สานตำนาน”ปักขทืน”ปฏิทินล้านนา

พลิกสื่อพื้นบ้านกลับคืนสู่ชีวิตเด็กไทย

 

 สานตำนาน”ปักขทืน”ปฏิทินล้านนา

            คงจำกันได้กับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะในวัยเยาว์ อันมีที่มาจากความสนุกสนานเมื่อได้เล่น ส่งผลในวัยเด็กไม่ค่อยป่วยไข้ เพราะมีสุขภาพกาย สุขภาพใจดีตามไปด้วย และการละเล่นส่วนมากที่คนสมัยก่อนเล่น ก็เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ ระหว่างคนรุ่นปู่ย่า พ่อแม่ และลูกหลาน

 

            คุณประโยชน์ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นตัวก่อให้เกิดโครงการดีๆ อย่าง “สื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะของเยาวชน” ที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท ม.มหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกลุ่มดินสอสี พลิกฟื้นสื่อพื้นบ้านมากประโยชน์กลับคืนสู่ชีวิตเด็กไทย ให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่คนรุ่นใหม่จะมาช่วยสานคุณค่าสร้างสังคมในแง่ปัญญา ความรัก มิตรภาพ และความหวัง จนกลายเป็นวัฒนธรรมสื่อพื้นบ้านสานสุข หลังจากถูกของเล่นทางเทคโนโลยีในโลกดิจิตอลมอมเมา สร้างความสนุกแค่เปลือกนอกแต่ข้างในไร้แก่นสารมาเนิ่นนาน

 

            โครงการสื่อพื้นบ้านของชาวล้านนาและกลุ่มชาติพันธุ์ไทยใหญ่ ที่ชื่อว่า “สืบสานฮีตฮอย ฮ่วมปอยข่วงผญา” เกิดขึ้นเมื่อช่วงสิ้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ณ วัดเวียงหวาย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ โดยมีกลุ่มเยาวชนและชุมชนที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกจาก สสส. เข้าร่วม 5 กลุ่ม นับ 100 ชีวิต ได้แก่ การฟ้อนไต ฟ้อนโต จากเยาวชนชาวไทใหญ่ อ.ฝาง, ซุ้มสาธิตภูมิปัญญาปฏิทินล้านนา และละครเรื่องพิเศษ “มนต์รักปักขทืน” จากเยาวชนบ้านสัน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ต่อด้วยขบวนแห่กลองสะบัดชัยฝีมือละอ่อนน้อยจากบ้านเมืองก๊ะ อ.แม่ริม, คณะจ๊อยซอประสานเสียงรุ่นเยาว์ จาก อ.เชียงดาว และสอนตัดตุงล้านนาโดยเยาวชนจาก อ.สันทราย จบท้ายที่ซุ้มของเล่นเดินทางโดยพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยและเยาวชนจาก อ.แม่วาง

 

            ในฐานะเป็นคนเมือง ความสนใจเลยพุ่งเป้าไปที่ศิลปวัฒนธรรมแปลกตา และทราบภายหลังว่ามีคุณค่ายิ่งอย่าง “ปักขทืน” หรือ “ปฏิทินล้านนา” ที่ปัจจุบันเยาวชนเมืองเหนือไม่ใคร่รู้จักและกำลังหดหายไปจากสังคมไทย ทว่ากลับมีเด็กกลุ่มหนึ่งต้องการสืบสาน และปราชญ์ชาวบ้านนามว่า “หนาน” บุญนาค จอมธรรม ก็พร้อมถ่ายทอด ซึ่ง “เอ๋” อรุณรัตน์ กลิ่นเกษร ตัวแทนกลุ่มเยาวชนจากเวียงป่าเป้า จะมาบอกกล่าวถึงความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้

 

            “ปักขทืนโบราณหรือปฏิทินล้านนามีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้นที่รู้ แถมยังสืบทอดกันด้วยปากต่อปาก ส่วนวัยรุ่นในปัจจุบันไม่มีใครสนใจ จนปราชญ์ชาวบ้านหวั่นว่าจะหายไปจากโลก เพราะทั้งภาษาพูดและอักขระล้านโบราณก็กำลังสูญหายไปเช่นกัน ซึ่งเยาวชนกลุ่มเวียงป่าเป้าไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น”

 

            อรุณรัตน์ยังบอกด้วยว่า ในฐานะที่เป็นเยาวชนล้านนารู้สึกทึ่งกับศาสตร์แห่งปักขทืน ที่มีการบอกวันดีวันเสียของปี เป็นการระบุว่าวันไหนของเดือนควรทำการที่เป็นมงคลหรือไม่เป็นมงคล

 

            “คือแต่เดิมเวลาพูดคุยกับพ่อแม่หรือผู้เฒ่าผู้แก่เกี่ยวกับเรื่องวัน เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องห้ามทำอะไรในวันนี้เดือนนี้ เหมือนไม่เข้าใจกันสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง แต่พอได้มาเรียนรู้อย่างจริงจังการสื่อสารที่เคยเป็นปัญหาก็ดีขึ้น แถมยังสนิทสนมกับพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ยมากขึ้นด้วย ที่สำคัญสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ปักขทือ ทำให้เด็กๆ เข้าใจประวัติศาสตร์ในชนชาติของตัวเอง เมื่อรู้แล้วก็เกิดความภาคภูมิใจและอยากบอกต่อถึงวัฒนธรรมอันสูงค่าของถิ่นล้านนาที่ประเมินค่าไม่ได้” อรุณรัตน์กล่าว

 

            ด้านปราชญ์บุญนาคเล่าถึงที่มาที่ไปของปักขทืนว่า ผู้เฒ่าผู้แก่เชื่อว่าการนับวัน เดือนปี ทำให้ความมุ่งหวังสำเร็จได้ และหากภารกิจสำเร็จก็จะก่อให้เกิดแรงศรัทธาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในชุมชน โดยความศรัทธาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องงมงาย แต่เป็นองค์ความรู้ เป็นกุศโลบายสมัยปู่ย่าตาทวดที่ผูกไว้กับโหราศาสตร์ และการเคลื่อนย้ายของดาราศาสตร์ด้วยการนับ จนเกิดเป็นเอกเทศทางวัฒนธรรมที่ไม่มีใครเหมือน

 

            การนับปีปฏิทินแบบปักขทืน ปราชญ์แห่งเวียงป่าเป้าอธิบายให้ฟังว่า จะเริ่มนับเดือน ต.ค. เป็นเดือนแรกของปี เนื่องจากเป็นฤดูผลิดอกออกผลของล้านนา เป็นฤดูแห่งความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และในแต่ละเดือนจะมีวันดีวันเสียบอกไว้เป็นคำกลอน ซึ่งมีที่มาจากหนังสืออักขระล้านนาโบราณ

 

            โดยหากเป็นเดือนจะดูที่ข้างขึ้นข้างแรม ส่วนในแต่ละปีก็มีวันดีวันเสียที่ห้ามจัดทำงานมงคลกำกับอยู่ด้วย เช่น เดือน 1, 5, 9 วันเสียคือวันอาทิตย์กับจันทร์ เดือน 2, 6, 10 วันเสียคืออังคาร เดือน 3, 7, 11 วันเสียคือวันเสาร์กับพฤหัสบดี ส่วนเดือน 4, 8, 12 วันเสียคือวันพุธกับศุกร์ ที่ต้องมีวันเสียสันนิษฐานว่าการทำอะไรไม่อยากให้เร่งรีบ แต่ควรชะลอเพื่อให้ภารกิจที่จะทำนั้นประสบความสำเร็จสูงสุด

 

            อีกกิจกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กันและแทบไม่เคยเห็นที่ไหน ก็คือ “ฟ้อนโต” ศิลปะการแสดงของชาวไทใหญ่หรือไต โดย “โต” เป็นสัตว์ป่าหิมพานต์ที่มารับเสด็จพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสด็จกลับจากดาวดึงส์ ชาวไตนับถือเป็นสัตว์สูง และนำมาประกอบการละเล่นเพื่อสืบสานพุทธศาสนา

 

            ในเรื่องนี้ “อาจารย์แดง” จรรยา พนาวงศ์ ครู รร.บ้านเวียงหวาย บอกว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นกับเหล่าเยาวชนล้านนาโดยเฉพาะเด็กไตเป็นความน่ายินดียิ่ง เพราะวัฒนธรรมที่กำลังสูญหายได้พลิกฟื้นกลับคืน เนื่องจากไตเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกข่มเหงและอพยพมาจากพม่ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่นับ 100 ปีแล้ว และด้วยความต้องการที่ให้ประเทศไทยยอมรับว่าไตเป็นคนไทยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ อีกทั้งกลัวลูกหลานไม่รัก ทำให้เหล่าคนเฒ่าคนแก่ปกปิดความเป็นไตของตัวเอง ไม่ยอมถ่ายทอดวัฒนธรรมไตให้กับเด็กๆ จนขาดการสานต่อ

 

            “เมื่อโครงการเข้ามาให้ความรู้กับคนในชุมชนว่า การละเล่นพื้นถิ่นเป็นเรื่องดีควรอนุรักษ์ เขาก็เข้าใจและเริ่มฟื้นขึ้นมา แม้จะไม่เหมือนเดิม 100% แต่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นหัวหอกสำคัญ ชุมชนที่เคยเงียบเหงาก็กลับมาครึกครื้น เด็กๆ เมื่อมารวมกลุ่มฝึกด้วยกัน เสียงหัวเราะเกิดขึ้น ความสามัคคีเกิดขึ้น เขาได้เล่นกิจกรรมต่างๆ ที่ใช้แขนขาแสดงความสามารถ ไม่ใช่นั่งจมอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์จนเสียสุขภาพ”

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

ภาพประกอบ: อินเทอร์เน็ต

 

 

update 09-06-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code