หมอผู้ดีรักษาหัวล้านด้วยเทคนิคใหม่
เผยทดลองเบื้องต้นได้ผลดีคาดอีก 5 ปีได้ใช้จริง
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่านักวิจัยในประเทศอังกฤษกำลังทดลองปลูกผมใหม่ให้กับคนที่มีปัญหาหัวล้านด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเซลล์และปลูกถ่ายทั้งนี้คาดว่าจะสามารถกลายมาเป็นทางเลือกใหม่ในการักษาปัญหาหัวล้านที่ได้ผลดีกว่าเดิม
เทคนิคการรักษาแบบใหม่ที่กำลังทำการทดลองอยู่ในขณะนี้คือการใช้เซลล์เส้นผมที่หลงเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยนำมาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ขึ้นอย่างทวีคูณจากนั้นถึงนำไปฉีดเข้าที่บริเวณที่มีปัญหาหัวล้าน
การทดลองผ่านมาแล้วเป็นเวลา 6 เดือน และผลการทดลองเบื้องต้นปรากฏว่าผู้ป่วยที่เข้าร่วมการทดสอบ 11 จากทั้งหมด 19 คนมีผมใหม่งอกออกมา โดยผลการทดลองเบื้องต้นนี้ถูกนำเสนอต่อการประชุมวิชาการในประเทศอิตาลี่
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญในประเทศอังกฤษกล่าวว่าการวิจัยรักษาหัวล้านด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์และปลูกถ่ายเซลล์นี้ยังคงต้องดำเนินต่อไปอีกเพื่อติดตามดูว่าในระยะยาวแล้วจะยังได้ผลดีอยู่หรือเปล่า ส่วนปัญหาเรื่องหัวล้านนั้นมักจะพบในผู้ชายจำนวน 2 ใน 5 ในคนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป นอกจากนี้แล้วหัวล้านยังอาจเกิดได้กับคนไข้ที่รับการรักษาด้วยรังสี หรือว่าถูกไฟไหม้
ส่วนวิธีการปลูกถ่ายเส้นผมที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นลักษณะของการนำเอากลุ่มเซลล์ในรูขุมขนในปริมาณมากที่หลงเหลืออยู่เพื่อย้ายไปปลูกถ่ายในบริเวณที่ต้องการโดยต้องใช้ยาชาเฉพาะที่ในระหว่างการรักษา ซึ่งเทคนิคการรักษานี้จะสำเร็จดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของเส้นผมที่เหลืออยู่ เนื่องจากว่าศีรษะของคนหัวล้านไม่สามารถสร้างเส้นผมใหม่ได้อีกแล้ว
แต่สำหรับวิธีการรักษาแบบใหม่ที่กำลังทดลองอยู่นี้มีชื่อเรียกว่าการปลูกถ่ายเซลล์โฟลลิคูลาร์ (follicular cell implantation) โดยเป็นเทคนิคที่พัฒนาขึ้นมาโดยบริษัทอินเตอร์ไซเท็กซ์ของประเทศอังกฤษ
ผู้พัฒนาระบุว่าเทคนิคการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์นี้เป็นเทคนิคที่สามารถสร้างเซลล์เส้นผมทดแทนให้ได้อย่างไม่มีขีดจำกัดและหากการทดลองเพิ่มเติมยืนยันว่าเทคนิคการรักษาหัวล้านด้วยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์นี้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดีคาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้จริงในอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า
สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการปลูกถ่ายเซลล์รักษาหัวล้านนั้น แพทย์จะนำเอาเฉพาะเซลล์เดอมอล พาพิลลา (dermal papilla cells) ที่อยู่ในรูขุมขนและมีความเกี่ยวข้องกับการเจริญของเส้นผมมาในจำนวนเล็กน้อยเท่านั้นโดยนำมาจากบริเวณท้ายทอยของคนหัวล้านที่มักจะมีเส้นผมเหลืออยู่เยอะที่สุด จากนั้นจึงนำไปผ่านกระบวนการในห้องปฏิบัติการก่อนนำไปปลูกถ่ายให้คนไข้
และถึงแม้ว่าจะยังเป็นผลการทดลองในเบื้องต้นและยังทดลองในคนจำนวนที่ยังไม่มากแต่ผลการทดลองเบื้องต้นได้ทำให้เกิดความหวังขึ้นมาว่าวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ที่เพาะเลี้ยงนี้ได้ผลดีในคนไข้แทบทุกคนในช่วงเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้นเอง
ที่มา : สำนักข่าวต่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
update 04-06-51