สูงวัยสร้างเมือง ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ สุขปลอดภัย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์" เริ่มต้นในปี 2564 โดยใช้หลักประชากรผู้สูงอายุ 20% จากจำนวนประชากรทั้ง หมด ในอนาคตเมื่อก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว จึงเตรียมพร้อมสร้างสภาพแวดล้อม และชุมชนที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในบั้นปลายให้มีความสุข
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการมุ่ง สู่สูงวัยสร้างเมือง และลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) ที่จัดโดยความร่วมมือ ของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ร่วมกันพัฒนาข้อเสนอโครงการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยหลัก 5 อ. และ 5 ก. โดย 5 อ.ประกอบด้วย 1. การส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ 2. อาหารสำหรับผู้สูงอายุ 3. การส่งเสริมการออกกำลังกายผู้สูงอายุ 4. การออมเพื่อผู้สูงอายุ และ 5. ฝึกอบรมอาสาสมัครและอาสาสมัครเยี่ยมบ้านส่วน 5 ก.หมายถึง 5 กลไก ประกอบด้วย 1. การป้องกันและลดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ 2. การตั้งและพัฒนาโรงเรียนผู้สูงอายุ 3. การพัฒนาชมรมผู้สูงอายุ 4. การดูแลต่อเนื่องที่บ้าน 5. การบริการกายอุปกรณ์ หรือการมีศูนย์อุปกรณ์ช่วยเหลือและฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นกลไกให้หน่วยงานในพื้นที่เป็นกลไกและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนที่สำคัญ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นใช้องค์ความรู้ ใช้ความต้องการของผู้สูงอายุมาเป็นที่ตั้ง ทั้งการตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ ที่ร้อยความรู้ทั้งการดูแลสุขภาพ การออม ตลอดจนส่งเสริมเรื่องอาชีพให้เหมาะกับสภาพร่างกาย
นายประกิจ เสาร์แก้ว นายกเทศมนตรีตำบลป่าไผ่ อำเภอสัน ทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เราถือว่าผู้สูงอายุเป็นปูชนียบุคคล ส่งเสริมให้เขาดูแลสุขภาพตนเอง กินอาหารดี ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และออมทรัพย์เพื่อตนเอง ทำตามหลัก 5 อ.ของ สสส. เลย คือ อาหาร อาชีพ ออกกำลังกาย ออมทรัพย์ และอาสาสมัคร
"ต้องบอกเขาว่าให้ช่วยตัวเองให้ได้ ถ้าช่วยตัวเองได้จะช่วยผ่อนแรงลูกหลาน เทศบาลเรามีแบบกึ่งเมือง กึ่งชนบท เราก็ต้องพัฒนาความเข้าใจแล้ว เราต้องให้พวกเขารู้จักความแก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีศักดิ์ศรี เราจึงใช้โรงเรียน สูงอายุ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ แล้วให้มีอาชีพที่ดี มั่นคง แต่ต้องไม่หนัก" ประกิจบอกเล่าวิธีการทำงานกับผู้สูงอายุ
นายกเทศมนตรีตำบลป่าไผ่ เล่าว่าในพื้นที่ ป่าไผ่เน้นทำเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ส่งเสริมอาชีพส่งเสริมความพอเพียง ในกลุ่มคนสูงวัย ส่งเสริมให้ปลูกผักขายในตลาดชุมชน ซึ่งผักที่ปลูกปลอดสารเมื่อนำไปบริโภคคนก็จะปลอดภัย และมีสุขภาพดีแถมยังส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนด้วย เรียกว่าส่งเสริมสุขภาพด้วย ส่งเสริมความสุขด้วย เรียกกันว่าทำโรงเรียนสูงอายุทำได้สองแสน แสนที่หนึ่งแสนสุข คือ สุขกับสิ่งที่ทำ สนุกกับงาน แสนที่สอง แสนจะปลอดภัย ผักสะอาดนำมาปรุงอาหารคนกินก็อุ่นใจ ปลอดภัย ปลอดโรค เพราะยากำจัดแมลงและปุ๋ยชาวบ้านที่เป็นผู้สูงอายุก็ทำกันเองจึงเชื่อมั่นได้ว่าสินค้าทางการเกษตรที่ซื้อไปจากกลุ่มอาชีพผู้สูงอายุมีความปลอดภัยสูงและเป็นสิ่งที่เทศบาล ตำบล ชุมชน ควรให้การสนับสนุน
"พยายามใช้ระบบแกนนำหรือตัวอย่างของผู้สูงอายุเข้ามาลองศึกษาดู คนอื่นก็ตามมาทีหลัง มันเกิดการบอกต่อระหว่างกันแล้วสุดท้ายโรงเรียนผู้สูงอายุก็มีความโดดเด่นด้านอาชีพ" นายกเทศมนตรีตำบลป่าไผ่บอกเล่า
มานพ ยะเขียว นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก บอกว่า การตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุในชุมชนเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุได้อวดความสามารถ ได้รู้สึกถึงการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี แต่คนในชุมชนต้องพร้อมจะมองนักเรียนผู้สูงอายุในมุมมองใหม่
โรงเรียนผู้สูงอายุแม่ปะ เป็นพื้นที่อวดความสามารถ พื้นที่แบ่งปันความสุข ทุกข์ และรอยยิ้มของคนสูงวัย โดยเอากิจกรรมในชุมชนเข้าไปจัดกระบวนการ เช่น กิจกรรมตรวจสุขภาพ กิจกรรมออกกำลังกาย กิจกรรมด้านศาสนา ผ้าป่า กฐิน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นหลักสูตรหนึ่งที่ทาง อบต. จัดขึ้นพร้อมเชิญวิทยากรมาถ่ายทอดและวิทยากรบางรายก็เป็นคนสูงอายุเช่นกัน
"โรงเรียนไม่ได้สอนวิชาความรู้ทั่วไปแบบโรง เรียนมัธยม ประถม แต่โรงเรียนสอนคนสูงอายุทำเพื่อตัวเอง ทำเพื่อชุมชน คือ เพื่อส่วนตัวและส่วนรวมพร้อมๆ กัน เช่น ทำผ้าป่าที หรือใครเรียนจบหลักสูตรมีสุขภาพดี แข็งแรง มีความรู้ดี ๆ เราก็ยกย่อง มอบประกาศนียบัตรและเวลาคนสูงวัยเรียนจบจากโรงเรียน จะกี่ร้อยคนก็ช่างเราเชิญนักการเมืองท้องถิ่นบ้าง ผู้ว่าราชการจังหวัด มามอบปัญญาบัตรให้ เอาเขาเป็นตัวเอก คนหนุ่มสาวเป็นตัวรอง คือ ผลักดันให้เขาเด่นเข้าไว้ เขาจะเกิดแรงจูงใจเข้ามามีส่วนร่วมและบอกต่อกันให้เพื่อนๆ"
…อีกโมเดลของโรงเรียนผู้สูงอายุ เน้นเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง …
นริศ กิจอุดม นายก อบต.วังใหม่ อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี นโยบายสำคัญคือ การคืนกำไรให้คนสูงอายุที่เกษียณอายุให้กลับมาเป็นบุคลากรในโรงเรียนผู้สูงอายุ และพยายามส่งเสริมเรื่องการลดเหล้าลดอบายมุขเพราะทางตำบลของเรานั้นทำงานร่วมกับ สสส.เราจำเป็นที่จะต้องผลักดันภารกิจในฐานะภาคีเครือข่าย แต่การงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์งดอบายมุขก็เป็นการส่งเสริมสุขภาพให้ผู้สูงอายุได้อย่างดีดังนั้นนโยบายในลักษณะนี้อะไรที่มันมีประโยชน์สองต่อเราจะส่งเสริมเสมอ ส่วนคนสูงอายุที่เกษียณจะรู้สึกว่าตัวเองยังมีศักยภาพในการถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้จะมีความต้องการในการทำงานเรื่อยๆ
…ผู้สูงอายุสามารถทำงานได้ไม่มีวันหมดอายุ ดูแลตัวเอง ตลอดจนช่วยเหลือสังคมได้ เพียงแต่ท้องถิ่นจะมองเห็นศักยภาพและคุณค่าของผู้สูงอายุมากน้อยเพียงใด…