หนุนทำงานต่อหลังเกษียณ สร้างความมั่นคง ยามสูงวัย
ในอีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และสังคม เปลี่ยนแปลง โดยจาก ผลการสำรวจของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เรื่องภาวะการทำงานของประชากร ในปี 2555 พบว่า มีผู้สูงอายุที่ทำงาน 3.4 ล้านคน จากจำนวนผู้สูงอายุ ทั้งสิ้น 8.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 39.4
จากข้อมูลข้างต้น จึงทำให้เกิดความร่วมมือกันของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงแรงงาน และสำนักงานคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) จัดการเสวนาเวทีสาธารณะ "มาตรการส่งเสริมการทำงานต่อเนื่องของผู้สูงอายุ" ขึ้น โดยมีนักวิชาการ และตัวแทนกลุ่มแรงงานเข้าร่วมเสวนาเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และระดมความเห็นที่ได้จากเวที ซึ่งนำไปสู่การพัฒนานโยบายส่งเสริมการทำงานต่อเนื่องของผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในเวทีเสวนาว่า นโยบายสาธารณะ เรื่องการทำงานของผู้สูงอายุ เป็นประเด็นที่มีความสำคัญ และมีความท้าทาย ซึ่งในจำนวนกลุ่มผู้สูงอายุยังมีหลายคนที่ยังคงประกอบอาชีพ แม้ว่าความว่องไว หรือประสาทสัมผัสจะลดลง แต่ประสบการณ์ของคนเหล่านี้มีความสำคัญที่จะช่วยแนะนำคน รุ่นใหม่ และสามารถทำงานร่วมกันได้โดยอาศัยพึ่งพากัน ซึ่งจะช่วยผลักดันให้องค์กรมีคุณภาพได้
สำหรับมาตรการเพื่อผู้สูงอายุแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.รับมือ กับปัญหาผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันให้ได้มีโอกาสในการทำงาน สร้าง หลักประกันการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ การหามาตรการรองรับการทำงานของผู้สูงอายุที่ยังคงพร้อมและต้องการทำงานเมื่อครบอายุเกษียณ 2.รองรับ คนสูงวัยในอนาคต การดูแลคุณภาพชีวิต ระบบการรักษาพยาบาล รวมถึงผลักดันเรื่องของการมีส่วนร่วมในชุมชน ซึ่งในส่วนของรัฐบาลได้ร่วมมือกับ 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อทำงานให้พร้อมในทุกๆ ด้านทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา นำมาสู่ระยะที่ 3.คือต้อนรับ เมื่อวางระบบการดูแลได้สมบูรณ์แล้ว ไม่เพียงแค่รองรับผู้สูงอายุในประเทศได้เท่านั้น ยังสามารถรองรับผู้สูงอายุจากต่างประเทศ เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ ในสังคมอาเซียนได้เป็นอย่างดี
"นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการผลักดัน พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้มีการออมตั้งแต่อายุน้อย แก้ไขปัญหาการไม่มีเงินออมหลังเกษียณ เพื่อให้เกิดความมั่นคงในยามสูงวัย และ ช่วยพยุงคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีคุณค่า" ศ.ดร.ยงยุทธกล่าว
ด้าน พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ รักษาการเลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า การทำงานขับเคลื่อนส่งเสริมการทำงาน ต่อเนื่องของผู้สูงอายุ จะทำงานผ่าน 2 ภาคส่วน ได้แก่ 1.ภาครัฐ จะขยายการเกษียณอายุจาก 60 เป็น 65 ปี รวมถึงผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ 2.ภาคเอกชน มีการผลักดันในเรื่องสร้างหลักประกันการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ โดยหามาตรการส่งเสริมสภาพแวดล้อม การดูแลคุ้มครองเพื่อให้สามารถทำงานได้ยาวนานขึ้น
"ทั้งนี้ ในระยะต่อไปจะทำงานเชื่อมโยงกับ สสส. ในการสร้าง 'ต้นแบบสถานที่ทำงาน' ที่จะมีมาตรการรับรองโดยภาครัฐ และเจ้าของธุรกิจให้ความร่วมมือสนับสนุนให้คนทำงาน โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุได้ทำงานอย่างมีความสุข มีความมั่นคง ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ เพื่อจัดทำโครงการ" พญ.ลัดดากล่าวเสริม
ทางด้าน รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนการทำงานต่อเนื่องของผู้สูงอายุ คือ วิธีคิด ควรมองปัญหาในระยะยาว เนื่องจากปัจจุบันจากการสำรวจ ประชากรมีอัตราการมีบุตรน้อยลง ดังนั้นในอนาคตความเชื่อที่ว่าเมื่อสูงวัยแล้วจะต้องให้ลูกหลานดูแลคงต้องเปลี่ยนไป
"การผลักดันเรื่องการทำงานต่อเนื่อง ควรเริ่มจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในครอบครัว ให้เห็นความสำคัญของการทำงาน ต่อเนื่อง ในส่วนขององค์กร เจ้าของธุรกิจก็ต้องสร้างความเข้าใจให้เห็นถึงคุณค่าความสามารถของแรงงานสูงอายุ ส่งเสริมการดูแลสิทธิการทำงานและคุ้มครองแรงงาน ให้ผู้สูงอายุที่ทำงานได้เข้าถึงสวัสดิการ และความคุ้มครองต่างๆ ที่ดี โดยมี ภาครัฐหนุนเสริม ควรกำหนดให้เกิดเป็นข้อบังคับเป็นกฎหมาย เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับประโยชน์ ความเป็นธรรมและมีความสุข ความมั่นคงในการดำรงชีวิต"รศ.ดร.วรเวศม์กล่าว
ปิดท้ายที่ตัวแทนกลุ่มแรงงานนอกระบบอย่าง นางทองล้วน น้อยบุตร วัย 65 ปี เผยว่า ปัจจุบันเป็นวิทยากรด้านการตัดเย็บ และมีอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้ามากว่า 20 ปี โดยสาเหตุที่ยังทำงานอยู่เพราะมีความสุข สนุก และรักในการทำงาน รู้สึกมีคุณค่าในสังคม ไม่เป็นภาระของครอบครัว งานที่ทำก็ไม่ได้ทำงานหนักมากเกินไปจนสุขภาพเสื่อมเสีย ทำงานตามกำลังความสามารถ ได้ขยับร่างกายเหมือนออกกำลังกายไปในตัวด้วย และยังได้พบปะผู้อื่น มีมิตรภาพที่ดี สุขภาพจิตก็ดีตาม ไปด้วย
"สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าการดำรงชีวิตจะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การทำงานแม้ว่าจะเป็นรายได้เพียงไม่มาก แต่หากรู้จักออม อยู่อย่างพอเพียง ก็จะช่วยสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตต่อไปได้" นางทองล้วนกล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด