หนุนสร้างสุขอนามัยแหล่งท่องเที่ยว

ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


หนุนสร้างสุขอนามัยแหล่งท่องเที่ยว thaihealth


แฟ้มภาพ


“กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข” แนะประชาชนคุมเข้มการดูแลสุขภาพช่วงปีใหม่ เน้นกินอาหารสะอาดปลอดภัย ร่วมกันจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในแหล่งท่องเที่ยวด้วยการลดปริมาณและคัดแยกขยะก่อนทิ้ง และมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้อง สร้างสุขอนามัยที่ดี


นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอมามัย กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาและเดินทางท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง  สิ่งที่ต้องระมัดระวังนอกเหนือจากเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว คือเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร การคัดแยกและลดปริมาณขยะ รวมทั้งการรักษาความสะอาดส้วม เพื่อสร้างสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งปัจจุบันนี้มีอาหารปลอดภัย และตลาดสดน่าซื้อ ใน 73 จังหวัดๆ ละ 1-2 แห่ง รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว เลือกซื้อและบริโภคอาหารจากสถานประกอบการที่ได้มาตรฐานผ่านการรับรองจากหน่วยงานรัฐ หรือร้านที่มีป้ายสัญลักษณ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อย หรือ Clean Food Good Taste เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ลดการใช้โฟม และควรใช้ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งทั้งก่อนบริโภคอาหารและหลังเข้าส้วม


นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า ปริมาณขยะในแหล่งท่องเที่ยวขณะนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามจำนวนนักท่องเที่ยวและการเพิ่มขึ้นของที่พัก ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม รีสอร์ท บังกะโล รวมถึงตลาดน้ำ หรือร้านอาหาร โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ ข้อมูลโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สรุปอุทยานแห่งชาติ 5 อันดับแรก ที่มีปริมาณขยะสะสมช่วงเทศกาลปีใหม่ (วันที่ 31 ธ.ค. 58 – 3 ม.ค. 59) พบว่า ดอยอินทนนท์ มีขยะสะสมสูงสุด 70,341 กิโลกรัม รองลงมาคือเขาใหญ่ 24,480 กิโลกรัม หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี 8,320 กิโลกรัม เอราวัณ 8,000  กิโลกรัม และภูกระดึง 3,171 กิโลกรัม ตามลำดับ รวมปริมาณขยะทั้งหมด 114,312 กิโลกรัม ปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นก่อเกิดมลพิษ และสูญเสียทัศนียภาพอันสวยงามของแหล่งท่องเที่ยว


ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ส่งผลต่อเนื่องกับระบบเศรษฐกิจ ขยะบางประเภทก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ เช่น ขยะมีคม และขยะอันตราย หากถูกทิ้งลงในทะเล สามารถสะสมความเป็นพิษในสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และห่วงโซ่อาหาร ขยะประเภทโฟมบรรจุอาหาร ถุงพลาสติก หากสัตว์กินเข้าไป ทำให้ตายได้ และเชือก แห อวน อาจทำให้สัตว์เข้าไปติดอยู่ ทำให้สัตว์เคลื่อนไหวไม่ได้และตายในที่สุด จึงขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวและประชาชน ในการช่วยลดปริมาณขยะในแหล่งท่องเที่ยว ด้วยการไม่ใช้โฟมบรรจุอาหาร ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่เกิดผลเสียต่อสุขภาพ และคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ขยะบางอย่างที่ไม่สามารถย่อยสลายหรือขายได้ ควรนำติดตัวมาทิ้งภายนอกแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ไม่ควรทิ้งในป่าหรือในธรรมชาติเพราะอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ได้


“ทั้งนี้ ในส่วนของการพัฒนาส้วมสาธารณะในแหล่งท่องเที่ยวขณะนี้พบว่า ผ่านมาตรฐาน HAS ร้อยละ 74 ผู้ประกอบการ และผู้ดูแลแหล่งท่องเที่ยวควรใส่ใจด้านความสะอาดของส้วมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำความสะอาดแหล่งปนเปื้อนเชื้อโรค ได้แก่ ที่จับสายฉีดชำระ ซึ่งตรวจพบเชื้อโรคมากที่สุดคือร้อยละ 85 บริเวณพื้นห้องส้วมพบร้อยละ 50 ที่รองนั่งโถส้วมพบร้อยละ 31 ที่กดโถส้วมและโถปัสสาวะพบร้อยละ 8 ที่เปิดก๊อกอ่างล้างมือพบร้อยละ 7 กลอนประตูหรือลูกบิดพบร้อยละ 3 พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ส้วมให้กับนักท่องเที่ยว โดยต้องไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ ไม่ทิ้งวัสดุลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้ง หลังการใช้ส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม


นอกจากนี้กรมอนามัยได้มีแผนการดำเนินงาน สำหรับการพัฒนามาตรฐานส้วมสาธารณะไทยให้ถูกหลักสุขาภิบาล 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้าง การบริหารจัดการ และการปรับพฤติกรรมการใช้ส้วมของประชาชนให้ถูกต้อง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการร้านค้า สถานบริการต่างๆ ไม่ว่าที่อยู่ระหว่างเส้นทางการเดินทางหรือปลายทาง ยิ่งต้องให้ความสำคัญในการปรับปรุงพัฒนาและดูแลความสะอาดของส้วมให้มากพอ ที่จะรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลนี้ได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code