สำคัญพอหรือยัง?…กับรายการทีวีสำหรับเด็ก

“บ้านฉันไม่มีทีวี” คำพูดนี้แทบจะไม่ได้ยินในปัจจุบัน                 


ทีวีหรือโทรทัศน์นั้น เป็นสื่อที่เข้าถึงกับทุกบ้าน ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดในประเทศ เจ้าจอสี่เหลี่ยมนี่ ก็จะไปตั้งอยู่ในบ้านคุณทุกหลัง เนื่องจากเป็นสื่อที่หาได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้หรือเทคนิคในการเข้าถึงอย่างเช่น อินเตอร์เน็ต โดยสิ่งที่ปรากฎในจอก็คือ รายการโทรทัศน์


สำคัญพอหรือยัง?…กับรายการทีวีสำหรับเด็ก


จากหลักฐานการวิจัยในปัจจุบัน ชี้ว่าโทรทัศน์มีทั้งผลดีและผลเสียต่อเด็ก การเลือกรายการที่ดี เหมาะสมตามวัยจะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมสังคมและพัฒนาการด้านภาษาของเด็ก ในทางกลับกันหากเลือกรายการที่ไม่เหมาะสม จะเกิดผลลบต่อความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงหากเลี่ยงไม่ได้ในการรับชมรายการที่ไม่เหมาะสม ก็ควรมีผู้ปกครองคอยแนะนำอยู่เคียงข้าง


อาจเกิดความสงสัยขึ้นได้ว่า แล้วมันไม่ดีอย่างไร? ก็เห็นเด็กมันสนุกดี ถ้าไม่ดีเด็กคงไม่นั่งดูหรอก


จริงอยู่ ที่ทีวีสามารถสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ชมได้ แต่อย่าลืมว่าข้อเสียนั่นก็มี แพทย์และนักวิชาการต่างๆ ออกมาบอกว่า ทีวีไม่ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เพราะการดูทีวีมากๆ ทำให้เด็กสมาธิสั้น อาจมีโรคอ้วนและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ ตามมา เช่น การเลียนแบบสิ่งที่เห็นในทีวี ทั้งนี้สิ่งสำคัญนั่นคือ เด็กยังไม่มีวิจารณญาณที่ดีเท่าผู้ใหญ่ ในการแยกความดี-ความชั่ว ความจริง-สิ่งสมมติ เด็กยังไม่รู้หรอกว่าสิ่งใดเหมาะกับตน สิ่งใดไม่เหมาะ (ถึงแม้บางกรณีเด็กจะมีมากกว่าผู้ใหญ่ก็เถอะ) ไม่งั้น องค์กรUNICEF คงไม่ออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กหรอก ว่าเด็กต้องได้รับการดูแล เอาใจใส่ ได้รับสิ่งที่ดี เหมาะสมกับพัฒนาการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ฯลฯ


ปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ เด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ กลับดูโทรทัศน์มากกว่าทำอย่างอื่น ผลการวิจัยจากเอแบคโพล ชี้ชัดว่า เวลาว่างของเด็กถูกใช้ในการดูทีวีประมาณ 3-5 ชั่วโมง และเกือบ 6 ชั่วโมงในวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งรายการที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กนั้น น้อยมากเหลือเกินเมื่อเทียบกับรายการประเภทอื่นๆ


ยิ่งเด็กคนไหนดูทีวีมาก ก็มีแนวโน้มว่าหากโลกจริงๆ กับโลกในจอขัดแย้งกันเด็กอาจจะเลือกเชื่อโลกในจอก็เป็นได้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือโลกในจอได้ปลูกฝังวัฒนธรรมทางสังคมให้แก่เด็กมากกว่าสถาบันอื่นๆทางสังคม                                                           


ดังนั้น สังคมจะเริ่มกันได้หรือยัง ? ในการตื่นตัว ตระหนัก ถึงความสำคัญของรายการเด็ก ตระหนักหรือยัง? ว่าเด็กเป็นส่วนสำคัญของสังคม เป็นส่วนสำคัญที่จะพาประเทศชาติสู่ความเจริญ


สำคัญพอหรือยัง? ที่จะสร้างรายการดีๆ เพื่อพัฒนาให้เด็กเติบโตในสังคมที่เหมาะสม บริโภคแต่สิ่งที่เหมาะกับช่วงวัยของเขา


ถ้าเห็นความสำคัญร่วมกันแล้ว ว่าต้องมีรายการสำหรับเด็ก เราก็ต้องรู้ว่ารายการโทรทัศน์สำหรับเด็กคืออะไร?


มีหลายนิยามที่พูดถึงรายการทีวีเด็ก อธิบายง่ายๆ ก็คือรายการที่มุ่งจัดให้เด็กดูเข้าใจได้สนุกสนานและได้ความรู้ได้ประโยชน์จากรายการนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน อาทิ รายการที่เน้นการแสดงออกของเด็กๆ โดยอาจจะทำในรูปของชมรมหรือสโมสรมีกิจกรรมให้เด็กทำคัดเลือกเด็กออกมาแสดงให้เด็กได้แสดงความสามารถด้านต่างๆ เช่นร้องรำทำเพลง เล่นดนตรี รายการวิพิธทัศนา ซึ่งอาจจะประกอบด้วยรายการย่อยๆ หลายรายการเช่น ละครหุ่น ทายปัญหาเล่นเกมเล่านิทานประกอบภาพสอนวิธีการทำกิจกรรมต่างๆ ละครสั้นรายการตอบปัญหาความรู้สำหรับเด็ก เป็นรายการแข่งขันความรอบรู้ของเด็กในสาขาต่างๆ เป็นต้น ที่สำคัญ ภาพความรุนแรงการแสดงบทเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสมรวมถึงภาษาที่หยาบคายไม่ควรจะมีในช่วงที่เด็กดูและเด็กก็หมายถึงเด็กที่อยู่ในวัยตั้งแต่ดูโทรทัศน์เข้าใจ(ตั้งแต่ 3 ปีเนื่องจากจิตแพทย์ระบุว่า 0-3 ปีไม่ควรให้เด็กรับชมโทรทัศน์เนื่องจากจะเกิดแต่ผลเสีย)จนถึงอายุ12ปีแล้วคนที่จะทำรายการเด็กให้เด็กดู ต้องมีลักษณะอย่างไร และทำแบบไหน?


สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับกันในสังคมไทยคือ ผู้ผลิตรายการเด็กนั้นหายาก การทำรายการเด็กผู้ทำควรยึดหลักการบางประการที่ไม่ใช่มุ่งเพื่อให้เกิดผลทางการค้าเท่านั้นแต่ผู้ทำรายการเด็กควรยึดหลักการที่มุ่งเพื่อทำรายการที่อยู่บนพื้นฐานของการทำให้เกิดความเสมอภาคความเท่าเทียมกันของเด็กทุกคนการเคารพสิทธิของเด็กการให้เด็กมีส่วนร่วมและมุ่งให้เกิดประโยชน์แก่เด็กเป็นหลัก โดยรูปแบบของรายการเด็กที่ทำควรมีความน่าสนใจซึ่งสิ่งที่จะทำให้เกิดความน่าสนใจได้ คงไม่เพียงแต่มุ่งทำรายการให้มีความสนุกสนานหรือบันเทิงเพียงอย่างเดียวแต่ควรมีรูปแบบที่ซ่อนเร้นสิ่งที่มีสาระที่เหมาะสมไม่นำเสนอเนื้อหาที่หนักเกินไปแต่มีความเร้าใจชวนติดตามทั้งภาพบทแสงเสียงดนตรีประกอบรวมทั้งผู้แสดงหรือผู้ดำเนินรายการ และที่สำคัญไม่ควรยัดเยียดสิ่งที่เป็นสาระความชอบรสนิยมหรือแนวปฏิบัติสำหรับผู้ใหญ่มากเกินไปเช่นการให้เด็กแต่งหน้าแต่งตาแต่งตัวเป็นผู้ใหญ่ที่มีอาชีพหางเครื่องซึ่งมิได้หมายความว่าอาชีพหางเครื่องเป็นสิ่งที่ไม่ดีแต่การที่นำเด็กอายุ 5-7 ขวบไปทำเช่นนั้น อาจทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่า การแสดงจะต้องมีการแต่งหน้าเข้มแบบนั้นต้องแต่งตัวด้วยชุดฟู่ฟ่าแบบนี้และต้องเต้นตามจังหวะเพลงด้วยท่วงท่าที่ผู้ใหญ่เรียกว่าเซ็กซี่ทั้งๆที่ในความเป็นจริงการแสดงสามารถทำได้หลายอย่างโดยเฉพาะการแสดงที่ให้เด็กแสดงก็ควรเป็นการแสดงที่เหมาะสมและดูเป็นธรรมชาติตามวัยเด็กมิใช่นำเด็กมาเป็นผู้ใหญ่ อีกทั้งผู้ทำรายการเด็กควรมีวิสัยทัศน์ไปในทิศทางเดียวกันดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่าเราไม่สามารถปฏิเสธนโยบายนี้ได้เพราะกลุ่มเป้าหมายในนโยบายนี้คือเด็กเด็กคือสิ่งที่จะเป็นอนาคตในทุกๆด้านของประเทศ และสิ่งสำคัญรูปแบบของรายการเด็กที่อาจทำให้น่าสนใจต้องเป็นรายการที่สามารถดูและติดตามได้ทั้งครอบครัวโดยอาจทำเป็นรายการของทุกคนในครอบครัวเพราะเด็กเป็นบุคคลที่ไม่สามารถอยู่ในสังคมได้ตามลำพังแต่เด็กยังต้องอยู่ในความดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครองหรือครูและยังต้องอยู่กับสภาวะแวดล้อมและระบบต่างๆในสังคม


ทั้งนี้ เด็กแต่ละช่วงวัย ก็จะต้องได้รับสิ่งที่แตกต่างกันตามลำดับความเหมาะสม ดังนี้                                      


1.ช่วงพัฒนาการวัย 3-5 ปี ความสนใจของเด็กในช่วงนี้ก็คือความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (คน,สัตว์, ต้นไม้, สิ่งมีชีวิต) พอใจในคำชมหรือเสริมแรงไม่ชอบการตำหนิสามารถเล่นคนเดียวได้โดยยังไม่ต้องมีเพื่อนชอบเรื่องราวแนวจินตนาการเพ้อฝันเหนือจริง (Fantasy) เทพนิยาย – ปกรณัมมีอภินิหารบ้างเล็กน้อยเนื้อหาที่เหมาะสมจึงควรมีความใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมที่ตัวเด็กพบเห็นอยู่โดยเนื้อเรื่องควรดำเนินไปอย่างง่ายๆไม่ซับซ้อนมีตัวละครไม่มากนักง่ายต่อการจดจำแนวเนื้อหาที่เหมาะสมคือเน้นด้านภาษาและจินตนาการ วิธีการนำเสนอที่ดึงดูดความสนใจได้ดีเช่นนิทาน, หุ่น, การ์ตูน, การแสดงออกฯลฯ


2.ช่วงพัฒนาการวัย 6-9 ปี ความสนใจของเด็กในช่วงนี้ก็คือยังคงชอบนิทานตำนานเรื่องราวอิทธิปาฏิหาริย์แต่ก็เริ่มที่จะสนใจโลกที่เป็นจริงมากขึ้นด้วยจากสภาพแวดล้อมที่ต้องพบปะกับคนรอบข้างจึงมีความสนใจเด็กอื่นหรือเพื่อนที่มีช่วงวัยใกล้เคียงกันรวมไปถึงความสนใจเกี่ยวกับธรรมชาติศึกษา ชอบการแสดงออกชอบการยกยอให้กำลังใจ  ชอบเรื่องชวนคิดและการใช้กำลังต่อสู้เรื่องราวที่เกี่ยวกับนิทานนิยายที่นำเอาเรื่องราวของชีวประวัติวิทยาศาสตร์การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์งานอดิเรกวีรบุรุษวีรสตรีหรือบุคคลสำคัญของโลกจะเป็นที่ได้รับความสนใจแต่จะต้องไม่ยากหรือซับซ้อนเกินไปและมีความยาวไม่มากนักเป็นช่วงเวลาที่ควรส่งเสริมให้รักการอ่านเนื่องจากเป็นช่วงวัยกำลังเริ่มต้นศึกษาหาความรู้พื้นฐานที่จะเสริมความรู้การอ่านหรือภาษาจึงมีความสำคัญ วิธีการนำเสนอที่ดึงดูดความสนใจได้ดีเช่นนิทาน, การ์ตูน, ละคร, การแสดงออกฯลฯ


3.ช่วงอายุพัฒนาการของช่วงวัย 10-12 ปี มีความสนใจที่หลุดพ้นโลกในจินตนาการระดับหนึ่งมีความสนใจกับสิ่งรอบข้างในสภาพของความเป็นจริงมากขึ้นเริ่มสนใจกับสังคมเริ่มติดเพื่อนมากกว่าพ่อแม่รักพวกพ้องเริ่มเรียนรู้เพื่อก้าวไปสู่การเป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่เรื่องราวหรือรายการที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากขึ้นเด็กผู้ชายยังคงชอบเรื่องผจญภัยลึกลับการค้นคว้าประดิษฐ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ตลอดจนเครื่องยนต์กลไกเด็กหญิงชอบเรื่องเกี่ยวกับชีวิตในบ้านสัตว์เลี้ยง ธรรมชาติและชอบเรื่องเกี่ยวกับความรัก หรือบางทีก็ชอบเรื่องเกี่ยวกับการงานอาชีพศิลปะ การประดิษฐ์     การนำเสนอเรื่องราวซับซ้อนมากขึ้นการจบแบบขมวดปมไว้ให้คิดจะได้รับความสนใจ


วิธีการนำเสนอที่ดึงดูดความสนใจได้ดีเช่นนิทาน, การ์ตูน, ละคร, การแสดงออกฯลฯ เฝ้าบอกว่าเด็กคืออนาคตของชาติ เฝ้าบอกว่าเด็กต้องเรียนรู้เฝ้าบอกว่าเด็กต้องเป็นคนดีและผู้ใหญ่เล่า…เฝ้าบอกอะไรกับตัวเองหรือยัง? ว่าต้องทำรายการดีๆสำหรับเด็ก!


 


 


ที่มา : เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ โดย ธีรพัฒน์ อังศุชวาล


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code