‘สูงวัย’ ก็แข็งแรงได้ ที่บ้านทับไทร
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวอย่างเจนจัด หากผู้สูงวัยอยู่นิ่งเฉย ทำตัวเหี่ยวเฉา สิ่งที่มีคุณค่าอยู่ในตัว ก็คงจะสูญ หายไปในวันที่ล้มหายตายจาก หลายคนเลือกที่อยู่เงียบๆ อยู่บ้าน เลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน แต่ผู้สูงวัยบางกลุ่มเลือกที่จะไม่อยู่นิ่งเฉย เช่น ผู้สูงอายุบ้านทับไทร ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เมื่อผู้สูงวัย 84 ราย ลุกขึ้นมาจัดการตัวเองด้วยการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุบ้านทับไทร ทำกิจกรรมร่วมกันทั้งด้านการดูแลตัวเอง ผู้อื่น และสังคม
"พอไม่มีอะไรทำก็เหงา ว้าเหว่ ซึมเศร้า พาโรครุมเร้าอีก ทั้งๆ ที่บางคนยังแข็งแรงอยู่แล้ว แต่เพราะไม่มีอะไรให้เขาทำกันอย่างต่อเนื่อง" อารยา ศิริสวัสดิ์ หรือ ครูยา ประธานชมรมผู้สูงอายุบ้านทับไทร ให้ความเห็น และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ครูยา ชักชวนผู้สูงอายุในพื้นที่มาตั้งชมรมผู้สูงอายุบ้านทับไทรขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน อยากทำอะไร อยากถ่าย ทอดอะไรก็มาระดมสมองช่วยกัน โดยแรกเริ่มเก็บค่าสมาชิกคนละ 120 บาท เพื่อไว้ใช้เป็นสวัสดิการ ส่วนคนที่ยังไม่ถึงวัย แต่อยากทำงานด้านผู้สูงอายุก็มาช่วยกันก็ได้
กิจกรรมของชมรมในช่วงแรก คือในหนึ่งสัปดาห์จะพบกัน 3 วัน ร่วมกันออกกำลังกาย ช่วยกันดูแลเฝ้าระวังสุขภาพซึ่งกันและกัน พอต่อมาทุกวันอังคาร พุธ และพฤหัสบดี ผู้สูงอายุทุกคนที่ไม่มีธุระ หรือป่วยติดบ้านติดเตียงก็จะมารวมตัวกันดำเนินกิจกรรมตามหลัก 3 อ ได้แก่ ออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายด้วย รำไม้พลอง รำวง เต้นบาสโลป โยคะ จนชำนาญกว่า 20 คนที่สามารถไปออกงานแสดงได้ด้วย
ส่วนด้านอาหาร มาพูดคุยถึงอาหารการกิน ว่าต้องกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดัน โดยในส่วนอาหารนี้จะให้ทุกคนนำอาหารมาจากที่บ้านใครบ้านมัน แล้วมาชิมดูจะได้รู้ ว่าผู้สูงอายุแต่ละบ้านทานอาหารรสชาติแบบไหน ก็จะมีคุณหมอคอยให้คำแนะนำในด้านโภชนาการ
ภายหลังกิจกรรม ทุกคนจะระดมความคิดเห็นกันว่าอยากจะทำอะไรในวันที่ 14 และ 25 ของแต่ละเดือน ซึ่งเป็นวันประชุมใหญ่มีกิจกรรมตลอดทั้งวัน จึงเป็นที่มาของหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นจากความต้องการของสมาชิก
อารยา อธิบายถึงหลักสูตรที่เกิดขึ้นว่า ก่อนจะถึงวันประชุมใหญ่ในแต่ละเดือนก็ จะขอแสดงความคิดเห็นร่วมกันว่า ใครอยากทำอะไรบ้าง เช่น บางคนอยากทำลูกประคบสมุนไพร ลูกสะบ้า บางคนอยากทำไม้กวาด บางรายอยากทำน้ำยาอเนกประสงค์ เมื่อได้มติจากเสียงส่วนใหญ่แล้ว ก็จัดเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้ พอถึงวันอบรม ก็จะให้สมาชิกที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เป็นวิทยากรสอน เพราะหลายคนเก่งในงานฝีมือ ก็นำความรู้และประสบการณ์ ช่วยสอนให้เพื่อนๆ ถือเป็นองค์ความรู้ที่อยู่ในชุมชนอย่างแท้จริง
กิจกรรมหรือหลักสูตรของชมรมผู้สูงอายุบ้านทับไทร จึงไม่มีแบบตายตัว ไม่ได้สร้างหลักสูตรให้ สมาชิกอยากทำอะไร อยากสอนอะไร ก็จะสอนกันเอง สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จึงเป็นหลักสูตรที่เกิดจากความต้องการและการมีส่วนร่วมของสมาชิกอย่างแท้จริง
"ขณะเดียวกันเราไม่ปล่อยให้องค์ความรู้หรือภูมิปัญญาสูญหายไป ทุกคนปรารถนา ที่จะใช้สมอง และสองมือคอยถ่ายทอดให้ กับเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของชุมชน เป็นการลดช่องว่างระหว่างวัย เขาจะได้รู้ ว่ากว่าจะได้มาในแต่ละอย่างเป็นอย่างไร ทำไปด้วยฟังเรื่องเล่าไปด้วย ได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมและ วิถีชีวิตของคนบ้านทับไทร" ครูยา ทิ้งท้าย
โดยในปี พ.ศ.2560 ทางชมรมผู้สูงอายุบ้านทับไทร ได้เข้าร่วมโครงการ "สร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน" ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็ง พร้อมทั้งขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ของชมรมให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และกลายเป็นชมรมผู้สูงอายุต้นแบบของ จ.จันทบุรี