อย.ชี้ภัยยาทำแท้ง ใช้แก้โรคกระเพาะ
สั่งปิด 327 เว็บขายแล้ว
เด็กม.6 ทำแท้งยังนอนซม รอดูอาการอีก 3 วัน หมอดูแลใกล้ชิดหวั่นติดเชื้อ อย.สั่งปิดเว็บไซต์ขายยาทำแท้งแล้ว 327 เว็บ แฉเป็นยารักษาโรคกระเพาะ เตือนมีผลข้างเคียงบีบมดลูกเสี่ยงถึงตาย ระบุยังลักลอบขายเกลื่อน เหตุวัยรุ่นต้องการเยอะ
จากกรณีที่นักเรียนหญิงชั้น ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่ง ซื้อยาทำแท้งผ่านทางเว็บไซต์แล้วนำมาใช้ด้วยตนเอง จนเกิดอาการตกเลือดอย่างหนักนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พญ.วารุณี จินารัตน์ ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวถึงอาการเด็กนักเรียนม.6 ที่ใช้ยาทำแท้งว่า เด็กมาถึง รพ.ราชวิถี เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ด้วยภาวะช็อก ความดันตก เนื่องจากเสียเลือดค่อนข้างมาก ที่สำคัญมีภาวะรกค้าง สายสะดือที่โผล่มาหลังจากตัวเด็กออกมาแล้ว เนื่องจากเป็นกรณีฉุกเฉินทางโรงพยาบาลจึงรีบนำเข้าห้องผ่าตัดเอารกออก อีกทั้งเด็กมีภาวะซีดมาก จึงให้เลือดเนื่องจากเสียเลือดไปมาก อาการล่าสุดเด็กนั่งได้แต่ลุกเดินยังไม่ไหว คงจะให้พักฟื้นอย่างน้อย 2-3 วัน หากแข็งแรงเร็วพ่อแม่อยากให้กลับบ้าน ซึ่งทางโรงพยาบาลอาจส่งคนไปดูที่บ้านต่อได้ สิ่งที่ต้องคอยระวังคือภาวะติดเชื้อ เพราะการทำแท้งอาจไม่สะอาด ดังนั้นต้องรอดูอาการอยู่หากมีภาวะติดเชื้อคือมีไข้สูงจะได้รักษาได้
เมื่อถามว่าตกลงอายุครรภ์กี่เดือน พญ.วารุณี กล่าวว่า จากที่ถามเด็กคือ 6 เดือน ซึ่งการทำแท้งถือว่าอันตรายเพราะเลย 3 เดือนมาแล้ว ทารกค่อนข้างตัวใหญ่ ถ้าเด็กไม่ออกคงเรื่องใหญ่ แม้ทารกจะออกแล้วแต่รกไม่ออก หากไม่ตัดสินใจตามคนมาช่วยอาจเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ที่บ้าน
พญ.วารุณี กล่าวถึงยาที่เด็กใช้ทำแท้งว่า เดิมยาดังกล่าวใช้ในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร แต่ฤทธิ์ข้างเคียงจะบีบมดลูกทำให้บีบตัวด้วย คนก็เลยนำมาใช้ในการทำแท้ง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัญหาการลักลอบซื้อยาทำแท้งผ่านเว็บไซต์นั้น ได้หารือกับนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แล้ว ซึ่งจะช่วยตรวจสอบการจำหน่ายยาและกวดขันเรื่องการโฆษณายา อุปกรณ์ยาในเว็บไซต์เป็นพิเศษ ล่าสุดได้รับแจ้งว่าไอซีทีได้ปิดเว็บไซต์ที่จำหน่ายยาดังกล่าวแล้ว
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ยากลุ่มนี้เป็นยาควบคุมพิเศษที่ห้ามจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป ใช้ได้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากเป็นยาที่มีผลข้างเคียงสูง โดยยาดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยารักษาโรคกระเพาะที่ต้องควบคุม เนื่องจากหากใช้ไม่เหมาะสมจะส่งผลข้างเคียง เกิดการบีบตัวของมดลูก จึงเรื่องที่เสี่ยงอันตรายมาก
นพ.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ข้อมูลตั้งแต่ปี 2551-2553 ได้ตรวจพบและสั่งปิดเว็บไซต์ไปแล้วทั้งสิ้น 327 เว็บไซต์ ที่ผ่านมาจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมาย ได้เพียง 1 รายซึ่งเป็นแพทย์ แม้จะมีการสั่งปิดเว็บไซต์และจับกุมไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีการจำหน่ายอยู่ เนื่องจากความต้องการของเด็ก ที่ขาดการยับยั้งชั่งใจและไม่มีหนทางแก้ปัญหายังต้องเลือกใช้วิธีนี้ เพราะขาดที่ปรึกษาที่ดี สิ่งสำคัญควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยการดูแลและให้ความรู้แก่เด็กให้เรียนรู้วิธีป้องกันที่ถูกวิธี
ทั้งนี้ ยาทำแท้งที่จำหน่ายผ่านเว็บไซต์ ล้วนเป็นยาที่ไม่ขึ้นทะเบียน ลักลอบนำเข้าทั้งสิ้น เนื่องจากยังไม่มีผลิตในไทย อีกทั้งอนุญาตให้ใช้ในโรงพยาบาลเท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่จำหน่ายย่อมมีโทษแบ่งเป็นโทษขายยาไม่มีใบอนุญาต จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษขายยาไม่ขึ้นทะเบียนจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
update:15-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่