หนุนเยาวชนทำสื่อชี้สิ่งชั่วร้ายเกิดจากพนันฟุตบอล
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
'กีฬาๆ เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลสทำคนให้เป็นคน'กีฬาฟุตบอลถือเป็นหนึ่งกีฬาที่คนทั่วโลกสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงเทศกาลฟุตบอลโลกแต่มักมีภัยร้ายที่แฝงมากับกีฬานั่นคือการพนัน ที่จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ได้จัดแถลงข่าวเปิดตัวสื่อรณรงค์การลดพนันในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ภายใต้หัวข้อ "การสื่อสารสาธารณะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม" พร้อมมอบโล่เกียรติคุณแก่ทีมเยาวชนผลิตภาพยนตร์สั้น โดยมีดร.ปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน
"โลกอินเตอร์เน็ตทำให้มีการพัฒนา ที่เราเข้าถึงได้ง่ายทุกที่ทุกเวลา ทำให้ชีวิตของคนในสังคมได้ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของอินเตอร์เน็ตมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน เรื่องของโทษหรือว่าสิ่งที่อาจเป็นอันตรายก็มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น" ดร.ปรเมธี กล่าวถึงการพนันออนไลน์ที่เป็นที่นิยมและก่อเกิดปัญหามากมายในประเทศไทย จากปัญหาดังกล่าวหลายฝ่ายจึงร่วมมือกันจัดทำโครงการผลิตสื่อรณรงค์ประเด็นการพนันในช่วงฟุตบอลโลก 2018 เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เด็กและเยาวชนเกิดความตระหนัก รู้เท่าทัน และไม่ตกเป็นเหยื่อของการพนันฟุตบอลออนไลน์ในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลกขณะนี้
"จากการสำรวจสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการเล่นพนัน ประจำปี 2560 พบว่า คนไทย ร้อยละ 75.2 หรือเกือบ 40 ล้านคน เคยเล่นการพนัน โดยมีจำนวนผู้ที่เล่นพนันฟุตบอลราว 2.5 ล้านคนเป็นกลุ่มเยาวชน อายุ 15-25 ปี กว่า 6 แสนคน และมีนักพนันหน้าใหม่ที่เริ่มเล่นการพนันครั้งแรกในปีที่ผ่านมาถึง 1.1 แสนคน" ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การติดตามเฝ้าระวังของศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะ การลดปัจจัยจากการพนันของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติที่พบว่า ในช่วงปี 55-59 การพนันออนไลน์ที่เด็กวัยรุ่นนิยมมากที่สุดคือฟุตบอล โดยในระหว่างปี 58-59 ได้มีเว็บไซต์การพนันมากถึง 213,000 เว็บไซต์ ทำให้เด็กและเยาวชนไทยเป็นกลุ่มเสี่ยงใหญ่ เนื่องจากการเข้าถึงง่าย และเล่นได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้สถานการณ์การเล่นพนันของเด็กมัธยมต้นพบว่า เด็กม.1 ถึง ม.3 รู้จักการเล่นพนันจากคนในครอบครัว ชุมชนและญาติ โดย 1 ใน 4 บอกว่ารู้สึกอยากเล่นพนันเมื่อเห็นผู้ใหญ่เล่น
นางสาวนฤมลกูสนั่นตัวแทนจากทีม BUCA คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จากผลงานเรื่อง "คู่ตรงข้าม" กล่าวถึงแนวคิดในการผลิตสื่อภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ ว่าสังคมในปัจจุบันเป็นยุคไทยแลนด์ 4.0 เด็กในยุคนี้จึงเป็นคนยุคดิจิทัล เลยอยากนำเสนอสื่อให้มันเป็นรูปแบบดิจิทัลผสมกับสื่อดั้งเดิม คือ ในอดีตกว่าจะพนันได้ต้องไปโต๊ะบอล แต่ทุกวันนี้มันง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว เราสามารถเล่นพนันได้ผ่านสมาร์ทโฟน ต้องการนำเสนอให้ผู้ชมเห็นถึงจุดจบของการพนัน ที่ผู้พนันเลือกได้เองว่า เลือกจบโดยคนรอบข้างลำบาก ประเทศไทยลำบาก
ในขณะที่ทีมสมาพันธ์เด็กและเยาวชน จังหวัดศรีสะเกษ นายพงศ์ภัค มงคลชัยพาณิชย์ ตัวแทนจากผลงานเรื่อง "SBALL BET" กล่าวถึงแนวคิดในการผลิตภาพยนตร์สั้นที่เลือกใช้เด็กวัยมัธยมในการสื่อสารว่า ไม่ใช่แค่เพียงเด็กมหาวิทยาลัยที่จะต้องไปโต๊ะบอลเพื่อเล่นพนันบอล แต่ยังมีเด็กในวัยระดับมัธยมที่เริ่มเรียนรู้ที่จะเล่นการพนันฟุตบอลทางออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนหรืออินเตอร์เน็ต ผ่านเพื่อนที่ชักชวนไปในทางที่ผิด และเมื่อเกิดปัญหา เพื่อนไม่ใช่คนที่จะมาช่วยแก้ไขแต่กลายเป็นครอบครัวและครูบาอาจารย์ที่โรงเรียนที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
ผลงานภาพยนตร์สั้นที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมดจะได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ และช่องทางสื่อต่างๆ ของภาคีเครือข่าย