สื่อสารเชิงบวก ช่วยสร้างครอบครัวอบอุ่น
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจาก สสส.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ "ที่นี่แนวหน้า" มีโอกาสได้ไปร่วมรับฟัง วงเสวนาห้องย่อย "ลูกจ้างได้อะไรจาก พ.ร.บ.การป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ของ "การประชุมระดับชาติ เรื่องสุขภาวะทางเพศครั้งที่ 3 : การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จากยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แล้วพบว่ามีข้อคิดที่น่าสนใจ จึงขอใช้พื้นที่ประจำสัปดาห์นี้บอกเล่ากับท่านผู้อ่าน
ห้องย่อยนี้จัดขึ้นโดยสืบเนื่องจากการที่กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานประกอบกิจการและการดำเนินการของสถานประกอบกิจการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแก่ลูกจ้าง ซึ่งเป็นวัยรุ่น พ.ศ. 2561 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา
วงเสวนาเริ่มต้นขึ้นโดย นายอนุสิษฐ์ อุ่นทิม ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนากฎหมาย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า 1.สถานประกอบการทุกประเภท ทุกขนาด ให้ข้อมูลข่าวสารกับลูกจ้าง จะทำโดยวิธีไหนก็ได้ เช่น เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข ทำแผ่นพับข้อมูลต่างๆ อะไรก็แล้วแต่ที่นายจ้างต้องเตรียม 2.สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป จะสอดคล้องกับกฎกระทรวงของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่ให้มีพยาบาลประจำสถานประกอบการ พยาบาลนี้ ก็จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในการป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไปในตัว
อย่างไรก็ตาม กฎหมายข้างต้นนี้ยังมีข้อจำกัด ในการปฏิบัติ คุณอนุสิษฐ์ ระบุว่า "กฎหมายฉบับนี้ เป็นเพียงการส่งเสริมไม่มีการบังคับ" นายจ้างไม่ทำตาม ก็ไม่มีความผิด อีกทั้ง "หากมองผิวเผิน คนในแวดวง แรงงานอาจไม่เข้าใจว่าเรื่องนี้สำคัญกับแรงงานอย่างไร?" เมื่อเทียบกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ว่าด้วยเรื่อง ค่าจ้าง วันหยุด วันลา เพราะอย่างหลังนี้เห็นภาพชัดเจนและเป็นประโยชน์กับแรงงานโดยตรง ทำให้ทางผู้จัดงานต้องเชิญตัวแทนภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการนำร่องมาบอกเล่าผลดีที่ได้รับจากการให้ความร่วมมือตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานประกอบกิจการและการดำเนินการของสถานประกอบกิจการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแก่ลูกจ้างซึ่งเป็นวัยรุ่น พ.ศ. 2561 อาทิ นายอุดม เสถียรภาพงษ์ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรม ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมไทย ซึ่งคุณอุดม นั้นมีบทบาทในการรณรงค์ให้สถานประกอบการต่าง ๆ หันมาพัฒนาตามหลัก "Happy Workplace" หรือสถานที่ทำงานที่มีความสุข
คุณอุดม เล่าว่า แน่นอนหากเข้าไปพูดตรง ๆ ขอจัดอบรมเรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นคงไม่ได้รับความสนใจ จึงเปลี่ยนเป็นขอเข้าไปให้ความรู้เรื่อง "การสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว" ซึ่งคำว่าครอบครัวในที่นี้ไม่ใช่เฉพาะพ่อแม่ญาติพี่น้องของพนักงานแต่ละคนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสมาชิกในองค์กรทุกระดับตั้งแต่พนักงานทั่วไปจนถึงผู้บริหาร "การที่เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา มีทักษะการสื่อสารพูดคุยกันที่ดี ย่อมลดบรรยากาศความอึดอัดขัดแย้งกันภายในองค์กร" ทุกฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันอย่างปกติสุข องค์กรก็เดินหน้าไปได้
ซึ่งผลที่ได้ก็ต้องบอกว่าน่าพอใจ ด้านหนึ่งบรรยายภายในสถานที่ทำงานดีขึ้น อีกด้านหนึ่งบรรยากาศภายในบ้านของพนักงานก็อบอุ่นขึ้นด้วย "หลายคนที่ผ่านการอบรมยอมรับว่าไม่รู้มาก่อนเรื่องพ่อแม่ที่ดีควรเป็นแบบไหน? เรื่องพฤติกรรมทางเพศ ที่เหมาะสมเป็นอย่างไร? เพราะไม่เคยได้เรียน แต่เมื่ออบรมไปแล้วรู้วิธีการพูดคุยเชิงบวก พอนำไปใช้ที่บ้าน พบว่าลูกหลานมีปัญหาก็กล้าเข้ามาปรึกษา เข้ามาเล่าความจริงมากขึ้น" เป็นต้น
เช่นเดียวกับ น.ส.กนกพร สุโพภาค เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านกิจกรรมเพื่อสังคมและการสื่อสาร บริษัท ชไนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ที่กล่าวเสริมว่า วันเสนอโครงการต่อผู้บริหารเป็นครั้งแรกนั้นเลือกใช้ชื่อ "การสื่อสารต่างวัยในองค์กร (Communication Across Generation in Family)" เพราะองค์กรก็เหมือนครอบครัวหนึ่งที่มีสมาชิกหลากหลายวัยตั้งแต่คนรุ่นใหม่จนถึงผู้อาวุโส ด้วยความที่คนแต่ละวัยเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน หากไม่เข้าใจกัน สื่อสารพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง ย่อมนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งได้ในอนาคต
หลังการอบรมในครั้งแรก คุณกนกพร เล่าว่า มีเสียงตอบรับค่อนข้างดี จึงเสนอโครงการรอบที่ 2 คราวนี้ ระบุว่าอยากได้กลุ่มเฉพาะ 2 กลุ่มคือ "1.พ่อแม่ที่มีลูกที่กำลังเป็นวัยรุ่น กับ 2.พนักงานหญิงที่เพิ่งตั้งครรภ์หรือเพิ่งมีลูกเล็ก ๆ อายุไม่กี่ขวบที่ต้องการวางแผนชีวิต สาเหตุที่เน้น 2 กลุ่มนี้เพราะการตั้งครรภ์ไม่พร้อมนั้นไม่ได้เกิดเฉพาะกับหญิงวัยรุ่น อาจเป็นวัยทำงานแล้วก็ได้ ขณะเดียวกัน คนเป็นพ่อเป็นแม่มักทุ่มเทกำลังไปกับการทำงาน จนอาจลืมหันกลับไปมองว่าลูกของตนมีปัญหาอะไรในชีวิตอยู่หรือเปล่า?" ก็พบว่ามีเสียงตอบรับอย่างดีเช่นเคย
นางสุภี สีทองทาบ นักวิชาการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวสรุปบทเรียนจากเรื่องเล่าของตัวแทนภาคเอกชนทั้ง 2 ท่านว่า หากมองผิวเผิน คงมีคำถาม "ชีวิตครอบครัวของพนักงานเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเปล่า? เกี่ยวอะไรกับบริษัทด้วย?" แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไป "หากแต่ละครอบครัวมีความอบอุ่น สมาชิกในครอบครัวไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นใช้ความรุนแรง พนักงานก็มาทำงานด้วยสภาพจิตใจที่มีความสุข เมื่อเกิดความสบายใจ ปัญหาการขาด ลา มาสาย โดยไม่มีเหตุอันควรก็จะลดลง"ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะดีขึ้นไปโดยปริยาย
ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึง "ปัญหาสังคมอันเกิดจากคุณภาพประชากร" สังคมไทยมักจะ "โยน" กันไปมา บอกเป็นหน้าที่ครอบครัวบ้าง โรงเรียนบ้าง รัฐบ้าง "แต่ละฝ่ายก็จะบอกว่างานยุ่งทำไม่ไหว" พ่อแม่บอกว่าทำงาน 5-6 วันต่อสัปดาห์ ออกจากบ้านแต่เช้ากลับมาก็มืดค่ำ แถมไม่เคยได้เรียนได้รู้มาก่อนว่าการเลี้ยงลูกอย่างเหมาะสมนั้นควรเป็นอย่างไร หันไปที่โรงเรียนบรรดาครูบาอาจารย์ไหนจะมีภาระงานทั้งสอนหนังสือ ทั้งทำเอกสารประเมินต่าง ๆ ที่หลายหน่วยงานมอบหมาย ไม่ทำก็ไม่ได้เพราะอาจกระทบต่อวิทยฐานะ
พอมองไปที่ผู้มีอำนาจในรัฐบาลไม่ว่าจะมีที่มาแบบใดก็คาดหวังได้ยากด้วยเหตุผลว่าไปให้น้ำหนักกับงานอื่นที่เห็นว่าสำคัญกว่า ส่วนภาคธุรกิจก็จะจำกัดบทบาทไว้เพียงส่งเสริมทักษะที่เกี่ยวข้องกับตัวงาน ซึ่งส่งผลต่อการประกอบการเท่านั้น แต่เมื่อครอบครัวของประชากรไม่อบอุ่น บ้านไม่ใช่ที่พึ่ง สมาชิกหันไปหา สิ่งอื่นที่เป็นปัญหาต่อสังคม ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหา นั้นก็คือทุกส่วนของสังคม แล้วก็ต้องมาเสียงบประมาณตามแก้กันไป
เรื่องเล่าจากวงเสวนานี้น่าจะทำให้เห็นภาพขึ้นบ้างว่า เมื่อครอบครัวอบอุ่น คนแต่ละคนมีสุขภาพจิตที่ดีมาจากบ้าน มาทำงานแล้วบรรยากาศในการทำงานก็ดี เกิดความอยากมาทำงาน ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น องค์กรมีผลประกอบการดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโดยรวม ของประเทศก็ดีขึ้นและปัญหาที่บั่นทอนความสงบสุขของสังคมลดลงได้อย่างไร? อย่างสำนวนที่ว่า "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว"