ห่วง..เด็กหนีออกจากบ้านมากขึ้น
เหตุอึดอัด-น้อยใจพ่อแม่
เมื่อวันที่ 8 ม.ค.มูลนิธิกระจกเงา จัดแถลงข่าว เรื่อง “อย่า…ผลักไสให้หนูออกจากบ้าน” โดยน.ส.วรรณพร ศรีวัฒนางกูร ผจก.ฝ่ายการตลาด บริษัท แมนเพาเวอร์ฯ กล่าวว่า จำนวนผู้สูญหายที่มูลนิธิกระจกเงาได้รับแจ้งตลอดปี 2551 มีทั้งสิ้น 330 คน เป็นหญิง 236 คน ชาย 94 คน
ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 11-15 ปี 153 คน จากเดิมปี 2550 สูญหายเพียง 214 คน เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 65
สาเหตุ 3 ลำดับแรก ได้แก่
1.ถูกล่อลวงทางเพศ ร้อยละ 39
2.ออกจากบ้านด้วยความสมัครใจ ร้อยละ 23
3.โรคสมองเสื่อม ร้อยละ 8
โดยสาเหตุบุคคลสูญหายอันดับ 1 คือ ถูกล่อลวงทางเพศ แต่ที่น่าห่วงอย่างมากคือการสมัครใจหนีออกจากบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กประถม-มัธยม
ซึ่งปี 50 มีเด็กออกจากบ้านด้วยความสมัครใจเพียง 27 คน หรือร้อยละ 13 แต่ปี 51 เพิ่มขึ้นเป็น 75 คน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 ส่วนใหญ่เป็นเด็กในเขตเมืองและกว่าครึ่งเป็นเด็กในกทม.
น.ส.ธิติมา หมีปาน หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า มูลนิธิคาดการณ์แนวโน้มเด็กหนีออกจากบ้านด้วยความสมัครใจในปี 52 จะมีมากกว่า 100 คน โดยเฉพาะช่วงปิดเทอม ซึ่งจากการสอบถามเด็กที่ตามกลับบ้านได้ระบุว่า ส่วนใหญ่เพราะน้อยใจพ่อแม่ รู้สึกอึดอัดเมื่ออยู่ในบ้าน เหมือนตัวเองไม่มีตัวตน
ซึ่งเป็นผลจากพ่อแม่ ผู้ปกครองไม่มีเวลาพูดคุยกับลูก เด็กต้องปรึกษาเพื่อนหรือหนีออกจากบ้าน โดยเด็กอายุน้อยที่สุดที่พบว่าหนีออกจากบ้านเป็น ด.ช.ชาว จ.นครปฐม อายุ 10 ขวบ หนีมาอยู่สนามหลวง
เนื่องจากน้อยใจแม่ไม่ค่อยพาไปหาตายายช่วงวันหยุด เมื่อตามเด็กกลับบ้านได้หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ เด็กก็หนีออกมาอีกครั้งเพราะน้อยใจแม่ ที่ตำหนิเรื่องใช้จ่ายเงินค่าขนมมากเกินไป แต่มูลนิธิช่วยเหลือกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย
อีกรายเป็นด.ญ.อายุเพียง 12 ปี หนีออกจากบ้านย่านบางกะปิไปอยู่กับเพื่อนสนิท เพราะมีปากเสียงกับบิดาจากการคุยโทรศัพท์มือถือนาน ผ่านไป 1 สัปดาห์ เพื่อนร่วมชั้นเรียนติดต่อบิดามารับกลับบ้าน
“เด็กในปัจจุบันอารมณ์ค่อนข้างเปราะบาง เพราะพ่อแม่ ผู้ปกครองเลี้ยงลูกแบบโอ๋เกินไป เมื่อโดนดุและตำหนิ เด็กจะมองว่าทำไมต้องโดนดุด่าทั้งที่เป็นเรื่องเล็กน้อย จึงเกิดการน้อยใจและไม่อยากอยู่บ้าน ขณะนี้การหายตัวออกจากบ้านด้วยการสมัครใจ กลายเป็นแฟชั่นที่เด็กไทย แนะนำเพื่อนให้เลียนแบบเพื่อใช้เป็นวิธีการต่อรองสิ่งที่ต้องการกับพ่อแม่” น.ส.ธิติมากล่าว
น.ส.ธิติมากล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาเรื่องเด็กหนีออกจากบ้าน ได้แก่
1.ผู้ปกครองควรหากิจกรรมทำร่วมกันกับบุตรหลาน
2.ผู้ปกครองควรให้เด็กมีส่วนร่วมตัดสินใจ แสดงความคิดเห็น
3.กระทรวงศึกษาฯควรบรรจุหลักสูตรเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบันเพื่อเตรียมความพร้อมกับเด็ก เมื่อต้องออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านและโรงเรียน
4.ตำรวจควรจัดทำฐานข้อมูลคนหายให้เป็นระบบเดียวกัน
5.ตำรวจควรผลักดันให้เกิดกฎหมายวิธีพิจารณาความคนหาย เนื่องจากปัจจุบันคดีคนหายไม่ได้เป็นคดีอาญา ทำให้ตำรวจสับสนในอำนาจหน้าที่
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update 09-01-52