้ำตาลนั้น นอกจากเรื่องความสะอาดที่ต้องระมัดระวังแล้ว เกลือที่ใส่ที่เราอาจได้รับโซเดียมมากเกินไปก็เป็นเรื่องที่ต้องระวัง
หน้าหนาวครั้งนี้ แม้ในตัวเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ อาจจะยังไม่พบบรรยากาศที่หนาวเย็นจนต้องซื้อหาเสื้อกันหนาวตัวสวยมาสวมใส่กัน จนต้องเลือกกินอาหารคลายหนาว แต่สิ่งสำคัญคือการเลือกกินอาหารที่ปรุงสุก สะอาด และสดใหม่ เป็นหัวใจกว่าสิ่งใด เพราะไม่ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูไหน ก็ต้องย้ำทำอย่าได้ขาด!!
เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th