“สื่อ” ตัวชี้นำพนันบอล
เนื้อหาที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่เป็นความจริงที่สุด ได้มาจากความทุ่มเทพยายามของบุคคลและหน่วยงานที่ห่วงใยคนไทยสังคมประเทศชาติที่สุด ด้วยมีความหวังว่าทุกภาคส่วนที่เห็นว่าอบายมุขคือโทษภัยที่ร้ายแรงของสังคมไทยในทุกด้านโทษภัยร้ายแรงที่เป็นรูปธรรมหลัก 3 ทาง คือทำลายวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยทำลายเศรษฐกิจของไทย และเป็นบ่อเกิดอาชญากรรมร้ายแรงในสังคม คนไทยต้องมาร่วมมือกันหาวิธีกำจัดอย่างจริงจัง
ตั้งแต่รัฐบาลลงมาจนกระทั่งเจ้าของสื่อที่เป็นตัวชี้นำกระตุ้นให้คนเดินเข้าไปสู่อบายมุขขอให้ตระหนักถึงสังคมประเทศชาติบ้าง แทนที่จะคิดแต่ผลประโยชน์ส่วนตนฝ่ายเดียว
อบายมุขที่กำลังสิงใจคนไทยทุกเพศวัยเวลานี้คือ “พนันบอล” แล้วตัวหนุนชี้น้ำหลักก็คือ “สื่อ” ที่พาไปสู่ทางอบายมุขคือความฉิบหายดังนั้น จึงต้องหันมาช่วยกันปิดทางขวางกั้นตั้งแต่บัดนี้ไป
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์ จัดเสวนาเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา “การพนันทายผลฟุตบอล” ในสังคมไทย มีการนำเสนอข้อมูลผลการศึกษาการพนันกับบทบาทของสื่อไทย โดยนายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้ศึกษาโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor)
นายธาม เกริ่นว่า การวิจัยครั้งนี้เป็นข้อมูลของปี 2553 โดยเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพคัดเลือกข่าว คอลัมน์ บทความ โฆษณาจาก นสพ.ส่วนกลาง ระดับประเทศ และ นสพ. กีฬาพบว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าของระบบการพิมพ์การแข่งขันทางธุรกิจ และมีกลุ่มบุคคลชื่นชอบกีฬาฟุตบอลจำนวนเพิ่มขึ้น รูปแบบและเนื้อหาของหนังสือพิมพ์จึงตอบสนองผู้อ่านมากขึ้นมีการนำเสนอที่หลากหลาย มีการวิเคราะห์เกมอัพเดตข่าวคราวและความเคลื่อนไหวของนักเตะ และบางฉบับมีการนำเสนออัตราต่อรองด้วย ส่วนหนังสือพิมพ์กีฬามีรายละเอียด สถิติเบื้องหน้า – เบื้องหลัง วิเคราะห์วิจารณ์เกม และมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการพนัน โดยเขียนเป็นสีสันให้ทราบว่าทีมใดเป็นตัวเต็ง เสนอเป็นอัตราต่อรอง มีราคาพูลของต่างประเทศ การคาดการณ์ความน่าจะเป็นของเกม มีหยอดคำว่า “ครึ่งลูก” ทำให้ได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างมาก
นายธาม ระบุอีกว่า สื่อสิ่งพิมพ์สามารถนำเสนออย่างเปิดเผย ไม่มีหน่วยงานใดควบคุมอย่างชัดเจน การเอาผิดในเรื่องการนำเสนอเป็นสิ่งที่ทำได้ลำบาก เพราะคอลัมนิสต์อ้างว่าไม่ได้ระบุให้ผู้อ่านนำข้อมูลไปใช้เพื่อการเล่นพนันผิดกฎหมายจึงมีการนำเสนอได้ต่อไป และทำให้ นสพ. ยังคงเป็นสื่อยอดนิยมของนักพนันในการเป็นแหล่งข้อมูลหรือเครื่องมือประกอบการตัดสินใจเล่นพนัน
ส่วนทางด้านสื่อโทรทัศน์ นายธาม กล่าวว่ามีอิทธิพลต่อผู้ชมอย่างสูงเช่นกัน สร้างความตื่นเต้นเร้าใจอย่างดี เรตติ้งสูง มีการวิเคราะห์เกมทั้งก่อนแข่ง ช่วงพักครึ่ง และหลังจากจบเกม และยังมีการจับรางวัลสำหรับผู้ชมที่โทรศัพท์เข้ามาทายผล ผ่านหมายเลข 1900 xxxx xx แต่การพนันทางสื่อโทรทัศน์ไม่สามารถทำได้อย่างเปิดเผยเท่าหนังสือพิมพ์ เนื่องจากเป็นสื่อที่เข้าถึงมวลชนทุกเพศวัย ถูกจับตามองมากกว่า อีกทั้งมีการควบคุมอย่างเคร่งครัดจากคณะกรรมการบริหารสถานี ฝ่ายตรวจสอบรายการแต่ละช่องซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) สังกัดกรมประชาสัมพันธ์อีกขั้นหนึ่งแต่ก็ยังพบว่าผู้ดำเนิน รายการใช้วิธีเลี่ยงโดยการให้ข้อมูลธรรมดา การวิเคราะห์โดยหลักการและเหตุผล คือ สถิติต่างๆ ฟอร์มการเล่น และทรรศนะส่วนตัว
และสำหรับข้อความสั้นผ่านโทรศัพท์มือถือหรือ SMS ถือว่าได้รับความนิยมจากแฟนบอลเช่นกัน เพราะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้สะดวกยิ่งขึ้นส่วนสื่ออินเตอร์เน็ตยังมีช่องโหว่ในการบังคับใช้กฎหมาย การพนันเกิดขึ้นได้ทุกที่โดยใช้เวลาในการเล่นสั้นมาก
ด้านผศ.ดร.สุณีย์ กัลยจิตร อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจัยที่นำไปสู่การเล่นพนันมี 4 ประเด็น คือ
1. ความอยากเล่นการพนันฟุตบอลส่วนบุคคล ที่มีความอยากเล่นอยากลอง
2. อยากได้เงิน ส่วนใหญ่คิดว่าการพนันเป็นการหาเงินที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องเหนื่อยและลงทุนอะไรมาก
3. เมื่อเล่นเสียจึงอยากได้คืนจึงนำไปสู่การเล่นพนันที่เป็นลูกโซ่
4. เพื่อนแนะนำ ดังนั้น สถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา ต้องปลูกจิตสำนึกสอดแทรกคติข้อคิดว่าการพนันเป็นสิ่งที่ผิดในทางศีลธรรมและผิดกฎหมายให้กับเยาวชน และผู้ใหญ่เองจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนด้วย
ขณะเดียวกัน “สื่อ” จะต้องรู้จักควบคุมการเผยแพร่ นำเสนอให้อยู่ในขอบเขตเพราะทุกวันนี้สื่อนำเสนอเรื่องการแข่งขันฟุตบอลและมีข้อความที่ชักชวนโดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่ตามมา ดังนั้น นอกจาก สื่อจะควบคุมตนเองและใช้วิจารญาณในการ นำเสนอแล้ว ทางด้านหน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จำเป็นที่จะต้องออกมาดูแลควบคุมอย่างจริงจัง ออกกฎหมาย กฎระเบียบ ควบคุมที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วย
ผศ.ดร.กิตติ กันภัย อาจารย์ภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงอิทธิพลจากสื่อที่ส่งผลในการเล่นการพนันฟุตบอลว่า จากการวิจัยของคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาสื่อสารมวลชนเห็นชัดเจนว่าสื่อมีอิทธิพลอย่างมากในการชักนำเล่นการพนันฟุตบอล ทำให้เกิดวัฒนธรรมส่งเสริมการพนัน ดังนั้น สื่อเหล่านี้ไม่เรียกว่าเป็นนักวิชาชีพสื่อ แต่เรียกว่านักธุรกิจ เพราะสื่อ จะเป็นผู้ที่จรรโลงสังคม ให้เข้มแข็งมากกว่าการ ส่งเสริมเล่นการพนัน ที่สนับสนุนการส่งบัตรทายผลฟุตบอลชิงโชค หรือส่ง SMS ทายผลฟุตบอล นอกจากนี้ การจัดทำตารางการแข่งขันยังบอกใบ้โดยให้เหตุผลประกอบบอกราคาต่อรอง สำหรับข้อความที่สื่อควรนำเสนอคือ นำเสนอในสิ่งที่ถูกต้อง เช่น วิธีการเล่นกีฬา ประโยชน์ที่ได้รับจากการเล่ากีฬามากกว่า ขณะเดียวกันการนำเสนอข้อความของสื่อทางสมาคมวิชาชีพสื่อควรดูแลและควบคุมอย่างจริงจังบ้าง
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ