อย.สุ่มอาหารญี่ปุ่นยัน 322 รายการไม่พบกัมมันตรังสี
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เผยสุ่มตรวจอาหารญี่ปุ่นแล้วกว่า 300 รายการ ผลปกติทั้งหมดไม่พบกัมมันตรังสี ยันอาหารจาก 12จังหวัดของญี่ปุ่นยังต้องมีใบรับรองผลตรวจ
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการสุ่มตรวจหาสารกัมมันตรังสีในอาหารที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น จนถึงวันที่ 19พฤษภาคม 2554จำนวนทั้งสิ้น 322ตัวอย่าง เช่น อาหารทะเล 237ตัวอย่าง ผัก 23ตัวอย่าง ผลไม้ 17ตัวอย่างและอาหารประเภทอื่น อาทิ ข้าว งา วาซาบิ เนย แป้ง เป็นต้น จำนวน 45ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์หาสารกัมมันตรังสี พบว่า ทุกรายการอยู่ในระดับปกติ
เลขาธิการ อย.กล่าวอีกว่า อย.ได้ดำเนินการเฝ้าระวังอาหารที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่องและปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด โดยผู้นำเข้าอาหารทุกประเภทจาก 12จังหวัด จะต้องระบุประเภท ชนิดอาหาร ปริมาณกัมมันตรังสี และพื้นที่การผลิตจากห้องแล็บของรัฐ หรือเอกชนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากประเทศญี่ปุ่นหรือได้มาตรฐานสากล กรณีนำเข้าอาหารจากพื้นที่นอกเหนือจาก 12จังหวัด ผู้นำเข้าจะต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้าที่มีการเพาะปลูก หรือเพาะเลี้ยงหรือผลิตจากหน่วยงานของรัฐมาแสดงและขอยกเลิก
นพ.พิพัฒน์กล่าวด้วยว่า การอนุโลมให้ผู้นำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นใช้หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดที่ออกให้โดยหอการค้าประเทศญี่ปุ่น ควบคู่กับเอกสารอื่นที่บ่งชี้ถึงแหล่งกำเนิดสินค้า เนื่องจากสถานทูตญี่ปุ่น มีหนังสือแจ้งมายัง อย.ว่าหน่วยงานภาครัฐของประเทศญี่ปุ่น สามารถออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดตามประกาศที่ อย.กำหนดได้ตั้งแต่วันที่ 16พฤษภาคม 2554จึงขอให้ผู้นำเข้าปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
“ขอให้ผู้บริโภควางใจการดำเนินงานของ อย. ซึ่ง อย.ได้ติดตามสถานการณ์รอบด้านมาอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด หากสถานการณ์ดีขึ้น และประเทศอื่นๆมีการปรับระดับการคุมเข้มลดลง อบ.อาจปรับลดมาตรการการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน และ อย.ขอบคุณผู้นำเข้าที่ให้ความร่วมมือ ในการร่วมกันคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยในครั้งนี้ด้วย” นพ.พิพัฒน์กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก