“หมอประเวศ” แนะ 5 แนวทางปรับทิศ “สื่อสร้างสรรค์”

 

มหกรรมรู้เท่าทันสื่อ ครั้งที่ 1 ตอน
 
ที่ห้องประชุม เจเจ ฮอลล์  ห้างสรรพสินค้า เจเจมอลล์ เครือข่ายเท่าทันสื่อประเทศไทย  แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.)  มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม มหกรรมรู้เท่าทันสื่อ ครั้งที่ 1 ตอน “ไทย – ทัน  – สื่อ” โดยมีนักวิชาการ เครือข่ายภาคสังคม นิสิต นักศึกษา เด็กและเยาวชน เข้าร่วมกว่า 300 คน
 
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง เท่าทันสื่อสู่การปฏิรูปประเทศไทย  ว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญวิกฤติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนตัวคิดว่าทางออกของวิกฤติดังกล่าว คือ การใช้สติปัญญา และไม่ใช้ความรุนแรง ขณะเดียวกันเรากำลังตกอยู่ในระบบบริโภคนิยม  สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องคิดหาวิธีทำให้ประเทศไทยมีสื่อที่สร้างสรรค์มากขึ้น มีขั้นตอนและกระบวนการผลิตสื่อที่สร้างสรรค์ ซึ่งคงไม่ใช่เพียงแต่กำหนดนโยบายรัฐบาลเท่านั้น แต่ต้องนำไปสู่การลงมือปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริงด้วย โดยอาจรวมกลุ่มผู้สนใจในการผลิตสื่อสารสร้างสรรค์เป็นประจำอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อหารือในประเด็นดังนี้ 1. มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ รวมตัวกัน ดึงนิสิต นักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์  ติดตามและประเมินสื่อ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ 2. สถาบันการศึกษา จัดทำหลักสูตรวิชาการคัดกรอง วิเคราะห์ข่าวสาร เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักวิเคราะห์ และแยกแยะ 3.มีการผลิตสื่อดี มีประโยชน์  ให้สามารถเผยแพร่ออกอากาศทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ได้ 4. จัดตั้งสถาบันส่งเสริมและพัฒนารองรับการผลิตนักข่าว นักสื่อสารมวลชน และ 5.ทางสถานีโทรทัศน์ ก็ควรมีการร่วมมือกันในการพัฒนาคนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส
 
“ขณะนี้มหาวิทยาลัย มักใช้วิชาเป็นตัวตั้ง จนมองไม่เห็นสังคม ทั้งที่จริงๆ แล้ว มหาวิทยาลัยมีศักยภาพที่จะสามารถสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นได้อีกมาก ดังนั้นเมื่อรัฐบาลได้ประกาศนโยบาย 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด น่าจะช่วยบูรณาการส่งเสริมการศึกษาให้คนในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น”  ราษฎรอาวุโส กล่าว
 
ด้าน รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. เปิดเผยว่า สสส.ตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านสังคม จึงได้สนับสนุนให้เกิดแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน เพื่อให้เกิดกลไกในการทำงานที่ชัดเจนด้านเด็ก และเยาวชน โดยเฉพาะกลไกการเรียนรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างมากในการสร้างเยาวชนให้เติบโตเป็นพลเมืองที่รู้เท่าทัน สามารถแยกแยะข้อมูลได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ตกเป็นเหยื่อสื่อและการบริโภค โดยเฉพาะเยาวชนกลุ่มก่อนวัยรุ่น (Pre-Teen) อายุ 9-14 ปี เป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ หากส่งเสริมเรื่องกระบวนการคิด วิเคราะห์ ก็สามารถเติบโตเป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่อยากส่งเสริมให้เด็กไทยรอบรู้ และคิดวิเคราะห์เป็น
 
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส
 
“กระบวนการรู้เท่าทันต้องอาศัยการดำเนินงาน 2 ส่วนหลักๆ คือ 1.การผลักดันให้เกิดหลักสูตร “รู้เท่าทันสื่อ” เพื่อเตรียมสร้างรากฐานให้แก่เด็กตั้งแต่วัยเรียน และ 2.จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนทั่วประเทศ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ซึ่ง สสส. ได้วางเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2554 จะสนับสนุนให้เกิดโรงเรียนต้นแบบ 1,000 แห่ง และศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบ 1,000 แห่งทั่วประเทศ” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว
 
ด้าน น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการ สสย. กล่าวว่า ผลวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์การบริโภคสื่อของเด็กไทย พบว่า มีการบริโภคสื่อโดยเฉลี่ย 7-8 ชั่วโมง/วัน โดยใน 1 ชั่วโมง มีโฆษณาที่ปรากฏในสื่อโทรทัศน์ เฉลี่ย 42 ครั้ง/ชั่วโมง  คิดเป็นเวลาประมาณ 20 นาที  สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ  ทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ บริโภคขนมกรุบกรอบ และน้ำอัดลม ตามโฆษณามากที่สุด และมีแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่า  โดยเด็กใช้เงินเพื่อซื้อขนมบริโภคเฉลี่ย 9,800 บาท/ปี มีจำนวนมากกว่าค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่มีเพียง 3,000 บาท/ปี  นอกจากนั้นเนื้อหาของสื่อสมัยใหม่เต็มไปด้วยความรุนแรง มีการให้ข้อมูล และสร้างค่านิยมที่ไม่เหมาะสม แฝงไว้ด้วยการปลูกฝังอคติ ให้ข้อมูลบทบาทชายหญิงไม่เท่าเทียม เมื่อเด็กและเยาวชนเสพสื่อดังกล่าวมากขึ้น ก็จะเกิดการปลูกฝังให้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมตามมา เช่น การใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาเพิ่มมากขึ้น  และมีสถิติจำนวนของเด็กที่เข้าสถานพินิจเพิ่มมากขึ้นด้วย
 
 น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการ สสย.
 
“สิ่งที่เราเป็นห่วงอีกประการหนึ่งที่กลายเป็นปัญหาสังคมทุกวันนี้ คือการที่เด็กได้ซึมซับค่านิยมทางเพศแบบผิดๆ โดยเฉพาะในเรื่องเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ทำให้เด็กไทยจำนวนมากเป็นแม่ตั้งแต่ยังไม่มีความพร้อม  หรือหาทางออกด้วยการทำแท้ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเสพสื่อที่ส่งผลให้เกิดการยั่วยุทางเพศ” ผู้จัดการ สสย.  กล่าว
 
 
 
 
 
 
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ