สำรวจแนวรบต้าน”ไวรัสเอดส์” มีเพศสัมพันธ์ถูกวิธี

 

 

“เอดส์” ยังคงถือเป็นโรคติดต่อที่มีความน่ากลัวและร้ายแรงติดอันดับต้นๆ  เพราะยังไม่มีการค้นพบตัวยาใดที่สามารถใช้รักษาให้หายขาดได้ และมันยังคร่าชีวิตมนุษย์ไปแล้วเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการพยายามหามาตรการเพื่อป้องกัน และหยุดยั้ง โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก หรือ World AIDS Day ซึ่งเริ่มครั้งแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2531 เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงอันตรายจากโรคเอดส์ ส่งเสริมให้มีมาตรการป้องกันให้มากขึ้น และทำให้เกิดการยอมรับ ห่วงใยต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอดส์ และที่สำคัญเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

สถานการล่าสุดจากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโลก พบว่าปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเอดส์ถึง 372,874 ราย และเสียชีวิตถึง 98,153 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ รับจ้าง เกษตรกร ค้าขายและแม่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนางสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ บอกกับเราว่า ปัจจุบันสถานการณ์การติดเชื้อเอดส์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งช่องทางการติดต่อก็คงยังเป็นทางการเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงอย่าง ชายรักชาย ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย กลุ่มผู้เสพยาที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะการจัดบริการ การป้องกัน ซึ่งพบว่าขณะนี้ผู้ติดเชื้อชายและหญิงมีอัตราเท่าๆ กัน แต่ในกลุ่มผู้หญิงยังไม่มีการป้องกันที่ชัดเจน

“เป็นที่รู้กันว่า เอดส์สามารถติดต่อกันได้ทางการมีเพศสัมพันธ์ และการจะห้ามในเรื่องนี้คงเป็นเรื่องยาก จึงจำเป็นต้องใช้วิธีแก้ไขด้วยอุปกรณ์ป้องกันอย่าง “ถุงยางอนามัย” ซึ่งเป็นการป้องกันโรคเอดส์ที่ได้ผลดีที่สุด อีกทั้ง ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งรณรงค์ ส่งเสริมในประชาชนหันมาใช้ถุงยางอนามัยให้มากขึ้นเพื่อลดปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ในส่วนของผู้ที่มีเพศสัมพันธ์หรือพบว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงนั้น ปัจจุบันสามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เพิ่มให้คนไทยทุกคนได้ใช้สิทธิ์  ได้ตามสถานพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยทราบ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ยอดตัวเลขสูงขึ้น” นางสุภัทรากล่าว

 

นางสุภัทรากล่าวต่อว่า นับเป็นเรื่องที่ดีที่ในปีนี้ ทางโครงการเอดส์สหประชาชาติได้กำหนดกลยุทธ์ที่จะรวมกันในการแก้ปัญหาโรคเอดส์ เพื่อจะให้การติดเชื้อลดลงเป็นศูนย์ ภายใต้เป็นสโลแกนหรือคำขวัญที่ว่า “Getting to Zero” โดยจะใช้รณรงค์ในอีก 5 ปีข้างหน้านับจากนี้ โดยที่ Zero หรือศูนย์หมายถึงประกอบด้วย 3 ศูนย์ (000) ศูนย์แรกคือการที่ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ (Zero new infection) ศูนย์ที่สองคือการที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ (Zero death) และศูนย์สุดท้ายคือการไม่มีการตีตราหรือการแบ่งแยกผู้ติดเชื้ออีกต่อไป (Zero stigma and discrimination) โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ปี พ.ศ. 2559 ทั้งนี้การจะประสบความสำเร็จนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน เพราะการจะให้เป็นศูนย์เลยนั้น อาจเป็นเรื่องที่ใครหลายคนมองว่าเป็นไปไม่ได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะมาตรการทุกอย่างจะต้องทำให้การติดเชื้อเอดส์หลังจากนี้เข้าใกล้ศูนย์ให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ นางสุภัทรา ยังบอกทิ้งท้ายไว้ว่า ในวันเอดส์โลกนี้ อยากให้ทุกคนตระหนักว่าเอดส์เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และการป้องกันถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนไม่ซ้ำหน้า ห่างไกลยาเสพติด เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อเอดส์และทำให้เอดส์หมดไปจากประเทศไทยได้อย่างแน่นอน

เรื่องบางเรื่องการทำคนเดียว ทำฝ่ายเดียว คงสำเร็จได้ยาก ในวันที่ 1 ธ.ค. หรือวัน “เอดส์โลก” นี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราจะมาร่วมกันทำให้เอดส์เป็นศูนย์กันนะคะ

 

 

เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code