หนึ่งมือสร้างรอยยิ้มสู้ภัยพิบัติ

บ้านอาสาใจดีแห่งอาคารบรรษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) ที่เปิดเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประสานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (Thaiflood) เครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิโกมลคีมทอง และภาคีเครือข่ายอื่นๆ เพื่อวางแผนดำเนินการช่วยเหลือเพื่อนภาคี สสส.และประชาชนที่ประสบอุทกภัยแห่งนี้ หลังจากเริ่มเปิดทำการมาระยะหนึ่ง มีนักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่มีจิตใจดีเข้าร่วมช่วยหยิบจับคนละไม้คนละมือ ไม่ว่าจะเป็นการแพ็คข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง ถุงดำ บรรจุลงถุงยังชีพ หรือการรวมกลุ่มทำเวิร์คช็อปลูกบอลชีวภาพบำบัดน้ำเสีย (EMBall) การทำเสื้อชูชีพ ซึ่งสิ่งที่เห็นไม่ต่างกันคือ รอยยิ้มจากทุกมือที่ช่วยกันหยิบจับด้วยใจเพื่อส่งไปถึงผู้ประสบภัยทุกคน



กิ๊น ยลลดา แถบกำปังน้องๆ จากโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ หนึ่งในอาสาสมัครที่ก้าวเข้ามาร่วมกับบ้านอาสาใจดีตั้งแต่วันแรก จนวันนี้เธอมีตำแหน่งพ่วงท้ายติดมาด้วยคือการเป็นอาสาประจำบ้านอาสาใจดี ด้วยเหตุผลที่เธอเป็นหนึ่งคนที่มีบ้านตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ของบ้านอาสาใจดี หน้าที่หลักประจำในตอนนี้ของกิ๊น คือการตรวจเช็คสต็อกของที่รับบริจาค และของที่จัดทำแพ็คเรียบร้อยแล้วในแต่ละวัน และร่วมวางระบบพร้อมประสานงานให้กับอาสาสมัครหน้าใหม่ โดยในแต่ละวันกิ๊นเล่าว่า ส่วนใหญ่ของที่ได้รับบริจาคในแต่ละวันจะเป็นพวกน้ำดื่ม มาม่า ทิชชู ข้าวสาร และผ้าอนามัย ซึ่งยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการ และเธอแนะนำว่าสิ่งที่อยากได้รับบริจาคเพิ่มเติมคืออาหารแห้งพร้อมรับประทาน หรือน้ำพริก เพราะเป็นของจำเป็นที่ขาดไม่ได้ โดยกิ๊นจะมาทำหน้าที่เป็นอาสาประจำบ้านตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.แม้ไม่ได้รับค่าเหนื่อยตอบแทนเป็นจำนวนเงิน แต่กิ๊นก็ได้รับความสุขใจกลับบ้านในทุกครั้ง


“ตอนแรกกิ๊นเห็นเฟซบุ๊กของปิดเทอมสร้างสรรค์ ก็เลยไปกดไลท์ดูว่ามีอะไรบ้าง ตอนแรกก็สนใจที่จะเข้าร่วมทัวร์ศิลปะ(ARTdeGround) ที่เป็นการแบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจของงานศิลปะ แต่พอมาเห็นมีประกาศว่าบ้านอาสาใจดีต้องการรับอาสาสมัครจำนวนมาก และยิ่งคิดว่าเมื่อเราดูข่าวแล้วเห็นความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยหลายคน ก็เลยคิดว่าเราเองน่าจะทำอะไรสักอย่างได้ เพราะถ้าอยู่บ้านในแต่ละวันก็ไม่ได้ทำอะไร นั่งเล่นเฟซบุ๊กหมดไปวันๆ และในฐานะที่ตัวเองก็มีบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งยังไม่ได้รับปัญหาน้ำท่วม จึงได้เดินมาลองสมัครดู และก็รับทำหน้าที่หลายๆ อย่างในบ้านอาสาใจดี”กิ๊น ยลลดากล่าว


กิ๊นบอกอีกว่า การร่วมเป็นอาสาสมัครครั้งนี้นับเป็นความคุ้มค่าของการปิดเทอมในครั้งนี้อย่างมาก เพราะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ หลายอย่าง ได้ทั้งเพื่อนใหม่ ได้รู้จักผู้คนมากมายและรู้จักการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น ซึ่งแม้จะเหนื่อยบ้างในบางครั้ง แต่พอพักแล้วก็หายเหนื่อย


สุดท้าย กิ๊นบอกว่า วัยรุ่นหลายๆ คนที่อยู่บ้านเฉยๆ หรือใช้เวลาไปทำเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ ลองสละเวลาส่วนตัวเล็กน้อยออกมาช่วยกันทำ ตามความสะดวกและความสนใจ เช่น การไปช่วยกรอกกระสอบทราย หรือการร่วมเป็นอาสาสมัครแพ็คของ ยกของบริจาคก็ได้ เพราะอย่างน้อยก็ถือว่าได้ทำได้ช่วย


พิมพ์ชนก บุญยรัตกลิน เดียร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จับมือมากับณัฐชา เนตรทอง นักศึกษาคณะบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2 สาวที่มีใจมุ่งมั่นผ่านงานจิตอาสามาหลายพื้นที่ โดยเดียร์เล่าว่า ดูจากเฟซบุ๊กของเพื่อนๆ ส่งมาว่าที่บ้านอาสาใจดีต้องการอาสาสมัคร เลยชวนกันมาทำ เพราะรู้สึกดีที่ได้ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน ตั้งใจว่านอกจากจะมาช่วยที่นี่จนกว่าจะแพ็คของเสร็จ ก็จะเปลี่ยนไปลงพื้นที่บ้าง



ขณะที่ณัฐชา พูดถึงเรื่องของจิตอาสาในประเทศไทยขณะนี้ว่า จิตอาสาเป็นการพัฒนาความคิดของคน โดยต้องยอมรับว่าต่อให้ความคิดคนไทยจะต่างกันอย่างไร แต่น้ำใจคนไทยนั้นจะอยู่ในจิตสำนึกจริงๆ โดยเริ่มจากเฟซบุ๊กหลายๆ เพจ เพราะตอนนี้ต้องบอกว่าต้องขอบคุณผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนแทนคนกรุงเทพฯ ทุกคน เพราะตอนแรกที่ติดตามข่าวน้ำท่วม ไม่คิดว่าเหตุการณ์จะหนักมากขนาดนี้ และที่สำคัญสื่อสารมวลชนนับว่ามีความสำคัญอย่างมากในการนำเสนอข่าวที่มีความถูกต้อง และต้องไม่ทำให้เกิดการแตกแยกกัน


“หนูว่าไม่มีประเทศไหนที่เป็นแบบนี้ เรื่องของการมีน้ำใจ การช่วยเหลือ หากรัฐจะไม่พร้อม แต่ทุกน้ำใจก็พร้อมหยิบยื่นให้กัน ไม่ว่าจะเป็นคนต่างจังหวัดหรือคนในกรุงเทพฯ ต่างก็เป็นคนที่มีจิตสำนึกเหมือนกัน พลังคนมันเหลือ พอเราได้ทำพลังมันเหลือจริงๆ หนูต้องบอกเลยว่าต้องขอบคุณคนที่เดือดร้อนทุกคน เพราะไม่อย่างนั้นบ้านหนูก็คงแย่ หากคำขอบคุณมันจะไปถึงเค้าได้ หนูต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว เพราะสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้มันไม่ใช่เป็นการทำตามกระแส แต่เป็นการทำด้วยจิตสำนึก หน้าที่ของจิตอาสาคือการที่ต้องรู้ตัวเองทันทีว่าจะต้องไปถึงกี่โมงและกลับกี่โมง สิ่งที่ต้องทำคือไปให้เร็วที่สุดและกลับให้ช้าที่สุด นั่นคือหน้าที่ของจิตอาสา ที่สำคัญความคิดของคนเรามันต่างกัน คนที่เค้าหลับ เราปลุกเค้า ยังไงเค้าก็ตื่น แต่คนที่แกล้งหลับ เราปลุกเค้า ยังไงเค้าก็ไม่มีวันตื่น”ณัฐชากล่าว


ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า หลังจากมีการเปิดบ้านอาสาใจดีผ่านมาหลายวันแล้ว ถือว่าขณะนี้มีอาสาสมัครเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อย่างช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์มีประมาณ 200 กว่าคนต่อวัน นับว่าเครือข่ายอาสามีการเติบโตมากขึ้น หรือแม้แต่ในกลุ่มเด็กๆ ซึ่งก็มาพร้อมกับครอบครัวก็มีจำนวนมากเช่นกัน


“ต้องบอกว่าครั้งนี้เป็นโอกาสดีมากที่จะมีการขับเคลื่อนเรื่องจิตอาสาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพราะคนจำนวนมากเห็นปัญหาของเพื่อนๆ พี่น้องที่ลำบาก ทุกคนก็พร้อมมาช่วยกันจำนวนมาก ก็เป็นโอกาสดีที่จะเชื่อมโยงคนที่มีจิตใจดีๆ เข้าด้วยกัน ส่งเสริมให้เป็นเครือข่ายสามารถทำงานอย่างต่อเนื่องได้”ทพ.กฤษดากล่าวและว่า หลังวิกฤตินี้ผ่านพ้นไป สสส.จะประสานงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ เพื่อจัดทำเรื่องจิตอาสาอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ


น้ำใจไทยที่ไหลรินในวันนี้ เพียงแค่แต่ละมือที่ช่วยกันหยิบยื่น หกสิบกว่าล้านคน คนละสองมือ ก็เท่ากับหนึ่งร้อยกว่าล้านมือ หากช่วยกันแบ่งปัน เพียงหนึ่งมือที่รอรับก็นับว่าคุ้มค่าที่รอคอย


 


 


 


เรื่องโดย: สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th


 

Shares:
QR Code :
QR Code