สังคมสูงวัย กระตุ้นวางแผนชีวิต-อดออม
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เมื่อประเทศไทยมีอัตราผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง และต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กองทุนการออมแห่งชาติ และ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดเวทีเสวนา "สังคมสูงวัย…ก้าวไปด้วยกัน" ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้สูงอายุสนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมกล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า จำนวนผู้สูงอายุในไทยขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 10.8 ล้านคน คาดว่าในปี 2564 จะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และอีก 15 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านคน สถานการณ์ดังกล่าวจะนำมาสู่ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคม
รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์ชาติไว้ 20 ปี (2560-2579) โดยมีแผนปฏิบัติการเรื่องผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ และพม.เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ขณะนี้เดินหน้าไปหลายเรื่อง เช่น การให้ชุมชนจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุทั่วประเทศ การฝึกอบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ การสร้างโรงเรียนผู้สูงอายุ รวมถึงส่งเสริมให้จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น
"ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมรับมือในทุกด้าน โดยเฉพาะการออมในช่วงวัยทำงานให้เพียงพอต่อการดำรงชีพในวัยสูงอายุ และการดูแลสุขภาพ เพื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ มีความมั่นคง และมีคุณค่า" รมว.พม.กล่าว
ด้าน ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้ามกับประชากรวัยทำงานและเด็กจะลดลงเรื่อยๆ สาเหตุหลักมาจากคนมีอายุยืนมากขึ้น แต่อัตราการเกิดน้อย ปัจจุบันสัดส่วนของประชากรวัยทำงานอยู่ที่ 4.5 คน ต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และเด็ก 1 คน แต่ในอนาคตจะอยู่ที่ 1.7 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน และเด็ก 1 คน ส่งผลให้คนวัยทำงานต้องหารายได้ให้มากขึ้น เพื่อมาดูแลผู้สูงอายุ
ผลกระทบอีกด้านคือเศรษฐกิจ ประเทศจะขาดแคลนแรงงานในระบบ ภาครัฐอาจต้องมีมาตรการขยายอายุเกษียณราชการ สำหรับคนที่มีใจอยากทำงานต่อ ส่วนภาคเอกชนก็พิจารณาจ้างงานผู้สูงอายุที่มีความสามารถเหมาะสมกับงาน
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่สำคัญคือแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่กว่า 24 ล้านคน ไม่มีหลักประกันรายได้กรณีชราภาพ มีเพียง ผู้สูงอายุร้อยละ 35.7 ที่มีแหล่งรายได้จากเงินออมหรือการถือครองทรัพย์สิน
สังคมจึงต้องตระหนักถึงการออม เพื่อการพึ่งพาตนเองในเบื้องต้น ส่วนภาครัฐก็ต้องทำงานอย่างหนักในการหามาตรการมารองรับ ทั้งในครอบครัวที่มีภาระต้องดูแล ผู้สูงอายุและเด็ก หรือครอบครัวที่มีแต่ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้สูงอายุที่ต้องอยู่เพียงลำพัง เพื่อให้เป็นสังคม สูงวัยอย่างมีคุณภาพ
ขณะที่ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่ง เจริญชัย รองปลัดสธ. ชี้ว่าเมื่ออายุมากขึ้นจะมีความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ แยกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ 1.ความสามารถในการใช้ชีวิต แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก จะสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ และออกไปข้างนอกได้ กลุ่มที่สอง คือเริ่มมีปัญหากับการใช้ชีวิตประจำวันบางเรื่อง ทำให้อยากอยู่แต่ในบ้าน กลุ่มสุดท้าย คือมีปัญหาด้านร่างกายหรือกลุ่มติดเตียง มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามอายุ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถทำให้อายุยืนได้มากขึ้น 2.ปัญหาสุขภาพ เช่น กล้ามเนื้อถดถอย จะมีปัญหาเรื่องการเดิน ซึ่งภาครัฐก็ยังไม่มีอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการออกไปข้างนอก 3.โรคภัยไข้เจ็บ เช่น เบาหวาน ซึ่งจะเป็นกันมาก รองลงมาคือ หกล้ม ลื่น เนื่องจากแคลเซียมในกระดูกลดลง
เมื่อผู้สูงอายุเกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน และความเสื่อมถอยของร่างกาย แต่การดูแลระยะยาวไปจนถึงการดูแลระยะสุดท้ายจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องพักรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งมีมากกว่าร้อยละ 60 ไทยจึงมีความจำเป็นต้องจัดระบบการดูแลระยะยาว และ การดูแลระยะสุดท้ายสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่าย กระทรวงมหาดไทย จัดทำโครงการในการดูแลผู้ป่วยระยะยาวหรือผู้ป่วยติดเตียงเข้ามาสู่ระบบ
ในหนึ่งปีสามารถเปลี่ยนให้ผู้สูงอายุที่ติดเตียงกลับไปอยู่ในความดูแลของที่บ้าน และชุมชนได้ประมาณปีละ 1,000 คน เปลี่ยนให้คนที่ติดบ้านสามารถกลับมาเดินได้ตามปกติ และออกไปข้างนอกได้ประมาณ 4,000 คน ซึ่งอีก 10 ปีข้างหน้า คาดว่ากลุ่มผู้สูงอายุติดเตียงจะมีมากกว่า 1 ล้านคน
โดยทั่วไปการดูแลผู้สูงอายุจะเป็นจิตอาสาหรือเจ้าหน้าที่วิชาชีพ แต่เนื่องจาก ผู้สูงอายุมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนดูแลอาจไม่เพียงพอ ฉะนั้น อาจต้องพิจารณาถึงการให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อจูงใจให้คนเข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุ เพราะการเป็นจิตอาสาคงไม่สามารถทำได้ตลอด หากสังคมไม่ช่วย
"ประเทศไทยยังลงทุนขั้นพื้นฐานไม่ ดีพอ เช่น การศึกษา การดูแลสุขภาพ การเสริมสร้างอาชีพในช่วงรอยต่อของอายุ ที่น่าเป็นห่วงคือระบบคุ้มครองผู้สูงอายุ เช่น การถูกหลอกและตกเป็นเหยื่อและสุดท้ายรัฐต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการออม อย่างประเทศญี่ปุ่นจะกำหนดให้คนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปเริ่มออม เพื่อดูแลตัวเองในระยะยาว" นพ.สุวรรณชัยกล่าว
ปิดท้ายที่ นายจิระพันธ์ กัลลประวิทย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สะท้อนว่า การที่โครงสร้างประชากรมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ประเทศไทยจะรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างไร ในขณะที่กำลังแรงงานลดลง
ส่วนที่สองคือสังคมสูงวัยไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือเมื่อคนไทยเข้าสู่อายุ 60 ปี ยังพึ่งตนเองไม่ได้ และไม่มีการเตรียมการว่า เมื่อเริ่มทำงานแล้วจะวางแผนชีวิตหลังเกษียณอย่างไร
คาดการณ์ว่าหลังจากอายุ 60 ปี คนไทยจะมีอายุไปอีกประมาณ 20 ปีโดยเฉลี่ย แค่การกินอย่างเดียวไป 20 ปีก็ใช้เงินไม่ใช่น้อย และไม่มีการออม ถ้าสถานการณ์ของประเทศยังเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ทุกคนจะต้องมาพึ่งพิงความช่วยเหลือจากภาครัฐ
นายจิระพันธ์กล่าวต่อว่า แต่ประเทศเรายังไม่สามารถจัดสวัสดิการที่ดีให้ผู้สูงอายุได้เช่นเดียวกับทางฝั่งยุโรป ในฐานะที่เป็นหน่วยงานในการวางแผนของประเทศ จึงต้องเตรียมการเข้าสู่สังคมสูงวัย
ในระดับประเทศ สิ่งแรกคือจะทำให้ประชาชนที่ยังทำงานได้ สามารถทำงานให้มากขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร ส่วนภาครัฐก็ต้องหารายได้เพิ่มขึ้น เพื่อมาดูแลผู้สูงอายุ หรือให้คนเก่งๆ จากต่างประเทศเข้ามาทำงาน เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตและมีรายได้ดูแลผู้สูงอายุ
ประเด็นต่อมาคือตัวผู้สูงอายุที่ไม่มีการเตรียมการ เราต้องทำให้ผู้สูงอายุพึ่งตนเองให้มากและนานที่สุด ซึ่งเรามีนโยบาย ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงานต่อไป ภาครัฐต้องเข้าหาและดูแลให้มากขึ้น พร้อมจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะสำหรับผู้สูงอายุ ทำให้คนที่ไม่มีเงินออมสามารถอยู่ด้วยตัวเองได้ และพยายามให้ผู้สูงอายุรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน โดยจัดกองทุนให้กู้ยืม ซึ่งมีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่มีเงินบำเหน็จบำนาญ
ภายในงานยังได้ติดตั้งบอร์ดให้ผู้สูงอายุร่วมเขียนความคิดเห็นถึงสังคมสูงวัยในอุดมคติ ซึ่งผู้สูงอายุเขียนข้อความ อาทิ เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ, เป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง จิตใจเปี่ยมด้วยความสุข, ไม่ป่วยไข้ ไม่เป็นภาระลูกหลาน เป็นต้น