อย.ย้ำอย่าหลงเชื่อเครื่องบำบัดด้วยกระแสไฟฟ้าสถิต

อวดอ้างสรรพคุณรักษาโรค ไม่พบงานวิจับยืนยัน

    

 

อย.ย้ำอย่าหลงเชื่อเครื่องบำบัดด้วยกระแสไฟฟ้าสถิต          เตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อการจัดสาธิตเครื่องหรืออุปกรณ์บำบัดด้วยกระแสไฟฟ้าสถิตย์ ที่มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณในการบำบัด รักษา บรรเทา ป้องกันโรคต่างๆ พร้อมเผยความเป็นจริง ยังไม่มีงานวิจัยใดพิสูจน์ว่าสามารถรักษาหรือป้องกันโรคได้เสียโอกาสในการรักษาโรคให้หายและกระแสไฟฟ้าจากเครื่องอาจทำอันตรายต่อร่างกาย ได้ ระบุหากผู้ประกอบการรายใดเอาเปรียบผู้บริโภค ฝ่าฝืน พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ฉบับใหม่ล่าสุดจะเอาผิดผู้กระทำความผิดให้ถึงที่สุด

 

          น.พ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ได้รับแจ้งว่ามีผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภค จัดสาธิตเครื่องหรืออุปกรณ์บำบัดด้วยกระแสไฟฟ้าสถิตย์ โดยนำมาให้บริการหรือดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณหรือประโยชน์ในการบำบัดรักษา บรรเทา และป้องกันโรคต่างๆ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด หลงเชื่อทำให้สูญเสียโอกาสและเวลาในการบำบัดรักษาโรคให้หายด้วยวิธีทางการแพทย์อย่างถูกต้อง อีกทั้งยังเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ เนื่องจาก เครื่องดังกล่าวมีราคาสูง ซึ่ง อย. ตระหนัก ถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว

 

          ทั้งนี้ จึงขอแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังและควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อ เนื่องจาก อย. รับแจ้งรายการละเอียดของเครื่องมือดังกล่าว อนุญาตให้มีข้อบ่งใช้เพียง ช่วยการไหลเวียนโลหิต ผ่อนคลายกล้ามเนื้อโดยอาจช่วยในเรื่องการบรรเทาปวดกล้ามเนื้อได้บ้าง อย่างไรก็ตาม เครื่องดังกล่าวควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด

 

          สำหรับในส่วนของข้อบ่งใช้หรือประโยชน์อื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องของการบำบัด รักษาโรคต่างๆ นั้น อย.ไม่อนุญาต เนื่องจากยังไม่มีผลการทดลองหรือผลทดสอบทางคลินิกหรือวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถืออ้างอิงแต่อย่างใด

 

          นอกจากนี้ เครื่องหรืออุปกรณ์ที่ใช้กระแสไฟฟ้า อาจเกิดอันตรายร้ายแรงจากกระแสไฟฟ้าได้ทั้งโดยอุบัติเหตุ หรือการใช้งานที่ไม่ถูกต้องรองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ล่าสุด มีผลบังคับใช้แล้ว ทำให้การจัดสาธิตเครื่องมือแพทย์และมีการให้ข้อมูลคุณประโยชน์ของเครื่องมือแพทย์ โดยผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ พนักงานของบริษัทผู้ประกอบการนำเข้าหรือจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ หรือบุคคลใดๆ เพื่อชักนำให้เกิดการขาย จัดเป็นการโฆษณาเครื่องมือแพทย์ ผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษทางอาญาแล้วแต่กรณี

 

          อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวข้างต้นถือเป็นการโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากโฆษณาโดยการรับรองหรือยกย่อง

 

          คุณประโยชน์ของเครื่องมือแพทย์ โดยบุคคลหนึ่งบุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้บริโภคสามารถช่วยเป็นหูเป็นตาให้แก่หน่วยงานของรัฐ หากพบเห็นการสาธิต การให้บริการ การโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ดังกล่าวอวดอ้างเกินจริงว่าสามารถบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรคได้ ขอให้โทร.แจ้งมาที่ สายด่วน อย. 1556 เพื่อ อย. จะได้ดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้ที่เอาเปรียบผู้บริโภคให้ถึงที่สุด

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ

 

 

update:24-09-51

Shares:
QR Code :
QR Code