ส่งสุขปีใหม่ ไม่ให้เหล้า

ที่มา : MGR Online


ภาพประกอบจาก MGR Online


ส่งสุขปีใหม่ ไม่ให้เหล้า thaihealth


สสส.ผนึก ภาคีเครือข่ายฯ รณรงค์ “ส่งความสุขปีใหม่ ไม่ให้เหล้า” หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ลดการซื้อเหล้าเป็นของขวัญ แทนที่ด้วยผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ทำลายสุขภาพ


เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. เวลา 10.00 น. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกลุ่มคนเลิกเหล้าในโครงการตลาดสดชวนเลิกเหล้าถวายพ่อ จัดกิจกรรมรณรงค์ ภายใต้แนวคิด “ส่งความสุขปีใหม่ ไม่ให้เหล้า” ในงานมีการเดินรณรงค์แจกสื่อประชาสัมพันธ์ ถือป้ายคำขวัญ ขบวนแฟนซีผลกระทบจากอุบัติเหตุ ความรุนแรงในครอบครัว ทะเลาะวิวาท อาชญากรรม เดินจากสวนสันติภาพเคลื่อนมายัง ลานเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัสมรภูมิ และพร้อมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์


ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายฯ จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งความสุขปีใหม่ ไม่มีเหล้า ภายใต้แคมเปญ“ให้เหล้า=แช่ง” มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 และประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แนวโน้มผู้ที่ให้เหล้าเป็นของขวัญลดลงทุกปี ถือเป็นการกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงพิษภัยจากแอลกอฮอล์ ที่นอกจากจะเป็นผลกระทบต่อตนเอง โดยการดื่มแอลกอฮอล์สามารถก่อให้เกิดโรคได้มากถึง 200 โรค แล้วยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อคนในครอบครัว คนรอบข้าง สังคม และชุมชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือความรุนแรง


“ให้เหล้า=แช่ง ได้สร้างแรงกระเพื่อม ให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ค่านิยมสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งในยุคนี้ ไม่มีใครให้เหล้ากันแล้ว โดยจะพบว่า ผู้ที่เคยได้รับของขวัญเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในปี 2551 อยู่ที่ 30.5% เมื่อมีการรณรงค์ “ให้เหล้า = แช่ง” อย่างต่อเนื่อง พบว่าในปี 2560 พบว่า ผู้ที่เคยได้รับของขวัญเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดลงเหลือเพียง 9% และหวังว่ากิจกรรมนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไม่ให้เหล้าเป็นของขวัญ แต่ควรมอบสิ่งดีๆ เช่น หนังสือ ซึ่งจะเป็นของขวัญสร้างปัญญา เป็นสิ่งตรงข้ามกับน้ำเมา ที่ทำลายสมอง​ และทำให้ผู้ให้ดูดี ฉลาดเลือกของขวัญ​ด้วย คือ​ดีทั้งผู้ให้ ผู้รับ เกิดค่านิยมใหม่ หรือในการจัดงานเลี้ยงไม่ควรมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจากข้อมูลพบว่า เทศกาลปีใหม่ทุกๆ ปี เกิดอุบัติเหตุสูงกว่าช่วงปกติถึง 2 เท่า ซึ่งในเทศกาลปีใหม่ 2560 ที่ผ่านมาพบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงเป็น การเมาสุรา ร้อยละ 36.59 รองลงมา คือขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ31.31” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว


ส่งสุขปีใหม่ ไม่ให้เหล้า thaihealth


นางประนอม เชียงอั๋ง รองประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทได้จัดงานเลี้ยงปีใหม่ที่ไม่มีเหล้า มาอย่างต่อเนื่องกว่า 9 ปี พนักงานทุกคนรับทราบดีว่า นโยบายของบริษัทจะไม่มีเหล้าในงานเลี้ยง แต่จะนำค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปมองเป็นของขวัญปีใหม่ให้พนักงาน แม้แรกๆ พนักงานจะไม่เข้าใจ แต่พอเห็นผลกระทบ จากโรงงานอื่นๆ ที่มีการดื่มเฉลิมฉลองจนเมาขาดสติ เกิดการทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุบาดเจ็บ มีแต่เสียกับเสีย เมื่อดื่มเหล้าก็จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ทรุดโทรม ทำงานได้ไม่เต็มที่ ขาดกำลังการผลิต หยุดบ้าง ลาป่วยบ้าง ผลที่ตามมาคือผลผลิตล่าช้า ไม่ตรงตามเวลา และไม่ได้คุณภาพ เป็นผลเสียทั้งต่อบริษัทและตัวพนักงาน กระทั่งพนักงานเกิดความเข้าใจมากขึ้น ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามเป็นอย่างดี


นายพิชัย ทองรุ่ง อายุ 22 ปี เจ้าหน้าที่กู้ภัยเทศบาลตำบลคลองเต็ง อำเภอเมืองตรัง ผู้ได้รับผลกระทบจากคนเมาแล้วขับ กล่าวว่า เมื่อตอนดึกวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนและเพื่อนกู้ภัยรวม 7 คน ลงไปช่วยเหลือคนขับขี่จักรยานยนต์ที่ได้รับบาดเจ็บจากการเฉี่ยวชนราวสะพาน แต่กลับถูกรถกระบะชนพุ่งชน ถนนเพชรเกษมช่วงขาออกเมืองตรัง ทำให้ตำรวจเสียชีวิต 1 ราย เจ้าหน้าที่กู้ภัยเสียชีวิต 4 รายและบาดเจ็บสาหัส 3 ราย ตนและเพื่อนอีก 2 คนรอดมาได้ นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลาหลายเดือน สภาพคือไหปลาร้าขวาหักกระดูกสันหลังแตกและศีรษะเย็บกว่า 10 เข็ม ระบบขับถ่ายไม่ปกติ


“จากนั้นมาได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ต้องตกงานจากพนักงานรายวันมีรายได้วันละ200-300 บาท ตกเป็นภาระของแม่ที่รับจ้างกรีดยางรายได้แค่เพียงเล็กน้อย หากวันไหนฝนตกแทบไม่มีรายได้แถมมีภาระต้องดูแลน้าสาวพิการทางสมองอีกหนึ่งคนรวมเป็นสามชีวิต ทุกสัปดาห์ผมต้องเดินทางไปโรงพยาบาลตามนัด ซื้อเวชภัณฑ์พยาบาลเพิ่มเติม ทำกายภาพบำบัด ขาทั้งสองข้างยังไม่มีแรงเวลาปวดปัสสาวะต้องใช้วิธีการสวนทุกครั้ง มีค่าใช้จ่ายสัปดาห์ละ1,000 บาท เป็นอย่างน้อย ตั้งแต่เกิดเหตุได้รับแค่ความช่วยเหลือจากผู้บริจาคหน่วยกู้ภัยเทศบาลตำบลแบ่งมาให้จำนวน 23,000 บาท จากนั้นไม่มีหน่วยงานใดช่วยเหลืออีกเลย โชคดีที่พี่ๆ เครือข่ายงดเหล้า ได้เข้ามาดูแลช่วยเหลือ ให้คำแนะนำสร้างพลังใจอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชีวิตพอยืนหยัดขึ้นมาได้บ้าง ส่วนตัวอยากให้มีหน่วยงานมากำกับดูแลคนกู้ภัย ตลอดจนช่วยเหลือเยียวยาหากประสบเหตุระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ปัญหาเมาแล้วขับส่งผลกระทบรุนแรงมากพอแล้ว ปีใหม่นี้การให้สิ่งดีๆ อื่นที่ไม่ใช่เหล้าเป็นของขวัญน่าจะดีกว่า” นายพิชัย กล่าว


 ด้าน นางสาวชนกนาค แก้วสะเทือน แกนนำในโครงการตลาดสดชวนเลิกเหล้าถวายพ่อ ตลาดหทัยมิตร กล่าวว่า ในอดีตช่วงก่อนช่วงปีใหม่ของทุกๆ ปีคือช่วงเวลาที่รอคอย เงินที่เก็บไว้ได้บ้างก็จะหมดไปกับเหล้าเบียร์ เพื่อนฝูงมากมายมาร่วมฉลองกัน ถึงไหนถึงกัน ของกิน กับข้าวในบ้านหมดไม่มีเหลือ ร้องเพลงส่งเสียงดังไม่เคยสนใจว่าใครจะเดือนร้อน เหมือนว่าโลกนี้มีแต่พวกเรา และหลายครั้งที่ทะเลาะวิวาท มีเรื่องมีราวมีปากเสียงกันเอง ซึ่งเมื่อมาร่วมโครงการทำให้เริ่มตั้งหลัก คิดได้และหันหลังให้เหล้าเบียร์เป็นการถาวรจนทุกวันนี้ ปัจจุบันคนในตลาดรู้กันดีว่าไม่ต้องมาชวนตนไปกินเหล้าให้เสียเวลา และปีใหม่นี้ก็ตั้งใจจะทำเรื่องดีๆ ให้ครอบครัว ทำกิจกรรมที่ไม่มีน้ำเมาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็มีความสุขได้ ไม่ใช่ความสุขแบบปลอมๆ แบบเมาๆ ที่หาความสุขความจริงใจไม่ได้เลย ตอนนี้แม้ว่าเราไม่ร่ำรวยมากมายแต่เราก็พบความสุขในแบบของเรา แบบที่ไม่มีเหล้าเข้ามาแปดเปื้อนเลย” นางสาวชนกนาค กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code