อย่าปล่อยให้เชื้อดื้อ(ยา) ลอยนวล

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


อย่าปล่อยให้เชื้อดื้อ(ยา) ลอยนวล thaihealth


แฟ้มภาพ


          70 ปีที่แล้ว เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง นักชีววิทยาผู้ค้นพบเอนไซม์ไลโซไซม์ และค้นพบสารเบนซิลเพนนิซิลินจากเชื้อรา pennicilium notatum ซึ่งนำไปสู่การพัฒนายาปฏิชีวนะ ตัวแรกของโลก ได้เคยกล่าวตักเตือนชาวโลก ไว้เมื่อครั้งปาฐกถา ในวันที่เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ในปี ค.ศ. 1945 ว่าเขาไม่กลัวปัญหาพิษ จากยาที่ค้นพบ แต่สิ่งที่เขากลัวคือการเกิดภาวะดื้อยาถ้าได้รับยาไม่เพียงพอ


          ในเวลานั้นสิ่งที่เขาพูดแทบไม่มีใครตระหนักหรือฉุกคิดถึงคำเตือนประโยค ดังกล่าว เพราะทุกคนกำลังตื่นเต้นกับ ยาตัวใหม่ที่เรียกว่า "ยาต้านแบคทีเรีย" หรือ "ยาต้านจุลชีพ" หรือ "ยาปฏิชีวนะ" (Antibiotic) ที่ถูกมองว่าเป็นเสมือนยาวิเศษที่สามารถรักษาผู้คนหลายล้านชีวิตมาตลอดหลายสิบปี แต่แล้วในที่สุดอีกหลายสิบปีต่อมา ประโยคเตือนใจดังกล่าว ก็กลับกลายเป็นเสมือนคำทำนายที่กลายเป็นความจริง


          อุบัติการณ์เชื้อดื้อยาป่วนโลก


          เมื่อหกสิบกว่าปีก่อนมีผู้ป่วยชาวสวีเดน รายหนึ่งที่ต้องผ่าตัดในประเทศอินเดีย  แต่หลังกลับไปยุโรปเขามีอาการดื้อต่อยา กลุ่ม carbapenem ที่เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มลำดับท้ายๆ ที่เก็บไว้ใช้กรณีเชื้อมีการดื้อยาชนิดอื่นๆ มาแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวคือ การค้นพบ NDM-1 Enzyme จากเชื้อ carbapenem-resistant Klebsiella pneumoniae ที่ได้กลายจุดเริ่มเปลี่ยนของวงการแพทย์ทั่วโลก ที่เริ่มตื่นตัวถึงปัญหาเชื้อดื้อยา


          โดยในปี 2551 สหภาพยุโรปถึงกับ เป็นตัวตั้งตัวตีประกาศให้มีวัน Antibiotic Awareness Day ขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน เป็นประจำทุกปี ก่อนจะยกระดับเป็น  Antibiotic Awareness Week โดยองค์การ อนามัยโลก (WHO) เพื่อหวังกระตุ้นเตือนให้คนทั่วโลกรู้ถึงอันตรายของเชื้อดื้อยา  แต่ไม่กี่ปีต่อมากลับมีปรากฎการณ์ช็อคโลก อีกครั้ง เมื่อมีการพบยีนเชื้อดื้อยาในประเทศจีน ในเนื้อหมู และยังพบว่ามีการใช้แพร่หลายทั้ง ในสัตว์ต่างๆ และคนในหลายประเทศ ความน่ากลัวก็คือยีนตัวนี้เป็นยีนที่ดื้อต่อ ยาปฏิชีวนะโคลิสติน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะ กลุ่มเกือบสุดท้ายที่ใช้ได้ผล ที่สำคัญอาการดื้อยานี้สามารถส่งต่อแบคทีเรียข้ามสายพันธุ์ได้ และสามารถส่งต่อระหว่าง คนกับสัตว์ ได้ด้วย ซึ่งมีรายงานการพบทั้งในคนและสัตว์มากกว่า 30 ประเทศแล้ว


          ดื้อยาไทยวิกฤติแซงโลก


          เชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ลุกลามไปทั่วโลก ทำให้เกิดปัญหาว่ายาต้านเชื้อแบคทีเรีย ที่เคยใช้ได้ผลไม่สามารถ ฆ่าเชื้อตัวเดิมได้อีก และเนื่องจากผู้ผลิตงานวิจัยไม่ได้ให้ ความสำคัญจึงไม่มียาปฏิชีวนะใหม่ๆ  ออกมาสู่ตลาด จึงเกิดผลกระทบทำให้ ผู้คนล้มตายจากเชื้อที่ดื้อยาปีพ.ศ.2557 องค์การอนามัยได้รวบรวมสถานการณ์  โดยประมาณการณ์ผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาทั่วโลกอาจมากกว่า 700,000 รายต่อปี  หากไม่มีมาตรการจัดการที่เร่งด่วนเข้มงวดและชัดเจนคาดว่าในปี พ.ศ.2593 จะมี ผู้เสียชีวิตถึงปีละ 10 ล้านคน


          ขณะที่ประเทศไทย ปัจจุบันปัญหา เชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะ นับเป็นอีกวิกฤตด้านสุขภาพในบ้านเรา ไม่ต่างจากโรคร้ายยอดฮิตอื่นๆ โดยจากสถิติ ทุกๆ 15 นาที พบว่ามีคนเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ที่เกิดจากเชื้อดื้อยา 1 คน หรือเฉลี่ยถึงวันละ 100 คน!เรียกว่าเป็นสัดส่วนที่ สูงเกินเกณฑ์ทั่วโลก กล่าวได้ว่าแต่ละปี คนไทยเสียชีวิตจากสาเหตุนี้อย่างน้อยปีละ 20,000 – 38,000 คน สถิติดังกล่าวสะท้อนความรุนแรงของปัญหาเชื้อดื้อยา ในประเทศไทยไม่น้อย


อย่าปล่อยให้เชื้อดื้อ(ยา) ลอยนวล thaihealth


          มายาคติคนไทย "กินยากันไว้ก่อน"


          ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี  ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวถึงสาเหตุของ ปัญหาดังกล่าวในการประชุมขับเคลื่อน แผนยุทธศาสตร์การจัดการ การดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทยสนับสนุนโดยองค์การอนามัยโลก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ว่าสาเหตุสำคัญของปัญหาเชื้อดื้อยายังคงเป็น เรื่องที่ประชาชนขาดความเข้าใจอย่างถูกต้อง ในการใช้ยา ด้วยคนไทยมักมีความเชื่อว่า ยาปฏิชีวนะเป็นยาครอบจักรวาลไม่ว่าเป็นอะไรก็กินยาแก้อักเสบ หรือขาดความเข้าใจอย่างถูกต้องจากสื่อโฆษณาและขาดองค์ความรู้เรื่องยาและสามารถเข้าถึงยาได้ง่ายเดินเข้าไปร้านชำก็สามารถซื้อยากินเองได้ โดยไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างแน่ชัด


          "แท้จริงแล้วคำว่า "ยาแก้อักเสบ" เป็นคำติดปากที่ได้ยินคนเรียกกันบ่อย และเรามักคุ้นกับความรู้ที่ว่าเจ็บคอหรือบาดเจ็บให้ทายยาแก้อักเสบกันไว้ แต่เราไม่ได้รู้ว่าบางครั้งเรากำลังเรียกยาปฏิชีวนะว่า  "ยาแก้อักเสบ" ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ ขณะเดียวกันการกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อหรือกินไม่ครบตามขนาดและระยะเวลาจะไม่ได้ผลและที่สำคัญคือจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาและหายารักษาได้ยาก เพราะในการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรียที่มากจนเกิดความจำเป็นและรักษาไม่ตรงโรค ทำให้เชื้อแบคทีเรียมีการปรับตัวและ พัฒนาตัวเองขึ้นจนกลายเป็น ซูเปอร์บัค (Super Bug) ที่ดื้อต่อยาและรักษาได้ยาก จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา ในที่สุด"


          เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยจากปัญหาเชื้อดื้อยาในประเทศไทย ทำให้ 25 องค์กร ด้านสุขภาพ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วยการ ขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย ภายในปี 2564 ด้วย "ยุทธศาสตร์ปักหมุด..หยุดเชื้อดื้อยา" ตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยจากเชื้อดื้อยาลงร้อยละ 50 ลดการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับคนร้อยละ 20 และสำหรับสัตว์ร้อยละ 30 ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและใช้ยาต้านจุลชีพเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20  ซึ่งจะเป็นขับเคลื่อนด้วย 6 มาตรการสำคัญคือ 1.การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภาพใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) 2. การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศ 3.การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม 4.การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง 5.ส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน และ 6.การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน


          เช็คพฤติกรรมตัวเองใช้ยาเวอร์ไปไหม?


          ผู้จัดการศูนย์ กพย. ให้ข้อมูลเสริมว่าจากการสำรวจพฤติกรรมการใช้ยาของคนไทยโดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา พบ 10 พฤติกรรม ที่เป็นต้นเหตุเชื้อดื้อยา คือ 1. ซื้อยาต้านแบคทีเรียมากินตามคนอื่น 2.หยุดกินยาต้านแบคทีเรียเมื่ออาการดีขึ้น กลไกลการทำงานของยา มีผลต่อเชื้อโดยตรง ไม่ได้มีผลต่อคนดังนั้น ต้องกินยาจนหมดตามที่กำหนด เพราะ เชื้อยังถูกกำจัดจากร่างกายไม่หมด  จึงเป็นเหตุให้กลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยาได้ 3.ซื้อยาปฏิชีวนะกินเองตามที่เคยได้รับ จากบุคคลากรทางการแพทย์ครั้งก่อนๆ  การกินยานั้นต้องให้ตรงกับโรคที่เป็น  ควรให้แพทย์วินิจฉัยไม่ควรไปซื้อยากินเอง 4.เคยอมยาอมที่ผสมยาปฏิชีวนะต้าน เชื้อโรค ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา เพราะเป็นการใช้ยาในขนาดที่ไม่เหมาะสมแล้วยังเป็นการใช้ยาเกินจำเป็นด้วย 5.เปลี่ยนไปใช้ยาต้านแบคทีเรียที่แรงกว่าเดิม เพราะเห็นว่ากินแล้วไม่หาย การรักษาต้องใช้เวลาพอสมควรจึงจะดีขึ้น ดังนั้นการเปลี่ยนยาที่แรงขึ้นอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้6.เคยเอายาต้านแบคทีเรียมาโรยแผล นอกจากจะเป็นการรักษาที่ผิดวิธีแล้วยังส่งผลให้แผลติดเชื้อและเชื้อในแผลพัฒนาตัวเองไปสู่การดื้อยา 7.ใช้ยาต้านแบคทีเรียผสมในอาหารสัตว์ เป็นการใช้ยาที่ผิดและไม่ได้ผล ทำให้เนื้อสัตว์ที่เรากินเข้าไปอาจจะ เป็นเนื้อสัตว์ที่ป่วยจากเชื้อดื้อยาก็เป็นได้ 8.ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่ทราบชื่อสามัญของยา พฤติกรรมนี้เสี่ยงต่อการแพ้ยาและใช้ยาไม่ตรงกับเชื้อโรคด้วย 9. ด้วยไปซื้อยาแก้อักเสบมากินเอง เพราะหากเป็นการอักเสบแบบไม่ติดเชื้อก็ไม่ควรกินยาแก้อักเสบเพื่อรักษาอาการ และ 10.การไม่แนะนำผู้ที่ใช้ยาต้านแบคทีเรียให้ใช้ยาอย่างเหมาะสมทำให้ประชาชนในสังคมขาดความรู้ในการใช้ยาและพัฒนาไปสู่การป่วยเชื้อดื้อยาได้


          เมื่อไหร่ควรใช้ปฏิชีวนะ


          ผศ.ภญ.ดร.นิยดา อธิบายต่อไปว่า  เราควรจะกินยาปฏิชีวนะเฉพาะเมื่อมีอาการเจ็บป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ และโรคติดเชื้อแต่ละชนิดมีสาเหตุจากเชื้อโรคที่แตกต่างกัน ที่สำคัญแพทย์ต้องเป็นผู้วินิจฉัยโรคติดเชื้อก่อนที่จะสั่งยาปฏิชีวนะให้กับผู้ป่วย ไม่ใช่ว่าคนใดรู้สึกป่วยแล้วคิดจะเลือกทานหรือเดินไปซื้อยาปฏิชีวนะตัวใดมากินเองได้ เราจึงไม่ควรหาซื้อยาปฏิชีวนะที่เราเผลอเรียกกันว่ายาแก้อักเสบกินเอง รวมทั้งไม่ซื้อเพื่อนำมาใช้กับสัตว์เลี้ยงหรือใช้ในการเกษตร โดยไม่ปรึกษาบุคลากรด้านสุขภาพ ไม่เรียกร้องขอยาต้านแบคทีเรียจากบุคลากรด้านสุขภาพ หรือหากได้รับการสั่งให้ใช้ยาต้านแบคทีเรีย ขอให้ซักถามบุคลากรฯ ถึงความจำเป็นในการใช้ยาต้านแบคทีเรีย วิธีการใช้ยา  ผลข้างเคียงหรือการแพ้ยา และการปฏิบัติตน ในการดูแลสุขภาพขณะใช้ยา


          โดยทุกครั้งถ้าได้รับยาต้านแบคทีเรีย ต้องรับประทานยาตามคำสั่งจนครบจำนวนและระยะเวลาที่กำหนด แม้อาการจะดีขึ้น ไม่เก็บยาไว้ใช้ต่อไป ไม่แบ่งให้คนอื่นกิน หากแพ้ยาต้องรีบพบแพทย์หรือเภสัชกรทันทีโดยนำยา ไปด้วย และไม่ใช้ยาเกินจำเป็น ที่สำคัญโรคสามโรคต่อไปนี้ไม่ได้เกิดจากแบคทีเรียจึงไม่มีประโยชน์ในการใช้ยาต้านแบคทีเรีย ได้แก่ หวัด ไอ คอแดง แต่ไม่มีจุดหนองภายในลำคอบริเวณต่อมทอนซิล เป็นการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ ตอนบนที่เกิดจากไวรัส ท้องเสียธรรมดาไม่ปวดเบ่ง ไม่มีมูกเลือด บาดแผลสะอาด เพียงทำแผลด้วยน้ำยาใส่แผลภายนอกก็พอ


          นอกจากนี้เพื่อป้องกันการเกิด แพร่ และรับเชื้อดื้อยาในรูปแบบต่างๆ ควรดูแลสุขภาพเบื้องต้นให้แข็งแรงเสมอ

Shares:
QR Code :
QR Code