หมอไทยเจ๋ง! ใช้สเต็มเซลล์เพาะเซลล์กระดูกอ่อนสำเร็จ

เผยค่ารักษาถูกกว่าต่างชาติ 90%

 หมอไทยเจ๋ง! ใช้สเต็มเซลล์เพาะเซลล์กระดูกอ่อนสำเร็จ

            หมอไทยเจ๋งใช้สเต็มเซลล์กระดูกร่วมกับเพาะเซลล์กระดูกอ่อนสำเร็จครั้งแรกในไทย แถมใช้เทคนิคเพาะเซลล์กระดูกอ่อนได้ครั้งแรกในไทยด้วย รักษาแล้วกว่า 10 รายได้ผลดี ค่ารักษาถูกกว่าต่างชาติ 90%

 

            รศ.นพ.ชาญณรงค์ เกษมกิจวัฒนา อาจารย์ประจำวิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ มศว ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี วิจัยการผ่าตัดปลูกถ่ายเซลล์กระดูกอ่อน (เอซีไอ) ร่วมกับการใช้เซลล์ต้นกำเนิด(สเต็มเซลล์) เพื่อใช้รักษาภาวะปวดข้อเข่าก่อนเกิดภาวะโรคข้อเข่าเสื่อมได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของโลกด้วย โดยได้รับทุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

            “คงไม่สามารถบอกได้ว่าการวิจัยครั้งนี้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก เพราะยังไม่พบงานวิจัยในวารสารต่างประเทศ แต่คาดว่า ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็วิจัยเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งการวิจัยนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2550 ผ่าตัดคนไข้มาแล้วกว่า 10 ราย โดยวิธีการดังกล่าวเป็นการผสมผสานขั้นตอนการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ที่เก็บได้จากการเก็บจากไขกระดูกที่บริเวณสะโพกของผู้ป่วยรายนั้นๆ มาเพาะสเต็มเซลล์กระดูก ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ มารวมกับเทคนิคเอซีไอที่ใช้ในปัจจุบันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศมานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ในไทยเพิ่งทำสำเร็จครั้งแรกในปี 2549 คือ การนำเซลล์กระดูกอ่อนจากข้อทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นข้อเข่า ข้อหัวไหล่ สะโพก เท้า ฯลฯ นำมาเพาะเลี้ยงเซลล์ในโครงสร้างสามมิติให้เซลล์ขยายจำนวน แล้วนำกลับมาแปะในบริเวณข้อกระดูกที่เกิดความเสียหาย ส่วนใหญ่จะเป็นกระดูกข้อเข่า ทั้งนี้ วิธีใหม่โดยนำเซลล์ที่ได้จาก 2 วิธีนำมารวมกันฉีดกลับเข้าไปข้อเข่าของผู้ป่วย สำเร็จครั้งแรกเมื่อปี 2551 รศ.นพ.ชาญณรงค์ กล่าว

 

            รศ.นพ.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า ข้อบงชี้สำหรับวิธีเอซีไอนั้น ใช้สำหรับผู้ป่วยที่บาดเจ็บที่กระดูกข้อเข่าไม่รุนแรงอาจจะเกิดจากการประสบอุบัติเหตุ หรือเล่นกีฬา มีแผลที่กระดูกอ่อนไม่เกิน 2 ตารางเซนติเมตร อีกทั้งอายุผู้ป่วยไม่เกิน 45-50 ปี ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงกว่านี้ จากการวิจัยทดลองใช้วิธีใหม่นี้พบว่า เหมาะสมมากกว่าวิธีเอซีไอ ซึ่งขณะนี้วิธีใหม่นี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการวิจัยติดตามผลอาการ เบื้องต้นผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ บางรายสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าวิธีใดดีกว่ากัน เพราะขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของคนไข้แต่ละราย อย่างไรก็ตาม ต้องใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นประมาณ 9-12 เดือนกว่าจะเป็นปกติ

 

            รศ.นพ.ชาญณรงค์ กล่าวต่อด้วยว่า สำหรับค่าใช้จ่ายด้วยวิธีการรักษาด้วยเทคนิคใหม่นั้นไม่แตกต่างกันกับวิธีเอซีไอมากนัก โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3-4 หมื่นบาท ซึ่งถือว่าเป็นเพียง 10%ของค่าใช้จ่ายที่ใช้ในต่างประเทศประมาณ 3-4 แสนบาท เพราะสามารถเพาะเลี้ยงเซลล์กระดูกอ่อนได้ในประเทศไทยเอง แต่ในการวิจัยผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะได้รับการสนับสนุนจากสกว. นอกจากนี้ยังสามารถประหยัดการนำเข้าข้อเข่าเทียมที่เป็นโลหะที่ในแต่ละปีไทยมีมูลค่ามากถึงหลักพันถึงหมื่นล้านบาท และมีอายุการใช้งาน 5-10 ปี เท่านั้นด้วย

 

            แม้ว่างานวิจัยสเต็มเซลล์เกี่ยวกับกระดูกอ่อนยังไม่เป็นที่มาตรฐานในการรักษาโรค แต่มีงานวิชาการรองรับว่า การนำสเต็มเซลล์กระดูกไปใช้แล้วเซลล์ที่ได้จะเป็นเซลล์กระดูกไม่เป็นอวัยวะอื่นแน่นอน อีกทั้ง กระดูกอ่อนทำหน้าที่เพียงแผ่นรองรับน้ำหนักการยืดหยุ่นของร่างกายเท่านั้น ไม่มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่านั้นเหมือนอวัยวะอื่นที่กำลังศึกษากันอยู่ งานวิจัยเรื่องดังกล่าวที่นำมาสเต็มเซลล์เข้ามาเกี่ยวข้องขณะนี้ได้ลงในงานวารสารทางการแพทย์ภายในประเทศบ้างแล้ว แต่ในต่างประเทศกำลังอยู่ระหว่างการนำเสนอผลงานรศ.นพ.ชาญณรงค์ กล่าว

 

            นางอารีย์ พลปัดพี อายุ 49 ปี คนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดด้วยวิธีเอซีไอ กล่าวว่า ประสบอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ปี 2529 แต่ไม่มีอาการจนเมื่อปี 2549 ได้ออกกำลังกาย ด้วยการเต้นแอโรบิก จึงมีอาการปวดบวม ที่หัวเข่า จึงเข้ารับการรักษาและพบว่า เบ้ากระดูกหัวเข่าแตกและเยื่อกระดูกอ่อนหายไป อาการก่อนหน้าที่จะผ่าตัด เดินแทบไม่ได้ และเจ็บตลอดเวลา แต่เมื่อรับการผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าว ทำให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถเดินและเริ่มออกกำลังกายเบาๆได้ โดยไม่มีอาการเจ็บ หรือปวดหัวเข่าแต่อย่างใด เมื่อเอ็กซเรย์ล่าสุด ก็พบว่า ขณะนี้กระดูกอ่อนบริเวณหัวเข่าขึ้นมาจนเต็มเหมือนเดิมแล้ว

 

            นายกิตติพัฒน์ ศรีมาก ผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีเอซีไอ กล่าวว่า ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ก่อนผ่าตัดเดินก็เจ็บ และไม่สามารถเล่นกีฬาได้ ขณะนี้รับการผ่าตัดมาครบ 1 ปี แล้ว ความรู้สึกเจ็บที่หัวเข่าจนถึงขณะนี้ไม่มีแล้ว สามารถเดินได้ปกติ และเล่นกีฬาเบาๆ ได้ เพียงแต่ต้องหลีกเลี่ยงกีฬาที่มีการปะทะอย่างรุนแรง รู้สึกดีที่ทำให้คุณภาพชีวิตกลับมาเป็นปกติได้

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์

 

 

 

update 14-05-51

 

 

 

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code