สุขสร้างได้ เริ่มต้นที่ตัวเรา
แนะอยู่กับอดีต-ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
หากพูดถึงคำว่า “ความสุข” หลาย ๆ คนก็คงจะจินตนาการความสุขของตัวเองไปในหลายรูปแบบ บ้างก็มีความสุขกับการได้อยู่กับคนที่รัก บ้างก็มีความสุขกับการรับประทานอาหาร มีความสุขกับการร้องเพลง หรือมีความสุขที่ได้แบ่งปันความรักให้แก่ผู้อื่น…ในขณะที่บางคนกลับไม่อาจค้นพบคำตอบของความสุขที่แท้จริงในชีวิตได้ ทั้งที่ความสุขนั้นอบอวลอยู่ใกล้ตัวเราตลอดเวลา
เพราะความสุขของคนเรามีหลายรูปแบบ และแต่ละคนต่างก็มีวิธีการหาความสุขได้แตกต่างกัน เช่นเดียวกับ นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล ผู้จัดการแผนสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มองว่า คนเราสามารถแบ่งความสุขออกมาเป็นรูปแบบง่าย ๆ ได้ด้วยตนเอง โดยเลือกที่จะมีความสุขทางกาย อย่างเรื่องของการได้กินของอร่อย ได้นอนที่นุ่ม ได้ฟังเพลงที่ไพเราะ ส่วนความสุขทางใจ มักเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจ จากการได้ทำสิ่งดี ๆ ทำงานประสบความสำเร็จ ได้รับความชื่นชม ความสงบทางใจก็เป็นความสุขทางใจที่สำคัญเช่นกัน
สำหรับความสุขทางสังคม ก็คือ การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการเกื้อกูลกัน มีความสงบสุข มีการช่วยเหลือกัน ปราศจากความขัดแย้งรุนแรง ในขณะที่บางคนอาจจะเติมความสุขประเภทที่สี่ ซึ่งเป็นความสุขในระดับที่ลึกซึ้งขึ้นไป และเรียกชื่อแตกต่างกัน อาทิ ระดับจิตวิญญาณ หรือความสุขทางปัญญา ซึ่งเป็นความสุขที่ได้จากการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ และรู้สึกว่า ตนเข้าใจชีวิต และเข้าใจตนเองมากขึ้น
จากงานวิจัยในต่างประเทศ ที่ นพ.ประเวช ยกมาดูเหมือนว่าจะมีข้อสรุปตรงกัน ว่า แหล่งความสุขที่สำคัญที่สุด คือ การมีความรักความสัมพันธ์ที่ดี กับคนใกล้ตัว ส่วนแหล่งความสุขที่คนเราส่วนใหญ่เข้าใจว่าสำคัญ คือ ทรัพย์สินเงินทอง กลับเป็นแหล่งความสุขที่ไม่มีผลมากอย่างที่เข้าใจ เพราะสำหรับคนที่มีปัจจัยสี่ครบแล้ว เงินที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เพิ่มความสุขได้สักเท่าไร นอกจากนี้ วิธีการหาความสุขสำหรับบางคนอาจจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองหรือผู้อื่น อาทิ การดื่มสุรา เปิดเพลงเสียงดัง ขับรถซิ่ง ซึ่งการหาความสุขในรูปแบบเหล่านี้ มักแฝงไว้ซึ่งอารมณ์สะใจ หรือความต้องการจะกลบอารมณ์ทุกข์ใจอย่างอื่นไว้ภายใต้กิจกรรมเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า สิ่งเหล่านี้ใช่กิจกรรมความสุขหรือไม่
จะเห็นได้ว่า “ความสุข” เป็นเรื่องที่สามารถสร้างเองได้ หากทุกคนเข้าใจดีพอว่าอะไรคือความสุขของชีวิต และไม่เผลอวิ่งตามกระแสสังคมที่มักถูกกระตุ้นให้เกิดความอยาก โดยยึดหลักการสร้างความสุขในชีวิตด้วยการสร้างความสุขในปัจจุบัน ด้วยการรู้จักพอ และมีความสุขอย่างง่าย ๆ อาทิ ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว จัดเวลาช่วยเหลือผู้อื่น สุขได้กับธรรมชาติ ไม่คิดเปรียบเทียบกับคนที่มีมากกว่าจนทำให้รู้สึกด้อย เพราะจะยิ่งเกิดความรู้สึกขาดแคลนและมีความสุขลดน้อยลง
รู้จักที่จะดูแลความสุขจากอดีต ด้วยการทำสิ่งต่าง ๆ ในแต่ละขณะให้ดีที่สุด จนเกิดเป็นความทรงจำที่ดี และเมื่อมองย้อนกลับมาก็จะเกิดความภูมิใจและพอใจในสิ่งที่ตัวเองได้เลือกทำ ขณะเดียวกัน ก็รู้จักการให้อภัย เพื่อเปิดโอกาสให้ชีวิตตัวเองได้เดินหน้าต่อไป ไม่เก็บเรื่องราวต่าง ๆ จากอดีตมาสร้างความขุ่นเคืองและทุกข์ใจ และรู้จักที่จะสร้างสุขในอนาคต ด้วยการมองโลกแง่ดี มองไปในอนาคตอย่างมีความหวัง ว่าสิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้นได้ มองเห็นปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ว่าจะผ่านพ้นไปได้ และมองสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นบทเรียน เพื่อพัฒนาตนเองให้มีความสามารถในการดำเนินชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
ไม่เพียงเท่านี้ กิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำอย่างการพบปะเพื่อนฝูง การออกไปเที่ยวกับครอบครัว การฝึกฝนสมาธิ การทำบุญใส่บาตร หรือการออกำลังกายก็เป็นวิธีการสร้างสุขง่าย ๆ ที่คุณก็สามารถทำได้…^^
เมื่อทุกคนสามารถเป็นเจ้าของและออกแบบความสุขของตนเองได้ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ความสุข”ของคนเรานั้นไม่เป็นจำเป็นต้องมีของราคาแพง มีรถหรู ๆ มีบ้านหลังใหญ่ ๆ เลย ถึงแม้ในปัจจุบันนี้ทุกคนจะอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งหรือความรุนแรงต่างๆ อยู่ก็ตาม แต่ความสุขก็สามารถเกิดขึ้นได้ โดยการเริ่มจากตัวเอง
“อยากได้ความสุข ต้องรู้จักลงทุนด้วยการ “สละเวลา” เพราะเพียงแค่คุณแบ่งเวลาจากการทำงานที่เคร่งเครียด มาใช้เวลากับอย่างอื่นบ้าง ชีวิตของคุณก็จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น เพราะผมเชื่อว่ากาย ใจ ปัญญา และสังคม เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน ถ้าหากว่าเรามีความสุขทางกายที่ดีโดยการแบ่งเวลาไปออกกำลังกายแค่ 15-30 นาที ก็เพียงพอต่อการที่สารเอนโดรฟินจะหลั่งออกมา เพื่อสร้างความสุขให้กับเรา เมื่อร่างกายเราสดชื่น เบิกบาน ก็ส่งผลให้เรามีความสุขทางใจ เมื่อใจมีความสุขก็สามารถออกสู่สังคมได้อย่างมีความสุข รู้จักที่จะเอื้อเฟื้อต่อบุคคลรอบข้าง เมื่อกายดี ใจดี สังคมดี ก็ส่งผลต่อปัญญา คือการมีสติ ได้ทบทวนการกระทำของตนเอง และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆอยู่เสมอ” ทพ.กฤษดา เล่าอย่างออกรส
“ความสุข” เป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างขึ้นมาด้วยสองมือกับอีกหนึ่งหัวใจของเรา เพียงแค่หาเวลาสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย โดยการออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เมื่อร่างกายแข็งแรงพร้อม ย่อมมีผลให้จิตใจมีความสุข และรู้จักที่จะเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ เพียงเท่านี้ ก็จะช่วยให้ตัวเราและสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขเพราะ “สุขสร้างได้ ง่าย ๆ เริ่มที่ตัวเรา” ค่ะ…^^
เรื่องโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaihealth.or.th
Update 27-01-53