สืบภูมิปัญญาอาหารลดหวาน มัน เค็ม เพื่อสุขภาพ

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


สืบภูมิปัญญาอาหารลดหวาน มัน เค็ม เพื่อสุขภาพ thaihealth


ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประเพณี ตลอดจนภูมิปัญญาซึ่งได้รับการสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นลักษณะเฉพาะของคนในพื้นที่นั้นๆ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป อัตลักษณ์บางอย่างถูกลืมเลือนและอาจสูญหายไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและเศรษฐกิจ


เช่นที่บ้านเนินทราย หมู่ 4 ต.วิหารแดง อ.วิหารแดง จ.สระบุรี ชุมชนที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวอีสานที่ย้ายถิ่นฐานมาทำกินในย่านภาคกลางเมื่อประมาณครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เมื่อความเจริญและวัฒนธรรมสมัยใหม่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เด็กรุ่นใหม่ก็เปิดรับอย่างเต็มอก จนหลงลืมความเป็นตัวตน ภูมิปัญญาที่อยู่กับคนรุ่นเก่าหลายอย่าง ก็จะค่อยเลือนลบหายไปทีละนิดๆ


หากปล่อยไว้ให้เป็นแบบนี้ต่อไป คงยากที่จะรื้อฟื้นคืนกลับ ชาวชุมชนบ้านเนินทราย โดยชมรมผู้สูงอายุบ้านเนินทราย จึงร่วมกันส่งเสริมและถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นการดูแลสุขภาพให้แก่เด็กและเยาวชน โดยได้ขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)


"เรามีของดีก็รู้สึกเสียดายกลัวจะหายไป เราจึงลองมาช่วยกันรวบรวมภูมิปัญญาด้านการดูแลสุภาพแล้วถ่ายทอดให้แก่เด็กๆ กัน ก็ไปชักชวนแกนนำในชุมชน โดยเฉพาะชมรมผู้สูงอายุให้มาช่วยกัน" ฉวีวรรณ พินิชกชกร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.วิหารแดง กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการชักชวนผู้สูงอายุและเยาวชนให้มาร่วมกิจกรรมสำคัญครั้งนี้


ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้นั่นคืออาหาร แกนนำที่ร่วมกันทำงานจึงเลือก ข้าวหลามธัญพืช กวนข้าวทิพย์ กระยาสารท ขนมจีนน้ำยาป่า มาถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ในชุมชน และยังเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านได้รู้จักตำรับอาหารเพื่อสุขภาพที่ถ่ายทอดโดยผู้สูงอายุบ้านเนินทรายอีกด้วย


สืบภูมิปัญญาอาหารลดหวาน มัน เค็ม เพื่อสุขภาพ thaihealth


ฉวีวรรณ บอกว่า เด็กรุ่นใหม่ทุกวันนี้ทำอาหารไม่เป็น รู้จักแต่อาหารสำเร็จรูปพร้อมกินแล้วเท่านั้น ไม่ได้เห็นกระบวนการ หรือขั้นตอนการทำว่า กว่าจะได้อาหารมาแต่ละอย่างต้องใช้เวลาและความพิถีพิถันแค่ไหน


ภูมิปัญญาด้านอาหารที่กลุ่มผู้สูงอายุบ้านเนินทรายถ่ายทอด เด็กๆ จะได้รู้กรรมวิธีทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมหาวัตถุดิบ การปรุง การทำ ตลอดจนเคล็ดลับต่างๆ ที่ไม่มีอยู่ในบันทึกใดๆ แต่มาจากการถ่ายทอดจากปากต่อปาก เช่น การทำข้าวหลาม เด็กๆ จะได้รับรู้ตั้งแต่การเลือกไม้ไผ่มาใช้ทำข้าวหลาม การปรุงน้ำกะทิ การกรอกข้าวใส่กระบอก และกรรมวิธีการเผาให้สุกทั่วถึง หรือการทำขนมจีน เด็กๆ จะได้เห็นการหมักแป้ง การตำแป้ง การหยอด และการจับเส้น ตลอดจนการทำสูตรน้ำยาป่า รวมถึงเรื่องราว การกวนกระยาสารท การกวนข้าวทิพย์ (ข้าวมธุปายาส) ในงานบุญงานประเพณีด้วย


"สิ่งสำคัญที่เราพยายามสอดแทรก คืออาหารเพื่อสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม ลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพราะคนสมัยก่อนอาจจะติดรสหวาน มัน เค็ม ไปบ้าง แต่เดี๋ยวนี้เราต้องหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น" หมอฉวีวรรณของชาวบ้านเนินทราย กล่าว


สืบภูมิปัญญาอาหารลดหวาน มัน เค็ม เพื่อสุขภาพ thaihealth


ส่วน ประนอม ไพสมบุญ แกนนำผู้สูงอายุบ้านเนินทราย เล่าถึงวิธีการดูแลสุขภาพของคนบ้านเนินทราย ว่า ถ้าหากปวดเมื่อยเนื้อตัวหรือกล้ามเนื้อ ก็จะหาพืชสมุนไพรที่มีอยู่มาห่อผ้าทำเป็นลูกประคบสดไว้นวดกลึงร่างกายให้ผ่อนคลาย เราก็สอนเด็กๆ ทำลูกประคบ ให้รู้ว่ามีสมุนไพรอะไรประกอบบ้าง และที่สำคัญลูกประคบสดจะได้กลิ่นหอมและออกฤทธิ์ได้ดีกว่าลูกประคบแห้งที่มีขายอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังได้สอนการทำยางยืดสำหรับไว้ออกกำลังกายยืดเส้นสายอีกด้วย


ขณะที่ วนิดา พิพันธ์ แกนนำเด็กและเยาวชนบ้านเนินทราย พูดถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมการถ่ายทอดภูมิปัญญา ว่า ปกติก็ไม่เคยทำอะไรแบบนี้ อยากกิน อยากได้ก็ซื้อเอา แต่พอมาทำเอง ได้มาเห็นกรรมวิธี ทุกขั้นตอนต้องประณีตกว่าจะได้มาแต่ละอย่าง รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้มาเรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาดั้งเดิมนี้ ก็จะชวนน้องๆ และเพื่อนมาช่วยกันสืบทอดต่อไป


ภูมิปัญญาชุมชน หากทุกคนไม่ช่วยกัน วัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่ดีงามก็คงสูญหายตายไปกับคนรุ่นก่อน แล้วคนรุ่นหลังก็ไม่อาจพบรากเหง้าของตัวเองได้ อีกเลย

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ