‘สามพรานโมเดล’ เกษตรกรอยู่ดี คนกินมีรอยยิ้ม
ที่มา : เว็บไซต์ The Momentum
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ The Momentum
‘สามพรานโมเดล’ เกษตรกรอยู่ดี คนกินมีรอยยิ้ม
รายการโทรทัศน์มักเสนอข่าวปัญหาความทุกข์ของเกษตรกร สาธยายโทษของสารเคมี บอกเล่าปัญหาที่ดินทำกินหลุดมือเพราะหนี้สินจากการทำการเกษตร ฯลฯ
คำถามคือ คนทั่วไปจะช่วยเกษตรกรได้อย่างไร จะซื้อผักให้มากขึ้น กินผลไม้ให้เยอะหน่อย ช่วยอุดหนุนคนไทยด้วยกัน หรือแชร์ลงเฟซบุ๊ก เท่านั้นพอไหม เป็นใครก็คงส่ายหัว บอกว่าไม่พอหรอก ยังดูไม่ใช่การแก้ปัญหาด้วยซ้ำ
ทั้งที่คนไทยราว 70 ล้านคนในปัจจุบันก็ต้องกินผักผลไม้ แต่ทำไมเงินรายได้จากการขายจึงไม่ตกแก่เกษตรกร ด้านเกษตรกรก็ต้องแข่งกันใช้สารเคมี เพราะถ้าไม่ใช้ก็เกรงว่าจะไม่ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสุขภาพของทั้งผู้ปลูกและผู้กินเดือดร้อนกันตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง แล้วจะทำอย่างไร ‘สามพรานโมเดล’ คือคำตอบที่เราต้องชะเง้อไปศึกษาดูใกล้ๆ
ผักผลไม้ราคาแพง
แม้ประเทศไทยจะมีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรมากถึง 35 เปอร์เซ็นต์ แต่หากไม่มีญาติมิตรเป็นชาวไร่ชาวสวน ก็ดูเหมือนว่าคนเมืองส่วนใหญ่จะห่างเหินกับแวดวงเกษตรกร ความสัมพันธ์ที่แสนเหนียวแน่นของผู้ปลูกและผู้กินถูกอำพรางไว้ภายใต้กลไกทางธุรกิจและเครือข่ายโลจิสติกส์อันซับซ้อน มองกล้วยในมือ เราคงไม่รู้ว่ามันผ่านอะไรมาบ้าง และเงิน 10 บาทของเราถูกกรองผ่านไปสู่เกษตรกรสักกี่บาทกัน
ในอดีต โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ จังหวัดนครปฐม เคยต้องเสียเงินซื้อผักผลไม้ผ่านพ่อค้าคนกลางเดือนละเกือบล้านบาท ด้วยเงินจำนวนมหาศาล จึงเกิดคำถามชวนคิดว่าทำไมโรงแรมจึงไม่ซื้อจากเกษตรกรโดยตรงไปเสียเลย
‘สามพรานโมเดล’ โดยมูลนิธิสังคมสุขใจและสามพรานริเวอร์ไซด์ เป็นการรวมกลุ่มของเครือข่ายเพื่อสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างผู้ปลูกกับผู้บริโภค โดยเริ่มจากคำสามคำ ‘อยากกินดี’ ซึ่งนำมาสู่รูปแบบการดำเนินธุรกิจบนฐานของการค้าที่เป็นธรรม
ไม่ได้หมายความว่าโรงแรมอยากประหยัด เลยคิดโครงการขึ้นมาเพื่อซื้อสินค้าราคาถูกแสนถูก เพราะการเริ่มต้นโครงการนี้ โรงแรมได้เชิญเกษตรกร 70 คนมาพูดคุยและทำข้อตกลงร่วมกันว่าจะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคาที่เคยจ่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง โดยมีเงื่อนไขกำกับว่า ‘ห้ามเกษตรกรใช้สารเคมี’
หมายความว่าเกษตรกรจะได้ราคาขายเพิ่มขึ้นอย่างน้อยหนึ่งเท่าตัวจากที่เคยขายให้กับพ่อค้าคนกลาง โดยแลกกับการเปลี่ยนวิธีทำการเกษตร ผลจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเกษตรกรหยุดใช้สารเคมี สุขภาพของพวกเขาก็ดีขึ้น และต้นทุนในการทำเกษตรกรรมก็ลดลงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนำไปสู่การปลดหนี้และเริ่มต้นชีวิตใหม่
ทางด้านเจ้าของธุรกิจโรงแรมก็ไม่เพียงแค่ได้สนับสนุนการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและอุดหนุนเกษตรกร แต่ยังได้ผลผลิตทางการเกษตรชั้นดีเพื่อปรุงอาหารให้กับลูกค้าของโรงแรม การติดต่อกันอย่างใกล้ชิดระหว่างพ่อครัวกับเกษตรกร ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนเมนูตามผลผลิตในแต่ละฤดูกาล กลายเป็นประโยชน์และความสำเร็จร่วมกันอย่างแท้จริง
แต่สามพรานโมเดลไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การซื้อขายระหว่างเกษตรกรกับโรงแรม แต่ยังขยายไปสู่การเชื่อมโยงตลาด ซึ่งจะทำให้เครือข่ายเกษตรกรอยู่ได้อย่างแข็งแรงด้วยตัวเอง
โมเดลเพื่อความยั่งยืน
ปัญหาของเกษตรกรเมื่อคิดจะขายของเองก็คือไม่รู้จะไปหาตลาดที่ไหน เพราะส่วนใหญ่ผูกพันตัวเองอยู่กับการรับซื้อของพ่อค้าคนกลาง
นี่เป็นโจทย์ที่สามพรานโมเดลนำมาคิดต่อ แล้วเริ่มต้นจากการแนะนำเกษตรกรให้รู้จักกับโรงแรมใหญ่ๆ เพื่อเชื่อมสายสัมพันธ์ ปัจจุบันมีโรงแรม 19 แห่ง และศูนย์ประชุม 3 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ Farm to Function โดยซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรง และเชื่อมโยงปลายน้ำ ซึ่งก็คือผู้กิน ให้ไปพบกับผู้ปลูก ผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ซึ่งนักท่องเที่ยวจะมีโอกาสได้ชมและศึกษาการปลูกพืชตามฤดูกาล
เกษตรกรกลุ่มใดผ่านการรับรองว่ามีส่วนร่วมกับโครงการ พวกเขาจะได้โอกาสนำสินค้าไปขายในช่องทางการจำหน่ายต่างๆ เช่น เว็บไซต์ตลาดออนไลน์ หรือตลาดสุขใจ ซึ่งเปิดขายในพื้นที่ของสวนสามพราน โครงการนี้ดำเนินงานมาแล้ว 6 ปีเต็ม แม้จะจำหน่ายผลผลิตในราคามิตรภาพ แต่กลับมียอดขายในปีล่าสุดสูงถึง 31 ล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความสำเร็จของโครงการ
ปัจจุบัน สามพรานโมเดลขับเคลื่อนเกษตรกรถึง 11 กลุ่ม โดยใช้กติกา ‘ระบบชุมชนรับรองแบบมีส่วนร่วม’ (Participatory Guarantee Systems: PGS) ซึ่งหมายถึงการรับรองโดยองค์กรผู้ผลิต อันเป็นวิธีที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในระบบการตรวจรับรองมากกว่าวิธีอื่น การรับรองนี้อิงกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) โดยมีการพบปะกันทุกเดือน เพื่อให้เกษตรกรรายใหม่ได้เรียนรู้จากผู้มาก่อน
สามพรานโมเดลคือแบบอย่างของการทำกิจการเพื่อสังคมซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจสายพันธุ์ใหม่ ไม่ใช่แค่เพียงธุรกิจที่มุ่งทำกำไรสูงสุด แต่เป็นกิจการที่มุ่งเน้นให้ทุกส่วนหันกลับมาทบทวนบทบาทของตัวเองในการแก้ปัญหาสังคมไปด้วยกัน
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน (อพท.) ได้ศึกษาแบบอย่างดังกล่าว และเกิดแรงบันดาลใจที่จะส่งเสริมให้พื้นที่อื่นๆ นำไปปรับใช้กับพื้นที่ของตัวเอง เช่น ที่เขตพื้นที่พิเศษจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นท้องถิ่นที่โดดเด่นด้านหัตถกรรม และมีแนวโน้มที่จะนำแนวคิดนี้ไปใช้ในอนาคต
เมื่อปลูกพืชด้วยวิธีการที่ยั่งยืน ไม่ทำลายทั้งสุขภาพของเกษตรกร ผู้กิน และสิ่งแวดล้อม แถมควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น เพราะไม่ต้องอาศัยสารเคมี ประกอบกับมีตลาดและเครือข่ายที่พร้อมสนับสนุนผลผลิต ความ ‘อยากกินดี’ ของเกษตรกรเมื่อตอนเริ่มต้น จึงกลายเป็นความ ‘อยู่กินดี’ ซึ่งมีรากฐานทางสังคมที่แข็งแรงคอยสนับสนุน