สูตร ‘นายญี่ปุ่น’ สร้างความสุขให้คนงานไทย
มีการประเมินกันว่า วันนี้มีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME)จากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานในการทำธุรกิจอยู่กว่า 8,000 แห่ง และมีแรงงานไทยอยู่ในธุรกิจเหล่านี้กว่า 1 ล้านคน ในอดีตเราจะเข้าใจว่า ญี่ปุ่นมาไทย ก็หอบหิ้ววัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่นมาใช้กับคนไทยด้วย เพื่อเปลี่ยนให้เป็นองค์กรแบบญี่ปุ่น
แฟ้มภาพ
ทว่าวันนี้ ผู้บริหารญี่ปุ่นเจเนอเรชั่นใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี พวกเขามีมุมมองที่เปลี่ยนไปแล้ว โดยไม่ได้คิดจะมาสร้างองค์กรแบบญี่ปุ่นในไทย แต่เลือกที่จะเข้าใจคนไทย แล้วสร้างองค์กรแห่งความสุข ร่วมกันขึ้นที่นี่
"ฮิโรยูกิ สุกาอิ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชีโระ (ไทยแลนด์) จำกัด ธุรกิจอุปกรณ์เสริมสำหรับโทรศัพท์มือถือ วัย 30 ปี เลือกเข้าร่วมโครงการ Happy Workplace International Project ของสสส. เพราะอยากเข้าใจพนักงานคนไทย หลังเข้ามาทำธุรกิจในไทยได้ประมาณปีเศษ และมีพนักงานทุกคนเป็นคนไทย
เขายอมรับว่า เป็นผู้บริหารญี่ปุ่นต้องมาทำงานกับ คนไทย ซึ่งมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันทำให้มีความไม่เข้าใจเกิดขึ้นบ้าง เช่น คนญี่ปุ่นจะใส่ใจกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ จริงจังกับการทำงาน และให้เวลากับงานมาก แต่กับคนไทยจะทำงานแบบเรื่อยๆ สบายๆ และไม่ชอบทำงานเกินเวลา
สุกาอิ ไม่ต้องการที่จะเปลี่ยนคนไทยให้เป็นแบบญี่ปุ่น แต่เลือกที่จะปรับตัวเข้ากับคนไทย โดยการเปิดกว้าง เปิดรับและพร้อมที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมไทย ให้อิสระในการทำงาน ให้โอกาสสร้างสรรค์ และบริหารงานด้วยตัวเอง
"ผมสนใจแค่ เขาสามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย หรือไม่ แต่ไม่สนใจวิธีการ เพราะนี่คือประเทศไทย และผมไม่ใช่คนไทย บางครั้งผมก็ต้องการที่จะปรับตัวตามไทยสไตล์"
เช่นเดียวกัน" เขาบอก เช่นเดียวกับ "จาวู พัค" กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิโต เอ็น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชาเขียวพร้อมดื่มสูตรไม่มีน้ำตาล ผู้บริหารญี่ปุ่น ที่ต้องทำงานร่วมกับพนักงานคนไทย บอกว่า พวกเขาเข้ามาในไทยเมื่อประมาณ 2 ปีก่อนพบว่า คนไทยใจดี แต่ก็มีวัฒนธรรมการทำงานที่ต่างจาก คนญี่ปุ่น เช่น ชอบมาทำงานสายบ้าง ไม่ตรงต่อเวลาบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้และปรับตัวไปด้วยกัน
โดยเขาว่า พร้อมที่จะเรียนรู้คนไทย และอยากรู้ว่า ทำอย่างไรจะให้พนักงานมีความสุข และทำงานได้ดีขึ้น เพื่อที่จะนำมาพัฒนาคนให้พร้อมเติบโตไปด้วยกัน และไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ตัวอย่างสูตรรับมือคนไทยฉบับผู้บริหารญี่ปุ่น ที่หมดยุค การบังคับ แต่เลือก เปิดรับ เรียนรู้ และเข้าใจ
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ