ส้มโชกุน เชิงขุนเขา
ที่มา : เว็บไซต์ปันสุข
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ณ ภูเขาฮูมอโยเก๊ะ สตอปา ตาเละ กำลังเฝ้ามองดูผลงานของตัวเองด้วยรอยยิ้ม ส้มโชกุนกว่า 200 ต้น ออกผลโต รอวันเก็บเมื่อสุกได้ที่ นี่คือรางวัลจากความเหน็ดเหนื่อยตลอดหลายเดือน หลังจากที่ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นเขาบนทางที่ขรุขระ เพื่อมาดูแลส้มโชกุน
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2544 เป็นครั้งแรกที่สตอปาได้รู้จักส้มโชกุนจากการแนะนำของพี่ชายซึ่งไปทำสวนอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ด้วยสภาพอากาศที่ใกล้เคียง จึงทดลองปลูกดูประมาณ 40 ต้น รอเวลาถึง 4 ปี ก็เห็นผลผลิตงอกงามให้ชื่นใจ โดยคุณลักษณะของส้มโชกุน คือรสชาติที่หวานอมเปรี้ยวนิดๆ
สตอปาสั่งพันธุ์ส้มจากประเทศเพื่อนบ้านโดยตรง เมื่อผลลัพธ์ออกมาดี เพื่อนบ้านในหมู่ที่ 5 บ้านกูวาก็เริ่มสนใจ จากสตอปาคนเดียว ก็เพิ่มเป็น 16 คน พื้นที่การปลูกเพิ่มเป็น 60 กว่าไร่
“การปลูกของผมไม่มีเคล็ดลับ คิดอย่างเดียวว่า ทำให้ต้นสมบูรณ์ ซึ่งจะให้ผลที่ดีตามมา เลยปรึกษาทางพัฒนาที่ดิน เขาแนะนำว่าการจะปลูกพืชอะไร ดินต้องมาก่อน เลยปรับปรุงเรื่องของดิน ใช้สารอินทรีย์พวกขี้วัว ปุ๋ยหมักมาช่วย เพราะเราปลูกในที่นาร้าง มีสภาพเป็นกรดเยอะ ต้องลดความเป็นกรดลงมา แล้วก็ศึกษาเพิ่มเติมเรื่อย เช่น เมื่อครบ 15 ปี ต้องตัดต้นส้ม แล้วนำกิ่งมาเพาะพันธุ์ใหม่ รวมไปถึงการใช้ระบบชลประทานด้วยประปาภูเขา ซึ่งเป็นน้ำที่ค่อนข้างสะอาด ปลอดภัย ทำให้ส้มเจริญเติบโตได้ดี และช่วยให้ส้มติดลูกไวกว่าฤดูเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคม” สตอปาเล่า
ปัจจุบัน สตอปา มีต้นส้ม 200 กว่าต้น บนเนื้อที่ 4 ไร่ ต้นหนึ่งเก็บได้ประมาณ 150 กิโลกรัม มีพ่อค้ามารับซื้อในพื้นที่ อย่างปีที่แล้ว (2557) มีผู้ประกอบการจากสุไหงโก-ลก มารับ สตอปาคัดเป็น 2 เกรด เบอร์หนึ่งลูกใหญ่ เบอร์สองลูกเล็ก ขายได้กิโลกรัมละ 70 บาท
“ถ้าปีนี้ถ้ายางพาราราคาไม่ดีอีก ก็ว่าจะเปลี่ยนมาปลูกไม้ผลแทนหมดแล้ว” สตอปากล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ
นอกจากนี้เพื่อให้มีแนวทางการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น สตอปาและพรรคพวกทั้ง 16 คนยังรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มส้มโชกุนอินทรีย์ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของต้นส้ม เพราะเมื่อต่างคนต่างปลูก ก็มีปัญหาตามมา จึงรวมกลุ่มเพื่อสร้างพื้นฐานให้เท่าเทียมกัน เช่น การกำจัดแมลงศัตรูพืช อย่างเพลี้ยไฟ ใช้ยาฉีดครั้งเดียว หนอนเจาะ ใช้น้ำหมักฉีดเรื่อยๆ แมลงวันทองใช้สารล่อ และตัวมวน ใช้ยางดักหนู รวมไปถึงการติดต่อหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเข้ามาช่วยดูแล โดยกลุ่มมีกติการ่วมกันว่าจะทำให้การปลูกเป็นอินทรีย์มากที่สุด และใช้สารเคมีเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ด้วยต้องการการรับรองการปลูกพืชตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเข้ามาตรวจอยู่เรื่อยๆ
แม้การปลูกส้มโชกุนในพื้นที่ตำบลแว้งจะยังมีค่อนข้างน้อยอยู่ แต่ก็ถือเป็นไม้ผลที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจ ด้วยได้ราคาดี หากมีการต่อยอดทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ คงไปได้ไกล แต่อย่างน้อยเวลานี้ ก็ดีกว่ายางพาราแน่นอน…