อย.ชี้ ‘สเต็มเซลล์’ แค่รักษาโรคเลือด

ระบุ! ไม่ช่วยให้หายขาด

 

อย.ชี้ ‘สเต็มเซลล์’ แค่รักษาโรคเลือด

          นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์จากเซลล์ต้นกำเนิด หรือ สเต็มเซลล์ stem cell” มีการนำข้อมูลทางการแพทย์ที่ยังไม่สมบูรณ์มาแอบอ้างเพื่อหารายได้ ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ผิด

 

          สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ดูแลผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอางมักมีการแอบอ้างนำสเต็มเซลล์มาใช้ในทางการค้าขอแจ้งให้ทราบว่า แท้จริงแล้ว “สเต็มเซลล์” คือ เซลล์ที่ยังไม่เจริญเต็มที่ สามารถแบ่งตัวได้อย่างไม่จำกัด และสามารถให้กำเนิดเซลล์ที่กลายเป็นเซลล์ในร่างกายได้หลายชนิด

 

          ซึ่งมีทั้งสเต็มเซลล์ของตัวอ่อน มีคุณสมบัติ คือ ให้กำเนิดเซลล์ของร่ายกายได้ทุกชนิด และสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อจำเพาะ หรือที่นิยมเรียกว่า สเต็มเซลล์ของผู้ใหญ่ พบในเกือบทุกเนื้อเยื้อในร่างกาย เช่น ไขกระดูก กล้ามเนื้อ สมอง ผิวหนัง ลำไส้ แต่ไม่สามารถให้กำเนิดเซลล์ร่างกายได้ทุกชนิดเหมือนตัวอ่อน

 

          นพ.พิพัฒน์เปิดเผยว่าวงการแพทย์ยอมรับว่า เซลล์ต้นกำเนิดที่รักษาได้ผลจริงเฉพาะในโรคเลือดเท่านั้น เช่น ใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือด โรคเลือดที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม และรักษาผู้ป่วยที่ ไขกระดูกถูกทำลายจากยารักษามะเร็ง

 

          โดยจากการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่พบว่า การใช้สเต็มเซลล์ต้นกำเนิดจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น แต่ยังไม่พบผลการศึกษาวิจัยว่า สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ และอาจมีผลข้างเคียงจากการรักษาได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับการพิสูจน์ยืนยันด้านความปลอดภัย

 

          นอกจากนี้ การโฆษณาอวดอ้างต่างๆ ว่าสเต็มเซลล์สามารถทำให้ขาวขึ้น สวยขึ้นนั้น ยังไม่มีการพิสูจน์หรือยืนยันว่าใช้ได้จริง และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง อย. ห้ามมิให้ใช้เซลล์เนื้อเยื่อหรือผลิตภัณฑ์มนุษย์เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง

 

          นพ.พิพัฒน์เปิดเผยว่าพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 สเต็มเซลล์จะเข้าข่ายเป็นยา แต่เนื่องจากอาจมีความคลาดเคลื่อนหรือเข้าใจไม่ตรงกัน อย. จึงจัดทำระบบกำกับดูแลผลิตภัณฑ์จากสเต็มเซลล์ เพื่อรองรับการผลิตหรือนำเข้า อีกทั้งยังร่วมมือกับแพทยสภา และกองการประกอบโรคศิลปะเพื่อให้ความรู้แก่ผู้บริโภค สร้างความมั่นใจในการใช้ผลิตภัณฑ์ ไม่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาอวดอ้างเกินจริง เสียเงินและเสียโอกาสในการรักษา

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

update 27-03-52

Shares:
QR Code :
QR Code