ออกกำลังกายเวลาไหนดี

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายคนสงสัย หลายคนเคยได้รับ forward mail ถึงข้อเสียของการออกกำลังกายผิดเวลาว่าจะมีผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ ดังนั้นก่อนที่จะไปพูดถึงข้อดีข้อเสียของการออกกำลังกายในช่วงเช้าหรือเย็นว่าอันไหนดีกว่ากันขอทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าถ้าคุณไม่มีเวลา ไม่สามารถเลือกได้ว่า จะออกกำลังกายตอนเช้า สาย บ่าย หรือค่ำการออกกำลังกายไม่ว่าเวลาใด ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพแน่นอน


ออกกำลังกายเวลาไหนดี


คนที่ออกกำลังกายไม่ว่าจะเป็นเวลาใด มีผลการวิจัยยืนยันแล้วว่า สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ โรคอ้วน ฯลฯ


เหตุผลที่ต้องเริ่มต้นอย่างนี้ เพราะหลายคนไม่สามารถจัดเวลาได้ พอบอกว่าเช้าดีกว่าเย็น เย็นดีกว่าเช้า เลยคิดว่าจะไม่ออกกำลังกายซะเลย ซึ่งอันนี้ผิดแน่นอน


ข้อมูลในการทำการวิจัยเรื่องเกี่ยวกับเวลาในการออกกำลังกาย ยังเป็นการวิจัยที่มีผลขัดแย้งกันหลายอย่าง บางการวิจัยบอกว่าเช้าดีกว่าเย็น บางการวิจัยบอกว่าเย็นดีกว่าเช้า


ข้อเท็จจริงของการออกกำลังกายตอนเช้า


1. การออกกำลังกายเวลาเช้า มักจะสามารถทำได้จนเป็นนิสัย ทำให้มีการออกกำลังกายได้สม่ำเสมอมากกว่าคนที่ออกกำลังกายตอนเย็น


2. สำหรับคนที่มีปัญหาการนอนหลับ การออกกำลังกายในตอนเช้าจะช่วยเรื่องการนอนหลับได้ดีกว่าการออกกำลังกายตอนเย็น ซึ่งเรื่องการนอนก็จะไปมีผลต่อความอยากอาหาร คือถ้านอนน้อยจะหิวบ่อยกว่าและจะทำให้ควบคุมน้ำหนักได้ยากกว่า


3. สำหรับคนที่ต้องการคุมน้ำหนัก หรือลดน้ำหนัก พบว่าการออกกำลังกายตอนเช้าจะช่วยให้คุมน้ำหนักได้ดีกว่า ด้วยเหตุผลในเรื่องของฮอร์โมนที่ร่างกายสร้าง ซึ่งจะสัมพันธ์กับ biological clock ในสมองในการสร้างฮอร์โมน


4. อัตราการเต้นของหัวใจจะช้ากว่าหากออกกำลังกายในช่วงเช้า


ข้อเท็จจริงของการออกกำลังกายในช่วงเย็น


1. อุณหภูมิของร่างกายจะสูงสุดในช่วงเวลาประมาณ 4-5 โมงเย็น ซึ่งจะเป็นเวลาที่เหมาะกับออกกำลังกายมาก เนื่องจากการเผาผลาญในร่างกาย อาจจะดีกว่า


2. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ Strength จะดีกว่าในช่วงบ่าย โดยจะทำงานได้ดีกว่าประมาณ 5-10%


3. ความทนทานของร่างกาย endurance ซึ่งจะบอกถึงความอึดในการออกกำลังประเภทแอโรบิกจะเพิ่มขึ้นในตอนบ่ายประมาณ 4%


4. โอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บจะน้อยกว่าเมื่อออกกำลังกายในช่วงบ่าย เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้กล้ามเนื้ออบอุ่นและมีความยืดหยุ่นได้มากกว่า รวมทั้งความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่มากกว่าก็ช่วยลดการบาดเจ็บได้ด้วย


5. ควรเว้นช่วงห่างของการออกกำลังกายกับเวลานอนออกประมาณ 4-6 ชั่วโมง เนื่องจากร่างกายยังมีความตื่นอยู่จากฮอร์โมนที่หลั่งออกมาในขณะออกกำลังกาย


ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าคุณเป็นคนไม่มีเวลาเลย ไม่สามารถเลือกว่าจะเวลาออกกำลังกายได้มากนัก ให้จัดเวลาที่คุณสะดวกที่สุด อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ สามารถแบ่งออกเป็นหลายครั้ง อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที


ควรจะมีการจัดเวลาสำหรับการสร้างกล้ามเนื้อโดยการยกน้ำหนักสัปดาห์ละหนึ่งชั่วโมง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ท้อง หลัง ต้นขา กล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้นจะช่วยการเผาผลาญของร่างกายได้ดีขึ้น จัดเวลาสำหรับการยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำทุกวัน วันละอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน หรือที่บ้าน เพื่อป้องกันอาการปวดหลังปวดกล้ามเนื้อจากการทำงาน หรือจากการใช้คอมพิวเตอร์นาน ๆ จัดเวลาให้กับสุขภาพของตัวเองด้วยการออกกำลังกายกันนะครับ


 


 


ที่มา : Dr.carebear www.facebook.com/drcarebear

Shares:
QR Code :
QR Code