“ออกกำลังกายหน้าร้อน” ทำได้ขนาดไหน
เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี team content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
“การออกกำลังกาย” นอกจากจะทำให้มีสุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังทำให้ห่างไกลจากภาวะอ้วนลงพุง ที่นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการเกิด โรควิถีชีวิต หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ดังที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันรณรงค์ให้คนไทยหันมาออกกำลังกายภายใต้โครงการคนไทยไร้พุง ตามแนวคิดของ 3 อ. พิชิตอ้วน คือ อ.อาหาร อ.ออกกำลังกาย และ อ.อารมณ์
อย่างไรก็ตาม จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในเวลานี้ ทำให้ผู้ที่รักสุขภาพหลายๆ คนเป็นกังวลว่า การออกกำลังกายในช่วงอากาศร้อน หรือการทำกิจกรรมกลางแจ้งนั้นสามารถทำได้หรือไม่ มีข้อควรระวังอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบ
นายณัฐวุฒิ สินธนาสกุลวงศ์ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา อธิบายว่า การออกกำลังกายภายใต้สภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นเวลานานๆ อาจจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เช่น ระบายความร้อนออกจากร่างกายไม่ทัน การเสียเหงื่อมากเกินไป หัวใจเต้นเร็วขึ้น เส้นเลือดขยายตัวเพื่อรับกับอากาศร้อนจัด โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะการออกกำลังกายที่หนักเกินไปและไม่ถูกวิธี จะส่งผลเสียมากกว่าผลดีในช่วงอากาศแบบนี้
เกี่ยวกับโรคหรือภาวะอาการที่ควรระวังในช่วงอากาศร้อนนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกาย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
1. โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke)
สัญญาณเตือนที่สำคัญของโรคฮีทสโตรก คือไม่มีเหงื่อออก แม้จะอากาศร้อน หน้าแดง ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน เกร็งกล้ามเนื้อ ชัก มึนงง สับสน รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัว ลดน้อยลง อาจหมดสติ หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น และถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งแตกต่างจากอาการเพลียแดดทั่วๆ ไปที่จะมีเหงื่อออกด้วย
สำหรับผู้ที่มี ความเสี่ยงในการเกิด โรคฮีทสโตรก คือ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่อดนอน ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน รวมถึงนักกีฬา และทหารที่เข้ารับการฝึก โดยไม่มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด
นักวิทยาศาสตร์การกีฬา บอกเสริมว่า ในหน้าร้อนนี้ ควรออกกำลังกายในที่ร่มจะดีกว่า หากต้องออกกำลังกายกลางแจ้งจริงๆ ควรมีกระติกน้ำพกติดตัวไว้คอยดื่มตลอดเวลา เพื่อป้องกันภาวะฮีทสโตรก
2. ภาวะขาดน้ำ หรือเพลียแดด
ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่ออกกำลังกายหนักมากและต่อเนื่องเป็นเวลานาน วิธีสังเกตอาการคือ รู้สึกปวดหรือวิงเวียนศีรษะ ความดันต่ำ ปากแห้ง และมีลักษณะคล้ายจะเป็นตะคริว
3. โรคตะคริวแดด
มักพบในคนที่ออกกำลังกายกลางแจ้งหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานานเช่นกัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเกร็งที่กล้ามเนื้อ ถ้ารู้สึกว่าตนเองมีอาการเหล่านี้ควรหยุดออกกำลังกายทันที และให้รีบเข้าร่มมาอยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก หากภายใน 1 ชั่วโมงอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้รีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการอย่างละเอียด
4. โรคผิวไหม้แดด
โดยผิวบริเวณที่เป็นจะมีรอยแดง ปวดแสบ ปวดร้อน โดยทั่วไปมักจะดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หากไม่ออกไปโดนแดดซ้ำ และประคบด้วยความเย็น หมั่นทาโลชั่นให้ความชุ่มชื้นบริเวณที่เป็นรอยไหม้เป็นประจำ ถ้าทำเช่นนี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง
เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี รวมไปถึงการเตรียมตัวที่ถูกต้อง “นายณัฐวุฒิ” แนะนำผู้ที่ต้องการออกกำลังกายช่วงหน้าร้อน ดังนี้
1. อบอุ่นร่างกายก่อนการออกกำลังกาย
2. เลือกช่วงเวลาในการออกกำลังกายโดยไม่ออกกำลังในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด
3. เลือกสถานที่ออกกำลังกายที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
4. แต่งกายให้เหมาะสมกับสภาพของอากาศและชนิดกีฬา โดยเลือกสวมเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อและความร้อนได้ดี
5. ทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกกำลังกายหรือไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง
6. ที่สำคัญที่สุดควรจิบน้ำบ่อยๆ ระหว่างการออกกำลัง เพื่อทดแทนการสูญเสียเหงื่อและป้องกันภาวะขาดน้ำ
นักวิทยาศาสตร์การกีฬาหนุ่ม ย้ำว่า หากเริ่มรู้สึกร้อนมากๆ เนื่องจากทำกิจกรรมหรือทำงานกลางแจ้งนานๆ ให้เลี่ยงออกจากพื้นที่ โดยต้องพักจากกิจกรรมนั้น เพื่อทำให้ร่างกายเย็นลง อาจจะเปิดพัดลม ดื่มน้ำเย็น ใช้ผ้าเย็นเช็ดหน้า เช็ดตัว เพื่อเป็นการระบายความร้อนออกจากร่างกาย และควรจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อช่วยระบายความร้อนให้ร่างกายอีกทาง
การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี แต่จะต้องหลีกเลี่ยงสภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย ไม่หักโหมหรือออกกำลังหนักจนเกินไป เพียงเท่านี้เราก็สามารถออกกำลังกายในช่วงหน้าร้อนได้อย่างไร้กังวลแล้ว