หมอนวดผ้าขาวม้า ภูมิปัญญาเมืองสองแคว
“ผ้าขาวม้า” อาภรณ์อเนกประสงค์ รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนวกกับการมัด “ลูกช่วง” การละเล่นพื้นบ้านเทศกาลสงกรานต์ไทย เกิดเป็น “หมอนวดผ้าขาวม้า” สิ่งประดิษฐ์แก้ปวดเมื่อย คลายเส้นจากภูมิปัญญาไทยแท้ ของพ่อเฒ่าเมืองสองแคว จังหวัดพิษณุโลก
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดกิจกรรม “หมอนวดผ้าขาวม้า นวดง่ายๆ ได้ทุกที่” ภายใต้งาน “สวัสดิการสังคมดี ด้วยสังคมสุขภาพดี” ที่จัดขึ้น ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา มีนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน
นายวิทยา กล่าวว่า โดยปกติคนไทยใช้ผ้าขาวม้าในกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว ทั้งเป็นเครื่องนุ่งห่ม ทำเปลไกวให้บุตรหลาน ใช้นุ่งอาบน้ำ ซึ่งการนำผ้าขาวม้ามาประยุกต์เป็น หมอนวดผ้าขาวม้า นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ดี ช่วยเติมเต็มปัญหาด้านสุขภาพของชุมชน เนื่องจากสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะการดูแลร่างกายจากอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อันมีสาเหตุมาจากการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งยังเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องนั่งประชุมนานๆ ผู้ที่นั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ซึ่ง หมอนวดผ้าขาวม้า นับเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน ช่วยดูแลสุขภาพ ที่เกิดจากกลุ่มคลังปัญญาผู้สูงอายุ ต.วังน้ำคู้ จ.พิษณุโลก สามารถนำไปใช้ได้ทุกที่ วิธีการนวดก็ทำได้ง่ายๆ และราคาย่อมเยาอีกด้วย
นายจำรัส ตักเตือน ต้นตำรับหมอนวดผ้าขาวม้าได้บอกเล่าความเป็นมาว่า เริ่มจากตอนหนุ่มๆ คุณพ่อได้สอนวิธีการมัด “ลูกช่วง” ผ้าม้วนเป็นลูกกลมๆ ใช้ในการละเล่นในเทศกาลสงกรานต์สมัยก่อนให้ จึงเก็บเป็นความรู้ติดตัวไว้ จนได้นำมาใช้ประโยชน์จริงๆ ในปี 2549 คือช่วงที่ย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิด หลังจากทำงานที่กรุงเทพฯ มา 20 ปี ก็ปลูกบ้านเอง เริ่มตั้งแต่ตีผัง ขุดหลุม มัดเหล็ก เทคาน ฉาบปูนทำเองทั้งหมด จนทำให้เกิดอาการเสียวสันหลังขึ้น ปรากฏว่าเส้นจม ได้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหลายครั้ง สุดท้ายแพทย์ได้แจ้งว่าต้องทำการผ่าตัด เพราะอาการหนักมาก เท่านั้นยังไม่พอ ลุงยังได้ไปหาหมอนวดจับเส้น แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น กลับทรุดหนักลง ถึงขนาดไม่สามารถถูสบู่ หรือแปรงฟันเองได้ เดือดร้อนไปทั้งครอบครัว
“เป็นเวลากว่า 8-9 เดือน ที่ลุงต้องทรมานกับอาการปวดหลัง ลุงจึงได้ย้อนคิดไปถึงลูกช่วงที่เคยทำสมัยหนุ่มๆ โดยนำผ้าขาวม้ามามัด และขดหางของผ้าเป็นปมเอาไว้กดจุดที่ปวด เกิดเป็นผ้าขาวม้าหมอนวดขึ้น ลุงใช้หลักว่าตรงไหนที่กดลงไปแล้วปวด แสดงว่าจุดนั้นมีปัญหา ให้กดย้ำบ่อยๆ ค่อยๆ คลึงไปรอบบริเวณจุดที่ปวด จนกว่าจะรู้สึกเป็นปกติ แสดงว่าหาย แต่หากจุดไหนกดแล้วยังปวดอยู่ ปวดลึกๆ ปวดที่เส้นแสดงว่าจุดนั้นยังมีปัญหา ลุงก็นวดไปเรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ จึงหายเป็นปกติ จากนั้นจึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ แก่ลูกหลาน ผู้ที่สนใจ คนในหมู่บ้าน ชุมชนต่างๆ ประจวบกับ สสส.ได้เข้าไปทำโครงการสร้างสานพลังท้องถิ่น ท้องที่ ชุมชน ขับเคลื่อนสู่ตำบลสุขภาวะ ลุงจึงได้ไปเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับคนต่างตำบล ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ที่เขามาอบรมดูงานกัน”
ลุงจำรัส ได้บอกเล่าถึงผลสะท้อนของผู้ที่มาอบรมอีกว่า มีรายหนึ่งเป็นคนขับรถบรรทุก ขับรถมานานจนหลังค่อม ไม่สามารถนั่งกับพื้นได้ ลุงก็นวดให้เขาประมาณครึ่งชั่วโมง ก็สามารถนั่งได้ งอเข่าได้ ส่วนอีกรายมาจากไกรนอก จังหวัดสุโขทัย ได้นำหมอนวดผ้าขาวม้าไปนวดให้แก่คุณแม่ที่เป็นอัมพฤกษ์ จากที่รักษาตัวมาเป็นเวลานาน พาไปรักษาที่ไหนก็ไม่หาย ก็ปรากฏว่าหาย เดินได้ ไม่ต้องเสียค่ายา ค่ารักษาอีก ลุงจึงได้รู้ว่านอกจากจะช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยคลายเส้นแล้ว ยังสามารถรักษาอาการอัมพฤกษ์อัมพาตได้ด้วย เพราะฉะนั้นข้อดีของผ้าขาวม้าหมอนวดคือ 1.ไม่ต้องกินยา 2.ไม่ต้องผ่าตัด 3.ไม่ต้องเสียเงินค่าหมอนวด และ4.สามารถบรรเทาอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
หมอนวดผ้าขาวม้า ภูมิปัญญาคนไทย ใช้ได้ทุกเพศ ทุกวัย นวดง่ายๆ ได้ทุกที่
ที่มา: ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน Teamcontent www.thaihealth.or.th