หญิงอังกฤษชนะคดีเรียกร้องสิทธิการตาย

ร้องศาลให้ทบทวนกฎหมายไม่เอาผิดคนช่วยผู้อื่นให้จบชีวิตหนีโรคทรมาน

 

หญิงอังกฤษชนะคดีเรียกร้องสิทธิการตาย           หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนฉบับออนไลน์ของอังกฤษรายงานว่าผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งป่วยเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis) ชนะคดีประวัติที่เธอร้องต่อศาลประเทศอังกฤษให้ทบทวนกฎหมายว่าด้วยการช่วยให้ผู้อื่นจบชีวิตโดยไม่ผิดกฎหมาย

 

           ผู้หญิงคนนี้มีชื่อว่าเด็บบี้ เพอร์ดี้ อายุ 45 ปี เธอได้รับการอนุญาตจากผู้พิพากษาศาลสูงอังกฤษให้ใช้สิทธิบังคับให้อัยการสูงสุด เซอร์ เคน แมคโดนัลด์ แจกแจงว่ากรณีไหนบ้างที่กฎหมายอนุญาตให้คนช่วยบุคคลอันเป็นที่รักให้หลุดพ้นจากความทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บด้วยการจบชีวิตลงโดยไม่ถือว่ามีความผิดทางอาญา

 

           สำหรับกรณีของคุณเพอร์ดี้เองนั้นเธอต้องการให้สามี ซึ่งก็คือคุณโอมาร์ พูเอนต์ ช่วยพาเธอไปที่คลินิกดิกนิตาส (dignitas clinic) ซึ่งเป็นคลินิกที่ตั้งอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และให้บริการช่วยคนไข้จบชีวิตตัวเองเพื่อให้หลุดพ้นจากโรคที่สร้างความทรมาน และอาการป่วยระยะสุดท้าย

 

           โดยคุณเพอร์ดี้ต้องการไปที่คลินิกแห่งนั้นเพื่อจบชีวิตตัวเองเมื่อที่โรคของเธอเป็นมากถึงขั้นที่รู้สึกว่าทนไม่ไหวแล้ว แต่ปัญหาคือคุณพูเอนต์สามีของเธออาจถูกดำเนินคดีและส่งฟ้องถึงศาลหลังจากกลับมาจากคลินิกแห่งนั้น และโทษที่เขาอาจได้รับจากการช่วยพาเธอไปจบชีวิตลงที่คลินิกดังกล่าวคืออาจต้องจำคุกนานถึง 14 ปี

 

           โรคมัลติเพิลสเคลอโรซิส (multiple sclerosis) หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่าโรคเอ็มเอส (ms) เป็นความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางที่พบได้บ่อยที่สุดในคนที่มีอายุระหว่าง 20-40 ปี พบได้น้อยมากในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 12 ปีหรือมากกว่า 55 ปีและพบว่าผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึงครึ่งเท่าตัว กล่าวคือ พบผู้ป่วยที่เป็นผู้หญิงจำนานสามคนต่อผู้ชายจำนานสองคน ปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยโรคเอ็มเอสทั่วโลกประมาณ 2,500,000 คน เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราการเกิดโรคนี้พบได้น้อยในประเทศแถบใกล้เส้นศูนย์สูตรรวมทั้งประเทศไทย แต่พบมากในประเทศที่ห่างเส้นศูนย์สูตรออกไป เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เป็นต้น

 

           ผู้พิพากษาศาลสูงอังกฤษในกรุงลอนดอนกล่าวว่าไม่ใช่ว่าศาลจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นกับคุณเพอร์ดี้ แต่ศาลเห็นว่าคุณเพอร์ดี้มีสิทธิในการโต้แย้งและคำโต้แย้งของเธอควรได้รับการพิจารณาอย่างเต็มกระบวนการให้เป็นทราบกันไป

 

           สำหรับการช่วยให้คนฆ่าตัวตายนั้นถือว่ายังเป็นเรื่องที่ยังผิดกฎหมายอยู่ในประเทศอังกฤษ และถึงแม้ว่าเหตุการณ์เช่นนั้นจะเกิดขึ้นนอกประเทศและเป็นประเทศที่ถือว่าการช่วยให้ผู้อื่นฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ทำได้ตามกฎหมายก็ตาม

 

           และด้วยความคลุมเครือของข้อกฎหมายในเรื่องนี้ทำให้คนอังกฤษจำนวน 92 คนที่พาญาติของพวกเขาไปจบชีวิตลงที่คลินิก ดิกนิตาสยังไม่ถูกดำเนินคดีส่งฟ้องเลยเมื่อกลับมายังประเทศอังกฤษแล้ว ส่วนคุณเพอร์ดี้กล่าวว่าเธอรู้สึกดีใจมากที่ศาลสั่งให้มีการศึกษาทบทวนตัวบทกฎหมายเรื่องนี้ให้เป็นที่ชัดเจนไปเสียที

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

 

 

 

 

update 12-06-51

Shares:
QR Code :
QR Code