สุดยอดผู้นำชุมชน เดินหน้า “1 ตำบล ชวน 100 คน งดเหล้า”
เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพโดย สสส.
“1 ตำบล 100 คนงดเหล้า” เป็นแนวคิดรณรงค์งดเหล้าโดยใช้ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเป็นจุดเริ่มต้นเชิญชวนให้ทุกคนเริ่ม ลด ละเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สู่การเลิกดื่มตลอดชีวิต
สำหรับกิจกรรมรณรงค์งดเหล้าภายใต้โครงการ "ลดเมา เพิ่มสุข" ในปี 2562 ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกันเปิดเวทีจัดการความรู้สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น "1 ตำบล 100 คนงดเหล้า" โดยมีแนวคิด 4 สร้าง 1 พัฒนา เป็นกลไกขับเคลื่อน เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น ที่มีบทบาทร่วมมือ รวมพลังกันสร้างชุมชนเข้มแข็งไม่ยอมจำนนให้กับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนัก 3 สสส. กล่าวถึงกิจกรรมนี้ว่า เป็นความพยายามทำให้ช่วงเข้าพรรษาเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการลด ละ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปสู่การเลิกดื่มตลอดชีวิต ซึ่งจากการเก็บข้อมูลในเครือข่าย 2,148 แห่ง จากจำนวนประชากร 8.9 ล้านคน 2.84 ล้านครัวเรือน พบว่า ในพื้นที่มีนักดื่มประจำสูงสุด ร้อยละ 4 ภูมิภาคที่มีสถิติสูงสุด ได้แก่ ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง ตามลำดับ โดย 3 จังหวัดที่มีสถิติสูง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดขอนแก่น อีกทั้งยังพบว่ามีผู้ดื่มทั่วไป 3.74 แสนคน โดยเฉลี่ยในแต่ละครอบครัวมีนักดื่มอย่างน้อย 1 คน มากถึง 2.7 แสนครัวเรือน ที่น่าตกใจคือบางพื้นที่เยาวชนอายุเพียง 11 ปีก็เป็นนักดื่มแล้ว ซึ่งนอกจากลดนักดื่มหน้าเก่าแล้วยังต้องเร่งลดจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ด้วย เพราะการดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นทางสู่การเริ่มต้นอบายมุขอื่น ๆ อีกทั้งในบางพื้นที่มีการดื่มควบคู่กับการกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ดื่มคู่กับการสูบบุหรี่ หรือผู้ดื่มมีภาวะความดันโลหิตสูงก็ล้วนส่งผลต่อปัจจัยสุขภาพโดยรวม
สำหรับกลไก 4 สร้าง 1 พัฒนา ที่ใช้ขับเคลื่อน นางสาวดวงพร อธิบายว่า 1) สร้างต้นแบบ เช่น บุคคลต้นแบบ จิตอาสา คนต้นแบบครอบครัวปลอดภัย 2) สร้างเส้นทางปลอดภัย เช่น จัดการจุดเสี่ยง ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ทำป้ายเตือนเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ บริการยืมหมวกกันน็อก ทำข้อตกลงควบคุมอุบัติเหตุร่วมกันระหว่างตำบล 3) สร้างนวัตกรรมช่วยเลิกโดยชุมชน เช่น กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี สานสายใยรักในครอบครัวด้วยการเลิกเหล้า คิดค้นน้ำสมุนไพร นวดคลายจุด ผลไม้รสเปรี้ยว 4) สร้างมาตรการทางสังคมและบังคับใช้กฎหมาย เช่น ด่านครอบครัวลดอุบัติเหตุ มาตรการ 7 วันปลอดภัย หมู่บ้านปลอดเหล้า เมาไม่ขับ สร้างร้านค้าสีขาว กำหนดพื้นที่ปลอดภัยช่วงเทศกาล จัดงานบุญประเพณีปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์ ทำกติกาหมู่บ้าน กำหนดนโยบายโดยท้องถิ่น และ 1) พัฒนาความร่วมมือกับท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงาน และกลุ่มองค์กรชุมชน รณรงค์ให้เกิดการรับรู้ เข้าใจ สู่การสร้างจิตสำนึกปลอดภัย
“กิจกรรม 1 ตำบล 100 คนงดเหล้า นอกจากจะมีเป้าหมายอยู่ที่นักดื่มแล้ว ยังมีอีก 3 กลุ่มหลักที่ไม่ควรมองข้าม คือ 1) ครอบครัวที่มีเด็กอายุ 0-5 ปี 2) ครอบครัวที่มีคนดื่มอยู่ร่วมกับผู้ป่วยเรื้อรังหรือผู้พิการ และ 3) ครอบครัวที่ผู้ดื่มมีรายได้น้อยหรือต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งหากขับเคลื่อนงานเรื่องนี้ก็จะสามารถบูรณางานร่วมกับเรื่องอื่น ๆ ได้ เช่น อุบัติเหตุทางถนน ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ เป็นต้น” ผู้อำนวยการสำนัก 3 สสส. กล่าว
ภายในกิจกรรมยังมีการมอบรางวัลสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นที่ร่วมสร้างสุขภาวะชุมชน ดังนี้ 1) รางวัลสุดยอดผู้นำต้นแบบเลิกเหล้า จำนวน 87 คน 2) รางวัลสุดยอดคนต้นแบบ จำนวน 96 คน และ 3) รางวัลสุดยอดชุมชนต้นแบบ จำนวน 51 แห่ง โดย นางสุทิน ชาติพุดซา นายกอบต.หนองกระทุ่ม จ.นครราชสีมา หนึ่งในสุดยอดผู้นำต้นแบบเลิกเหล้า บอกว่า การรณรงค์งดเหล้าเป็นสิ่งที่ดี เพราะในทุกหมู่บ้านจะมีคนติดเหล้า หากผู้นำอย่างตนสามารถช่วยลูกบ้านลด ละ หรือเลิกได้จะเกิดผลดีต่อสุขภาพของพวกเขาและสังคมโดยรวม ที่ผ่านมามีวัดเป็นสถานที่สำคัญในการชวนคนลด ละ เลิกดื่ม โดยให้ปฏิญญาตนกับพระ ปฏิบัติธรรม มีอสม.เชิงรุกช่วยสนับสนุนให้เลิกเหล้าได้สำเร็จ จัดกิจกรรมออกกำลังกาย เต้นบาสโลป
“รู้สึกดีใจที่ได้เป็นหนึ่งในสุดยอดผู้นำต้นแบบเลิกเหล้า แม้จะไม่เคยเป็นนักดื่มมาก่อน แต่จะขับเคลื่อนรณรงค์เรื่องนี้ต่อไป เพราะผลจากการทำงานที่ผ่านมาก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แม้นักดื่มจะยังไม่สามารถเลิกได้หมดทุกคน แต่การลด ละ เลิกดื่มได้ต้องเกิดจากพลังใจมหาศาล” นางสุทิน กล่าว
อีกหนึ่งผลกระทบที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน ผู้ที่รับรางวัลสุดยอดชุมชนต้นแบบ ต้องมาจากการให้ความสำคัญต่อการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม โดย นายสมาน วังแสง นายกอบต.เจดีย์ชัย อ.ปัว จ.น่าน หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลดังกล่าว เล่าว่า ตำบลเจดีย์ชัยเป็นตำบลสุขภาวะที่ขับเคลื่อนเรื่องการลดดื่ม ลดอุบัติเหตุ และอาหารปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี ที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ส่งผลให้เกิดความสูญเสียกับชีวิตและทรัพย์สิน จึงใช้กลไกพัฒนาความร่วมมือในพื้นที่ เช่น ปรับสภาพถนนให้เหมาะสมปลอดภัย ผู้นำชุมชนบังคับใช้กติกาชุมชน อาทิ จำกัดงานที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ห้ามคนเมาขับขี่ออกจากงานเลี้ยง เกิดนโยบายเป็นกติกาในชุมชนที่ชาวบ้านยินยอมทำตามโดยความสมัครใจ โดย สสส. เข้ามาให้กระบวนการจัดการความรู้ จัดการนวัตกรรม สนับสนุนสื่ออุปกรณ์รณรงค์ต่าง ๆ จนในปี 2562 สามารถลดอุบัติเหตุเป็นศูนย์ได้
“ในงานวันนี้มีสุดยอดผู้นำต้นแบบเลิกเหล้าในพื้นที่มารับรางวัล 6-7 หมู่บ้าน สำหรับเข้าพรรษาปีนี้ นอกจากจะใช้เป็นโอกาสในการเริ่มต้น ลด ละ เลิก ดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 3 เดือนแล้วยังเพิ่มเป้าหมายให้คนเลิกดื่มตลอดชีวิต โดยใช้วัดเป็นแรงบันดาลใจทางศาสนาให้นักดื่มมีกำลังใจเพิ่มขึ้น” นายกอบต.เจดีย์ชัย กล่าว
ส่วน นายไพบูลย์ ธีมาสะ หนึ่งในสุดยอดคนต้นแบบเลิกเหล้า จ.มหาสารคาม เล่าว่า ตนเริ่มดื่มตั้งแต่อายุ 20 ปี จนกระทั่งตัดสินใจลดดื่มได้ตอนอายุ 47 ปี เนื่องจากอยากอยู่กับหลานไปนาน ๆ และไม่อยากให้หลานเห็นพฤติกรรมที่ไม่ดีและลอกเลียนแบบ กอปรกับตอนนั้นสุขภาพแย่ เหนื่อยง่าย ขี้เกียจทำงาน แต่ละวันคิดจะดื่มอย่างเดียว ที่สำคัญคือไม่มีเงินเก็บเพราะเอาไปลงกับขวดเหล้าหมด ช่วงแรกที่คิดเลิกต้องใจแข็ง เอาเวลาที่เคยดื่มไปหากิจกรรมทำ เช่น ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงไก่ เล่นกับหลาน ซึ่งเข้าพรรษาปี 2562 นี้ตนได้ตั้งใจจะเลิกดื่มตลอดชีวิต จึงอยากเชิญชวนเพื่อนนักดื่มให้ทดลองลด ละ เลิกดื่มในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน หากดีก็ให้ลองทำต่อไป จาก 3 เดือน ค่อย ๆ เพิ่มเป็น 6 เดือน 1 ปี ดื่มเฉพาะไปงานหรือเลิกดื่มตลอดชีวิตได้เลยยิ่งดี
หากกิจกรรม 1 ตำบล 100 คนเลิกเหล้า สามารถขับเคลื่อนได้สำเร็จ เชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มความปลอดภัยภายในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งลดปัญหาอาชญากรรม ลวนลามทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว และอุบัติเหตุทางถนน เมื่อปัญหาเหล่านี้ค่อย ๆ หมดสิ้นไป ความสุขของประชาชนก็จะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง อีกทั้งยังเพิ่มประชากรที่มีสุขภาพดี มีเงินเก็บ และมีเวลาคุณภาพเพิ่มขึ้น