อย.ออกกฎติดฉลากบอกปริมาณไอโอดีนในน้ำปลา-น้ำเกลือ
อย.ออกประกาศกำหนดข้อความที่ต้องแสดงในฉลากอาหาร 3 ประเภท ได้แก่ น้ำปลา หรือ น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง ต้องระบุว่า “ใช้เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน” หรือ “ผสมไอโอดีน” หรือ “เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน…….%” หรือระบุปริมาณไอโอดีนอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการแสดงฉลากอาหาร และเป็นข้อมูลในเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค
นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ 4 ประเภท ได้แก่ เกลือบริโภค น้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง เช่น ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว ต้องเสริมไอโอดีนในผลิตภัณฑ์ตามปริมาณที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการแสดงฉลากอาหารที่มีเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนเป็นส่วนผสม หรือมีเกลือบริโภคเป็นส่วนผสมและเติมไอโอดีนในกระบวนการผลิต อย.จึงดำเนินการออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดข้อความที่ต้องแสดงในฉลากของน้ำปลา หรือ น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง ต้องแสดงข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่กรณี ได้แก่ กรณีที่มีเกลือบริโภคเป็นส่วนผสมและเติมไอโอดีนในกระบวนการผลิต ให้ใช้ข้อความ “ไอโอดีน…..มิลลิกรัม ต่อ ลิตร” หรือ “ใช้ไอโอดีนเป็นส่วนผสม” หรือ “ผสมไอโอดีน” และ กรณีที่ใช้เกลือบริโภคเสริมไอโอดีนเป็นส่วนผสม ให้ใช้ข้อความอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ “เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน…….%” หรือ “เกลือเสริมไอโอดีน ….. %” หรือ “เกลือไอโอดีน….%” ไว้ที่สูตรประกอบของอาหาร หรือ “ใช้เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน” หรือ “ใช้เกลือเสริมไอโอดีน” หรือ “ใช้เกลือไอโอดีน” หรือ “ผสมเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน” หรือ “ผสมเกลือเสริมไอโอดีน” หรือ “ผสมเกลือไอโอดีน”ไว้ในตำแหน่งที่เห็นได้ง่าย ซึ่งในกรณีนี้อาจระบุชนิดของเกลือประกอบข้อความดังกล่าวได้ด้วย เช่น เกลือสมุทร หรือ เกลือสินเธาว์ อย่างไรก็ตาม หากพบผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีความผิด ต้องถูกปรับไม่เกิน 30,000 บาท
รองเลขาธิการ อย.กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ น้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หลังจากที่ประกาศมีผลบังคับใช้แล้ว อย.จะดำเนินการติดตามตรวจสอบการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามประกาศ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค
ที่มา : หนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการ