สุขภาพคนไทยวิกฤต ป่วยความดันโลหิตสูงพุ่ง2.5ล.
แนะ ห้ามละเลยการปฏิบัติตามสุขบัญญัติ ดีขึ้นได้
น.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่าปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไปสู่การเสื่อมสลาย เกิดกระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยมที่มีค่านิยมเลียนแบบการบริโภคตามต่างชาติ มีการใช้เทคโนโลยีเกินความจำเป็น และไม่เหมาะสม สถาบันทางสังคมอ่อนแอ ทำให้ขาดความเอื้ออาทรใส่ใจซึ่งกันและกัน ขาดการเอาใจใส่ดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไร้คุณค่าทางโภชนาการและพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้สัดส่วน ขาดความสมดุล ละเลยหรือมองข้ามคุณค่าทางโภชนาการ ไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูป กึ่งสำเร็จรูป ที่หาซื้อได้ง่าย สะดวก ซึ่งส่วนมากเป็นอาหารประเภทผัด ทอด ย่าง หรือปิ้งที่มีโปรตีนและเป็นอาหารที่มีไขมันสูง ทำให้ทางเลือกในการบริโภคลดน้อยลง นิยมอาหารรสจัดที่มีความเค็มและหวานมากเกินไป กินผัก และผลไม้น้อย ขาดการออกกำลังกาย เนื่องจากวิถีชีวิตที่ผูกขาด ด้วยภาวะคับคั่งและต้องสูญเสียเวลาในการเดินทาง ตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย มีมลพิษ นอกจากนี้ยังเกิดความเครียดสะสม บางรายไม่สามารถหาทางออกได้ต้องไปพึ่งการสูบบุหรี่ และดื่มสุรา
“ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ปัญหาทางด้านสุขภาพของคนไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเข้าสู่ขั้นวิกฤต พบว่าคนไทยมีการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยภาวะโรควิถีชีวิต หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะ 5 อันดับแรก คือโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดในสมองและโรคมะเร็ง” น.พ.ศุภชัย กล่าว
น.พ.ศุภชัย กล่าวต่อว่า จากการประเมินปัญหาสุขภาพของประชาชนที่เกิดจากการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่ามีการละเลยการปฏิบัติตามสุขบัญญัติ แค่การเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการกินอาหารที่ไม่เหมาะสมและมีการออกกำลังกายน้อย ทำให้เป็นโรคอ้วน มีโรคแทรกซ้อน เช่นความดันโลหิตสูง เบาหวาน จากการตรวจวัดความดันโลหิตทั่วไทยพบว่าคนไทยมีภาวะความดันโลหิตสูงถึง 2.5 ล้านคน รวมถึงการกินอาหารที่ไม่สะอาดไม่ล้างมือ ทำให้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอุจจาระร่วง ซึ่งพบผู้ป่วยตั้งแต่ม.ค.ถึงปัจจุบันแล้ว 416,661 คน นอกจากนี้ยังมีความเครียดจากปัญหาต่างๆ ทำให้คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิต จากการสำรวจพบว่าคนไทย 1 ใน 5 มีความทุกข์ทางใจ มีอาการซึมเศร้า 1.8 ล้านคน มีความเครียดมากร้อยละ 8
“องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าจำนวนการตายของประชากรโลกทั้งหมดประมาณ 58 ล้านคน มีประมาณ 35 ล้านคนมีสาเหตุหลักจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรคไร้เชื้อเรื้องรังจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นปัญหาลำดับต้นๆ ของทั่วโลก มีการตายประมาณ 17.5 ล้านคน และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น คาดว่าในปี 2565 ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 25 ล้านคน ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการขาดความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องสุขบัญญัติ ดังนั้นกรมสนับสนุนบริการสุขภาพมีเป้าหมายรณรงค์เรื่องการสร้างพฤติกรรมสุขภาพด้วยการปลูกฝังเยาวชนทั่วประเทศให้ยึดหลักสุขบัญญัติให้เป็นนิสัยเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย” น.พ.ศุภชัย กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update 12-06-51