หนุนใช้สารพัดสื่อ ต้านภัยอ้วนเยาวชน

“เด็กไทย…” หลายคนไม่ได้กินอาหารเช้า ขณะที่บางคนอาจจะทานก็จริงแต่ไม่ได้คุณภาพ นอกจากนี้ยังมีผู้คนมากมายในสังคมกิน-ดื่มรสชาติหวาน มัน เค็มจัด แถมยังปฏิเสธรับประทานผัก ผลไม้ ละทิ้งอาหารไทยไปนิยมอาหารจากต่างชาติ โดยไม่รู้โทษที่สะสมเข้ามาในร่างกาย นำมาซึ่งความอ้วนและบ่อเกิดสารพัดโรคร้าย


หนุนใช้สารพัดสื่อ ต้านภัยอ้วนเยาวชน thaihealth


สิ่งเหล่านี้คือความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก จากสถิติพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเพิ่มจำนวนเด็กอ้วนเร็วที่สุดในโลก


ที่ผ่านมา อ.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัยและอุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ภาคีของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ย้ำมาตลอดว่า สาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาโรคอ้วนในเด็กไทย คือ พฤติกรรมบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารขยะ (Junk food) และน้ำอัดลม เป็นต้น พฤติกรรมบริโภคของเด็กส่งผลถึงประสิทธิภาพในการเรียน สติปัญญา และคุณภาพพลเมืองในอนาคต ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ


โดยสถานการณ์ดังกล่าว ถ้ายังปล่อยให้เด็กอ้วนโดยไม่มีการควบคุมดูแล จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อ้วนถึงร้อยละ 30 ถ้าหนุนใช้สารพัดสื่อ ต้านภัยอ้วนเยาวชน thaihealthปล่อยให้อ้วนไปเรื่อยๆ เด็กเหล่านี้จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อ้วนถึงร้อยละ 80 แล้วพอผู้ใหญ่อ้วนนั้นก็จะมีโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ตามมามหาศาล โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ หลอดเลือด ทำให้ประเทศสูญเสียเงินทองมากมายเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเหล่านี้ เป็นการทำลายเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิง


จากการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. บอกว่า ในสถานการณ์ที่สังคมมีปัญหาเรื่องโรคอ้วน ปัญหาที่ดูเหมือนเล็กๆ แต่คนในสังคม โดยเฉพาะเด็ก ยังคงตกเป็นเหยื่อของโรคนี้อยู่


เมื่อเด็กก็คือเด็ก เราจึงได้รณรงค์โดยใช้การ์ตูนเป็นสื่ออย่าง “อ้วนแล้วไปไหน?” หนังสือรวมผลงานนักเขียนการ์ตูนภายใต้โครงการ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” มีการ์ตูนที่เป็นผลงานจากการประกวดรวมอยู่ในเล่มมากถึง 12 เรื่อง โดยทั้งหมดล้วนเป็นพลังของงานศิลปะที่นักวาดการ์ตูนได้รังสรรค์ขึ้นมา อาทิ เรื่อง OBECITY ของวิรุตม์ บัวชื่น, เรื่องอ้วนแล้วไปไหน ของลลิตา คูณสมบัติ, เรื่องที่หนึ่งในใต้หล้า ของอรรถชัย ดาดี, เรื่องแมวอ้วน ของชนาทร สุภาพ


เรื่องอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ของดารายา บัวทอง, เรื่อง My cute little boy ของธัญนันท์ จิระสถิตวรกุล, เรื่อง FAT fast attack titan ของวีระชาติ ชนรกุล, เรื่องตุ๊ต๊ะ ของวรพรต ก่อเจริญวัฒน์, เรื่อง Family 3+1 ครอบครัวไม่กลัวอ้วน ของอากาศ ใหญ่โคกกรวด, เรื่อง CHUBBY BABY ลูกไม่อ้วนหรอกจ๊ะ ของธัญนันท์ จิระสถิตวรกุล, เรื่อง Dinner Fighting ของจินต์ จิรากูลสวัสดิ์ และเรื่องในวันที่ฉันอ้วน ของศุภชัย จิรคุปต์


ทั้ง 12 เรื่องนี้ เนื้อเรื่องที่นำเสนอนั้นล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เรานึกไม่ถึงว่านี่ทำให้เกิด “โรคอ้วน” เหรอ? เมื่อนำเรื่องราวที่หนักมาเสนอผ่านการ์ตูนเชื่อว่าจะส่องสว่างเข้าไปในใจของคนที่จะได้อ่าน เมื่ออ่านไปเนื้อหานั้นๆ จะบอกเราได้ว่า “คุณจะทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าภายใต้รูปร่างอ้วนจ้ำม่ำ น่ารักน่าชังของลูกหลาน มีภัยเงียบซ่อนอยู่” ความรู้ที่มีนี้เป็นประโยชน์ต่อการนำไปปฏิบัติอย่างยิ่ง


เฉกเช่นเดียวกับคลิปโฆษณาออนไลน์ 12 เรื่องที่ได้หยิบยกมุมมองต่างๆ มานำเสนอให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวว่า “โรคอ้วน” ร้ายกาจอย่างไร? ด้วยการนำเสนอแบบง่ายๆ เพื่อสื่อสารกับสังคม ให้ผู้ที่ได้ชมกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองได้ว่า พฤติกรรมที่มองว่าเด็กจ้ำม่ำคือเด็กสมบูรณ์นั้น แท้ที่จริงแล้วภายใต้ความน่ารักนั้นมีโรคร้ายกำลังคุกคามเด็กเหล่านั้นอยู่จริง


อย่างคลิปโฆษณาเรื่อง “โรคซ่อนแอบ” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศพร้อมทั้งรางวัล Professional Vote รางวัลที่ได้ครีเอทีฟในวงการโฆษณามาโหวตให้ สร้างสรรค์โดยทีม “One Man Show” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม


นายกริช โตวิวัฒน์ หนึ่งในสมาชิกของทีม “One Man Show” บอกว่า คลิปโฆษณาที่ทีมนำเสนอนั้นเป็นการดึงเอาโรคร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะความอ้วน อาทิ โรคเบาหวาน ไขมันอุดตัน ความดัน หัวใจ หลอดเลือด หรือแม้แต่อัมพาต ผ่านคำถามว่า “รู้ไหม ลูกคุณเล่นอยู่กับอะไร?”


โดยเนื้อเรื่องจะเดินเรื่องด้วยเด็กอ้วนหน้าตาน่ารักกำลังหาอะไรบางอย่างอยู่ภายในบ้าน… แต่แล้วสิ่งที่เด็กคนนี้กำลังตามหาหรือเล่นอยู่ด้วยนั้นไม่ใช่เพื่อน ไม่ใช่พ่อแม่ ผู้ปกครอง แต่เป็นโรคร้ายต่างๆ ที่สามารถส่งผลให้เจ็บป่วย และเมื่อเด็กคนดังกล่าวโดน “อัมพาต” จับได้ ก็คือ จบเกม!! หมายความว่าความอ้วนได้คร่าชีวิตเด็กไปแล้วเพราะ “โรคซ่อนแอบ” ที่กำลังเล่นอยู่กับสุขภาพของเด็ก ที่ผู้เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง พยายามยัดเยียดให้ด้วยความเชื่อผิดๆ ที่ว่า เด็กอ้วนคือเด็กสมบูรณ์ เด็กน่ารัก นั่นเอง


ด้าน นายมานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกเสริมว่า การดึงเด็กและเยาวชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากค่านิยมของผู้ปกครองมาร่วมการสร้างสื่อเพื่อมาสื่อสารกับสังคม จึงเป็นประเด็นในการรณรงค์ที่แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้สนับสนุนและเห็นความสำคัญ เพราะด้วยความจริงที่ว่า “เด็กในวัยเดียวกันจะสามารถเป็นผู้ที่ส่งสารเพื่อสื่อกับคนวัยเดียวกันได้ตรงประเด็นและเข้าใจง่ายกว่า" เพราะเด็กในวันนี้จะโตเป็นผู้ใหญ่อ้วนในวันหน้า ถ้าปล่อยให้เด็กวัยก่อนวัยเรียนอ้วนเกินโดยไม่ควบคุมน้ำหนัก จะทำให้เด็กที่เป็นอนาคตของชาติโตขึ้นไปเป็นคนอ้วนสูงถึงร้อยละ 30 และเมื่อเด็กเหล่านี้โตเข้าสู่วัยรุ่นแล้วยังอ้วนอยู่ ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนสูงถึงร้อยละ 80 และเมื่ออ้วนจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ มากมายตามมา


นายมานพบอกต่อว่า ไม่เพียงแค่นี้สำหรับการรณรงค์ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” เรายังคงเดินหน้ารณรงค์ต่อเนื่องต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีทั้งละครวิทยุ ตอน อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน และกิจกรรมต่างๆ ที่จะลงไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ แต่จะเริ่มนำร่องในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งสื่อที่จำจำในครั้งนี้จะเป็น T-Shirt, สติกเกอร์, โปสเตอร์ ฯลฯ


โดยทั้งหมดนี้จะให้โรงเรียนสร้างสรรค์และออกแบบออกมาให้เข้ากับบริบทของพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้การรณรงค์นี้เข้าถึงและตรงจุดมากขึ้น เพราะสุขภาพของเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ครู อาจารย์ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และคนใกล้ชิดเด็กๆ ต้องหันมาใส่ใจให้มากขึ้นกว่าคนในวัยอื่นๆ โดยโครงการเหล่านี้นั้น ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมและติดตามข้อมูลได้ที่ www.pings.in.th และ www.artculture4health.com


นี่คือข้อมูลบางส่วนที่นำเสนอความน่ากลัวของความอ้วนที่แอบย่องเข้ามาโดยที่พวกเราไม่รู้ตัว ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถหาซื้อหนังสือ “อ้วนแล้วไปไหน?” ได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ และสามารถชมผลงานทั้ง 12 ผลงานนี้ทางออนไลน์ได้ที่ www.youtube.com/artculture4health.


 


 


ที่มาเว็บไซต์ไทยโพสต์ 

Shares:
QR Code :
QR Code