หวั่นวัยรุ่นเลียนแบบพฤติกรรม

ฆ่าตัวตายผ่านแคมฟรอกซ์

 หวั่นวัยรุ่นเลียนแบบพฤติกรรม

          กรมสุขภาพจิตหวั่นวัยรุ่นเลียนแบบพฤติกรรม ฆ่าตัวตายผ่านแคมฟรอกซ์แนะควรอยู่โลกออนไลน์ไม่เกิน 3 ชม.ต่อวัน และหันทำกิจกรรมอื่นๆ เน้นพบปะผู้คน สร้างสมดุลชีวีต พร้อมห่วงคนดูแคมฟรอกซ์ฆ่าตัวตาย เกิดบาดแผลในใจ

          นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การฆ่าตัวตายผ่านแคมฟรอกซ์เป็นตัวอย่างชี้ว่าคนในปัจจุบันอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น และการที่คนเราจมอยู่กับโลกออนไลน์มากไปทำให้ขาดการปฎิสัมพันธ์กับคนอื่น ทำให้มีการจัดระบบความคิด การแก้ไขปัญหา และการจัดการความเครียด ซึ่งคนรอบตัวอย่างพ่อแม่และคนรอบข้างต้องคอยเตือนไม่ให้ลูกหลานใช้เวลากับโลกออนไลน์มากเกินไป ซึ่งโดยเฉลี่ยควรอยู่ในระดับ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน โดยเวลาที่เหลือควรหันไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อพบปะกับผู้คน ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลของชีวิตได้ แต่จากข้อมูลที่ได้ประสานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) พบว่า ปัจจุบันคนไทยใช้เวลากับโลกออนไลน์มากขึ้น

          ขณะนี้พบว่าคนไทยใช้เวลาในระบบออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นใช้เวลาออนไลน์เกินวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งบางกลุ่มเป็นแค่การทำการบ้าน แต่ส่วนใหญ่พบว่าจะเป็นการเล่นเกม รวมถึงการพูดคุย การแสดงความเห็น ความรู้สึก เช่น อาการท้อแท้และความเครียด แต่ความจริงแล้วคนที่มีอาการซึมเศร้านั้น จะต้องการหาสิ่งแปลกใหม่ และความตื่นเต้นจึงเข้าไปในโลกออนไลน์ เพื่อมองหากำลังใจ แต่ปรากฏว่ากลับไปเจอคนที่อยู่ในกลุ่มอาการซึมเศร้าเดียวกัน จึงทำให้เกิดปัญหาอย่างที่เห็น อย่างการฆ่าตัวตายผ่านแคมฟรอกซ์อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว และว่า สำหรับการเข้าไปตรวจสอบเว็บไซด์ดังกล่าว พบว่าขณะนี้ได้มีการปิดตัวลงไปแล้ว นอกจากนี้ยังได้ส่งทีมสุขภาพจิตไปเยี่ยมเยียนครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่ จ.นครสรรค์ เพื่อทำความเข้าใจ และหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ทั้งนี้เพื้อนำมาวิเคราะห์ และหาทางป้องกันต่อไป

          นพ.อภิชัย กล่าวว่า ทั้งนี้จากข้อมูลการฆ่าตัวตาย พบว่าปัจจุบันอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยลดลง จาก 10 ปีที่แล้วอยู่ที่ 16 คนต่อวัน เหลือเพียง 10 คนต่อวัน แต่ก็ยังถือเป็นถือเป็นสถิติที่สูงอยู่ เพราะเมื่อรวมตลอดปี 2552 ที่ผ่านมา พบว่า มีคนฆ่าตัวตายกว่า 3,600 คน แต่ที่เป็นข่าวคือคนที่มีชื่อเสียง หรือมีวิธีการฆ่าตัวตายแบบแปลกๆ

          นอกจากนี้ นพ.อภิชัย ยังได้กล่าวเป็นห่วงกรณีการฆ่าตัวตายผ่านแคมฟรอกซ์ว่าอาจทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบได้ เพราะเมื่อมีคนเข้าไปดู เห็นรายละเอียดต่างๆ แม้ว่าจะมีสภาพปัญหาที่ประสบเจอต่างกัน แต่ก็อาจทำให้เกิดอารมณ์ร่วมและเดินตามแบบอย่างได้เช่นกัน อีกทั้งยังเป็นห่วงคนที่เข้าไปดูแคมฟรอกซ์ฆ่าตัวตายดังกล่าว เพราะอาจเกิดบาดแผลทางใจตามมา เช่น รู้สึกไม่ดี รู้สึกผิดที่ไม่สามารถช่วยเหลือเขาได้ ก็จะเป็นปมในใจ และหากในอนาคตบุคคลดังกล่าวเจอปัญหาหนักๆ อาจตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าและอาจหาทางออกในรูปแบบเดียวกัน ฉะนั้นอยากเตือนว่า หากใครที่เกิดอาการดังกล่าวขอให้รีบปรึกษาบุคคลใกล้ชิด หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ซึ่งจะช่วยให้คำปรึกษาหาทางออกอื่นๆ ได้

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

update:09-12-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code