ปรับพฤติกรรม ลดเสี่ยงมะเร็ง
แพทย์ เผยโรคมะเร็งป้องกันได้ด้วยตัวเอง แนะปรับพฤติกรรมลดความเสี่ยงจากการกิน เลี่ยงอาหารรสจัด หมักดอง เนื้อสัตว์รมควัน ปิ้ง ย่าง ที่ทอดจนไหม้เกรียม ไม่สูบบุหรี่-ดื่มสุรา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
แฟ้มภาพ
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประชากรทั่วโลก สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (Union for International Cancer Control, UICC) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) จึงกำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น "วันมะเร็งโลก" หรือ "World Cancer Day" เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้คนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญ และสาเหตุของโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลก โดยปี 2559 ใช้หัวข้อ "We can. I can." (เราทำได้ฉันก็ทำได้) ในการรณรงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมมือของแต่ละภาคส่วนในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง
ส่วนสถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทย จากสถิติพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 รองลงมา คือ อุบัติเหตุ และโรคหัวใจ ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขยังพบว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งประมาณ 60,000 คนต่อปีหรือเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 7 ราย โดยโรคมะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่-ทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ ซึ่งโรคมะเร็งแต่ละชนิดจะมีการดำเนินของโรคและวิธีการรักษาที่แตกต่างตามอวัยวะที่เป็นมะเร็ง ระยะของมะเร็ง สภาพร่างกาย และความเหมาะสมของผู้ป่วยมะเร็ง ส่วนการรักษาจะยากหรือง่ายขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็งและการดำเนินโรคของมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งผิวหนัง รักษาง่ายกว่า มะเร็งปอด มะเร็งสมอง เป็นต้น
ดังนั้น การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนสามารถทำได้เหมือนกับประเด็นที่ใช้รณรงค์ในวันมะเร็งโลก ปี 2559 คือ "We can. I can." (เราทำได้ฉันก็ทำได้) ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารหมักดอง อาหารเนื้อสัตว์รมควัน ปิ้ง ย่าง ทอดจนไหม้เกรียม อาหารที่มีเชื้อราขึ้นอาหารที่ใส่ดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนม ไส้กรอก เบคอน ฯลฯ อาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืด
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับมลพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม และในสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษ เมื่อต้องสัมผัสกับสารพิษหรือสารเคมีควรปฏิบัติตามกฎข้อบังคับหรือคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการได้รับแสงแดดมากเกินไป ควรลดความเครียด พักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบีในเด็กแรกเกิด และควรตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม สามารถตรวจได้แม้ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พฤติกรรมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็ง ดังนั้น การป้องกันให้ห่างไกลโรคมะเร็งจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยการออกกำลังกายเป็นนิจ ทำจิตแจ่มใส กินผักผลไม้ กินอาหารหลากหลาย ตรวจร่างกายเป็นประจำ ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีเซ็กซ์มั่ว ไม่มัวเมาสุรา ไม่ตากแดดจ้า ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งด้วยตัวเราเองได้
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า