หนุนเด็กไทยไร้พุง ออกกำลังกายรีดส่วนเกิน
ปัญหาเรื่องโรคอ้วน ที่เคยเป็นปัญหาจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่วัยกลางคนจนถึงผู้สูงอายุ ปัจจุบันกลับพบว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ อยู่ในภาวะมีน้ำหนักเกินมากถึง 22 ล้านคนทั่วโลก!! และกำลังแพร่ไปอย่างมากในประเทศกำลังพัฒนา
ตัวอย่างเช่นในประเทศไทย เด็กอายุระหว่าง 5-12 ปี มีเด็กที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจาก 12.2% เป็น 15-16% ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในปี พ.ศ. 2538 พบว่า เด็กอายุตั้งแต่ 5 ขวบลงมา จำนวน 17.6% มีภาวะน้ำหนักเกิน และในจำนวนดังกล่าว พบว่ามีจำนวนถึง 5.4% ที่เป็นโรคอ้วน นอกจากนั้นเด็กวัยก่อนเรียนที่เป็นโรคอ้วน มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 5.8% ในปี พ.ศ. 2541 เป็น 7.9% ในปี 2544 และจากประมาณการสถานการณ์โรคอ้วนในเด็ก ในเวทีสมัชชาสุขภาพโลก ครั้งที่ 63 ระบุว่ามีเด็กอ้วนกว่า 42 ล้านคนทั่วโลก และ 35 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวอาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา
รศ.ดร.ประพัฒน์ ลักษณพิสุทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ปัญหารอบเอวขยายไม่ยอมหด ตั้งแต่เด็กจนโตไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะภาวะน้ำหนักเกิน ที่แพร่ไปทั่วโลกนี้ เป็นบ่อเกิดแห่งโรคร้ายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคกระดูกและข้ออักเสบ และโรคเรื้อรังอื่นๆ ซึ่งล้วนกระทบถึงศักยภาพของประเทศทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เรื่อยไปจนกระทั่งพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภาพรวม จนกลายเป็นที่มาของการรณรงค์ขับเคลื่อนในทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อสลายไขมันส่วนเกินอย่างจริงจัง ถึงขั้นที่องค์การอนามัยโลกต้องจัดทำยุทธศาสตร์ระดับโลกเรื่องอาหาร กิจกรรมทางกาย และสุขภาพ พ.ศ. 2547 และแผนปฎิบัติการลดโรคไม่ติดต่อปี พ.ศ. 2551 ขึ้น เพื่อระงับปัญหาที่สาเหตุ
“ประเทศไทยเองได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคอันเกิดจากภาวะน้ำหนักเกินนี้เช่นกันเพราะตระหนักถึงภัยเงียบของรอบเอวที่ขยันขยายแต่ไม่ยอมหด ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำ “ประเด็นยุทธศาสตร์สายส่งเสริมสุขภาพ พ.ศ.2552-2554” โดยมีแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาโรคอ้วนคนไทย (คนไทยไร้พุง) เป็นแผนหนึ่งในประเด็นฯ ดังกล่าว ซึ่งกรมอนามัยต้องการให้มีผลจุดหมายปลายทางการแก้ไข ภายในปี พ.ศ. 2554 โดยพุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมให้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาหาร และออกกำลังกายมาใช้ในชีวิตประจำวัน”
รศ.ดร.ประพัฒน์ กล่าวต่อว่า การให้การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในยุทธศาสตร์พิชิตพุง ทั้งในด้าน “ความรู้” หรือ “ทฤษฎี” โดยต้องให้เกิดการเรียนรู้ในด้าน “ทักษะหรือการปฏิบัติ” และด้าน “ทัศนคติหรือเจตคติ” ทั้งด้านโภชนาการและด้านการออกกำลังกาย เพราะการสั่งห้าม หรือสั่งให้ปฏิบัติ ไม่ใช่วิถีทางที่ยั่งยืนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่ แต่ควรบ่มเพาะพฤติกรรมการบริโภคอย่างสมดุลและรักการออกกำลังกาย ให้เกิดเป็นนิสัย จึงจะเป็นการขจัดปัญหาที่ต้นเหตุ
“หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของกระทรวงศึกษาธิการที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นยังขาดในส่วนของการสร้างเสริมความตระหนักในคุณค่าของอาหาร การเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณภาพและครบหมู่อาหารหลัก ตลอดจนการปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อการออกกำลังกาย นอกจากนี้จำนวนชั่วโมงเรียนสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ยังมีน้อย เมื่อเทียบกับเวลากว่า 8 ชั่วโมง ที่เด็กอยู่ในสถานศึกษา ซึ่งไม่เพียงพอที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการปลูกฝังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการออกกำลังกายของเยาวชน เห็นได้จากจำนวนชั่วโมงพลศึกษาโดยเฉลี่ยมีเพียง 1 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ สำหรับเด็กในระดับประถมศึกษา ถึงมัธยมศึกษาตอนต้น และหดสั้นลงเหลือเพียงครึ่งชั่วโมงโดยเฉลี่ยต่อ 1 สัปดาห์ สำหรับเด็กในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในขณะที่วิทยาลัยเวชศาสตร์การกีฬาอเมริกัน หรือ american college of sport medicine (acsm) ได้แนะนำไว้ว่า เกณฑ์ด้านความถี่ในการออกกำลังกายเพื่อสร้างเสริมสมรรถภาพทางกายอย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอยู่ที่เฉลี่ย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ในขณะที่เกณฑ์ด้านเวลาในการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างต่อเนื่องต่อครั้งนั้นควรอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 15 นาที”
ทั้งนี้ การ ‘ให้’ การศึกษา และปรับเปลี่ยน ‘วิธี’ การให้การศึกษาต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคและสุขภาวะของบุคคล อาทิ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสังคม ค่านิยม การเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่า และพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย ศักยภาพทั้งด้านกายภาพและเศรษฐกิจของบุคคล หรือผู้ปกครอง (ในกรณีของพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายของเด็ก) ด้วย ดังนั้น การแก้ปัญหาภาวะน้ำหนักเกิน สู่ปัญหาภาวะ “โรคอ้วน” อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพจึงต้องอาศัยการบูรณาการศาสตร์ และการปฏิรูป ‘วิธี’ การให้การศึกษา ด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย ตลอดจนการปรับเปลี่ยนปัจจัยแวดล้อมอื่นอันมีส่วนกำหนดพฤติกรรมของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความตระหนักในคุณค่าของอาหาร การเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย ในปริมาณที่เหมาะสม ตลอดจนการปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อการมีกิจกรรมทางกาย เพื่อให้เด็กได้ตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายและเล่นกีฬา
“คุณครูควรจะให้เด็กได้ประกอบกิจกรรมทางกายก่อน อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการออกกำลังกาย เมื่อเด็กได้ออกกำลังกายแล้ว เด็กก็จะออกกำลังกายและเล่นกีฬาได้ แต่อาจจะยังไม่มีทักษะหรือความชำนาญมากนัก สามารถสร้างความสนุกสนานและเล่นกับเพื่อได้บ้าง และแล้ว… เมื่อเด็กมีความสนใจในกีฬาหรือชนิดของการออกกำลังกายที่ตนเองถนัด สนใจ สามารถเล่นได้อย่างชำนาญ หมั่นฝึกซ้อม และได้ออกไปหาประสบการณ์การแข่งขัน ก็ถือได้ว่า เด็ก…ออกกำลังกายและเล่นกีฬาเป็น เมื่อนั้น อนาคตของเด็กไทย…ไร้พุง…ถาวร…อย่างแน่นอน” รศ.ดร.ประพัฒน์ กล่าวในที่สุด
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ