สูบบุหรี่เพิ่มวันนอน รพ. ขึ้นสองเท่า
ผู้สูบบุหรี่และผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ได้ไม่เกิน 5 ปี มีจำนวนวันที่ต้องเข้าอยู่โรงพยาบาลมากกว่าผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลยถึงกว่าสองเท่าตัว
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยงานวิจัยที่พบว่าผู้สูบบุหรี่และผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ได้ไม่เกิน 5 ปี มีจำนวนวันที่ต้องเข้าอยู่โรงพยาบาลมากกว่าผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลยถึงกว่าสองเท่าตัว โดยแคทริน วิลกิ้นส์ และคณะทำการสำรวจสภาวะสุขภาพชาวแคนาดา 28,255 คน เผยถึงความสัมพันธ์ของประวัติการสูบบุหรี่กับจำนวนวันที่ต้องเข้าอยู่โรงพยาบาลตั้งแต่ พ.ศ.2543 รวมเป็นเวลาสี่ปี พบว่าจำนวนวันรวมที่ผู้สูบบุหรี่ต้องเข้าอยู่โรงพยาบาลมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่กว่าสองเท่าตัว
เมื่อวิเคราะห์เฉพาะกลุ่มผู้สูบบุหรี่ที่อายุระหว่าง 45 ถึง 74 ปี จำนวนวันที่อยู่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นกว่ากลุ่มที่ไม่สูบบุหรี่ในวัยเดียวกันรวม 7.1 ล้านวัน และจำนวนวันที่ผู้สูบบุหรี่ในกลุ่มนี้ต้องอยู่โรงพยาบาลคิดเป็นร้อยละ 32 ของจำนวนวันทั้งหมดที่คนกลุ่มอายุนี้ต้องอยู่โรงพยาบาล ทั้งนี้รายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่าในจำนวนโรคเรื้อรังแปดอันดับแรกของประชากรในโลกนี้ มีถึงหกโรคที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ทั้งที่เป็นสาเหตุหลักอาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคถุงลมปอดพอง โรคเส้นเลือดสมองและสาเหตุรอง เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ และวัณโรค
ทั้งนี้การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่ป้องกันได้ที่สำคัญที่สุดในประเทศส่วนใหญ่ในโลกรวมทั้งประเทศไทยที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละกว่าสี่หมื่นคน
ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
update 11-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด