สาวอีสานสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ใต้
“หนูภูมิใจว่าแม้ไม่ใช่คนเกิดที่นี่แต่ก็สามารถดึงคนมาร่วมได้เยอะ ขนาดคนในท้องถิ่นบ้านเกิดเองยังไม่สำนึก แต่เรามาจากที่อื่นสามารถทำให้คนของเขาเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ก็นึกว่าตัวเองก็ใช้ได้ มีเพื่อนรักเยอะ ทั้งๆ ที่มาตัวคนเดียว จนทุกวันนี้คนในหมู่บ้านรู้สึกว่าเราคนที่นี่”
นี่คือคำกล่าวช่วงหนึ่งของกิจกรรมถอดบทเรียน ของ “ศิริพร บุญกาญจน์” สาวศรีษะเกศผลัดถิ่น ที่จับผลัดจับผลูมาอยู่ภาคใต้ เธอเป็นหนึ่งสมาชิก ที่เข้าร่วม “โครงการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น”
ต.ตากแดด อ.เมือง จ.พังงา
มาเริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักกับ “ศิริพร” ผู้สาวชาวอีสานคนนี้กันก่อน หากย้อนหลังไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว สาวน้อยวัย 15 เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหวังจะทำงานหาเงินส่งครอบครัว เช่นเดียวกับ วิถีนิยมของคนต่างจังหวัด เธอได้ทำงานเป็นพนักงานขายที่ห้างพาต้าอยู่ 2 ปี โชคชะตานำพาให้เธอได้พบกับครูผู้หญิงชาวภูเก็ต และเป็นอีกครั้งที่เธอต้องตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางชีวิต ลงมาอยู่ภูเก็ตได้ไม่นานก็มีคนชวนมาอยู่พังงาในที่สุด
“มีคนพังงาไปเจอหนู เขาก็ถูกชะตาชวนมาพังงา มาอยู่เดือนหนึ่งก็มาเจอแฟน ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะแต่งงานกับเขา ไม่ชอบ ฟังไม่ถูก แต่ไปได้ยินแม่ของเขาบอกว่าอย่าเอาคนอีสานมาเป็นเมีย เพราะว่าขายตัว บ้านมันไม่มีอะไรจะกิน กินดิน อะไรแบบนี้ ฟังก็โกรธก็เลยไปอยู่กับลูกชายเขาเลย” (หัวเราะ) ศิริพร เล่าอย่างอารมณ์ดี แม้ว่าตอนนั้นสาวอีสานจะถูกดูถูกอย่างหนัก แต่นั่นก็เป็นแรงผลักดันในการพิสูจน์ตัวเองของเธอ ถึงวันนี้ชีวิตครอบครัวของเธอสมบูรณ์แบบ มีฐานะที่ดีขึ้นไม่ต่างกับคนพื้นถิ่น ส่วนเรื่องวัตนธรรมและภาษาใต้นั้นก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะเธอซึมซับเข้ามาได้ดี ชนิดที่ลืมไปได้เลยว่า “เธอคือคนอีสาน”
ย้อนกลับมาพูดถึง “โครงการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น” ที่ศิริพรเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน จนสามารถสร้างให้ต.ตากแดด อ.เมือง จ.พังงา กลายเป็นชุมชนต้นแบบเรื่องการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น
ในเมื่อภาษาและวัตนธรรมของภาคใต้ ไม่เป็นปัญหากับเธออีกต่อไป ประกอบกับเคยผ่านงาน อสม. ทำงานสังคมกับกลุ่มสตรีอาสาพัฒนาประจำหมู่บ้าน ทำให้การทำงานร่วมกับชาวบ้านท้องถิ่น เพื่อผลักดันโครงการดังกล่าว จึงเป็นไปโดยง่าย ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี
แม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการตั้งไข่เกือบ 5 ปี มาจนถึงวันนี้ “โครงการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น” มีกิจกรรมที่หลากหลายและสอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวบ้าน ต.ตากแดด
เริ่มต้นแต่ การสืบสานประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบ เทศกาลสำคัญที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรม ส่งเสริมความสามัคคีของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
“แต่ก่อนการทำขนมเดือนสิบ ทำบ้านใครบ้านมัน พอเราเริ่มโครงการฯ ก็เกิดการรณรงค์ จนนำไปสู่การรวมตัวกันที่ศาลาเอนกประสงค์ของหมู่บ้าน เพื่อทำขนม ทั้งแจกและจำหน่าย ในราคากันเอง โดยเงินที่ได้มาก็เอาเข้ากองทุนแม่ของแผ่นดิน”ศิริพร เล่า
หรือจะเป็นเรื่องการเกษตร ที่โครงการฯ เข้ามาดูแลและให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวไร่ ทดแทนการปลูกยางพาราหรือปาล์มที่ต้องมีการตัดโค่น เพื่อปลูกใหม่ตลอดเวลา หรือการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งแบบธรรมชาติ ที่สามารถต่อยอดเป็นการทำสบู่น้ำผึ้ง และการทำน้ำพริกกะลา ที่ตอนนี้สร้างรายได้ให้คนในชุมชนได้เป็นกอบเป็นกำ
การเอากิจกรรมต่างๆ มาใส่ลงในชุมชน แม้ดูเป็นเรื่องพื้นๆ ที่ชุมชนไหนก็ทำกัน แต่ ศิริพร กลับมองว่า ผลลัพธ์ที่เธอต้องการ ไม่ใช่เรื่องของจำนวนเงิน ไม่ใช่เรื่องธุรกิจ พวกนั้นคือผลพลอยได้ แต่สิ่งที่ “โครงการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น” ต้องการที่สุดคือ การทำให้คนในชุมชนที่ต่างคนต่างอยู่ เคลื่อนเข้ามาหากันได้โดยไม่มีเงื่อนไข
“ถึงแม้หนูไม่ใช่คนพื้นที่ แต่หนูจัดการได้ เขาก็บอกว่าเก่งที่ชักชวนเพื่อนมาทำงานตรงนี้ได้ แต่ก่อน คนพื้นที่เองไม่ได้คิด เคยได้ยินว่าคนใต้รักคนใต้ แต่คนต่างถิ่นอย่างเรา ที่เข้ามาอยู่ตรงนี้ แต่พอเขารู้ว่าพอเราทำในสิ่งที่ดีให้กับชุมชน เขาก็บอกว่าเราต้องไปช่วยเขาทำนะ ผลตอบรับจากชุมชน คนใต้ สิ่งที่เกิดขึ้นมันเกินความคาดหมาย” ศิริพร เล่า
นอกจากสืบสานภูมิปัญญาใต้ที่ตากแดด เธอยังเอาวัฒนธรรมใต้กลับไปเผยแพร่ที่อีสานและ นำอีสานมาเพิ่มสีสันให้กับชุมชนใต้อีก เช่น นำเอาประเพณีแห่เทียนพรรษาที่มีความโดดเด่นทางภาคอีสานมาเผยแพร่กับชุมชน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี รวมไปถึงการรณรงค์เรื่องการแต่งกายไปวัด โดยเธอทำเป็นต้นแบบ โดยการแต่งผ้าไหมแบบอีสานไปวัด ผลคือ 30-40% ของคนในชุมชนหันมาทำตาม สาวๆ เปลี่ยนมานุ่งผ้าถุงอย่างไม่ขัดเขิน
“การเริ่มต้นให้คนมายอมรับเรา ก็ต้องทำตัวให้ดี เรามาตัวเปล่า คนอื่นเขามีรถ มีบ้าน แต่งตัวสวย ไม่มีใครรู้จักหนู จนกระทั่ง สร้างฐานะมีอะไรเหมือนคนอื่นทุกอย่างแล้ว พอเราเริ่มมีทรัพย์สินขึ้นมา เราไม่ได้ขี้เหนียว มีแบ่งปัน กลับอีสานได้หอมแดง กระเทียม หรือข้าวสารทางโน้น ก็จะแบ่งให้เขาไป พอเป็นอย่างนี้เอง เมื่อเราทำกิจกรรมอะไร เขาจะมาช่วยเราหมด เขาจะบอกว่าไอ้นี่มันดี กับเราอย่างนั้นอย่างนี้ก็ต้องไปช่วยมัน”
มาถึงวันนี้ ทุกกิจกรรมของ “โครงการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น” นอกจากจะสร้างเพื่อนใหม่ หรืออาจนำไปสู่การสร้างรายได้เล็กน้อยในครอบครัว แต่ผลสำคัญที่ได้คือ สร้างชุมชนให้น่าอยู่ขึ้น เพราะมีกิจกรรม เกิดการรวมตัวคนที่มากขึ้นๆ นำไปสู่คนในชุมชนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความสุขซึ่งกันและกัน
“แต่ก่อน บ้านใครบ้านมัน ชวนทำอะไรก็ตอบไม่ไว้ก่อน พอกิจกรรมของโครงการเริ่มเดิน เช่น ตอนทำสบู่น้ำผึ้ง คนมาเยอะเป็นร้อยคน การได้พูดได้จากันมากขึ้น ได้เอาความคิดของเขามาพูด ว่าใครคิดหรืออยากทำอะไร เช่นบางคนมีไอเดียอยากทำนั่นนี่ ก็เป็นโอกาสที่ดี ในการนำเสนอหาแนวร่วมขณะที่ ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ไม่ว่า นายกอบต. กำนัน ครู อสม. เจ้าหน้าที่.รพ.สต. ที่ชวนมาร่วม โดยการไปชักชวนคุยด้วยตนเอง ต่างก็ชอบใจ เพราะไม่เคยมีคนเสนอตัวมาทำแบบนี้มาก่อนมา” ศิริพร เล่าปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม
นี่คือบทพิสูจน์ ความสามารถของ “ศิริพร” คนอีสานที่ได้รับการยอมรับจากคนใต้ เพราะเธอนำความเป็นอันหนึ่งอันเดียวมาสู่ชุมชนตากแดด อ.เมือง จ.พังงา โดยเทคนิคสำคัญที่เธอมักนำมาใช้ คือ “ไม่ว่าใครพูดอะไร ก็อย่าไปโกรธ พิสูจน์ตัวเอง ให้เขาเห็น” และนี่ก็คือความสำเร็จที่มี “ความสุข” ของชาวบ้านตากแดด อ.เมือง จ.พังงา เป็นพยาน นั่นเอง
ที่มา : สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.
ภาพประกอบจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.