สสส.โชว์ 4 แผนงานป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
ที่มา : แนวหน้า
ภาพประกอบโดย สสส.
ความสำเร็จของประเทศไทยในการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เกิดจากการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เป็นหนึ่งในองค์กรหลักที่จับมือ กับภาคีเครือข่ายดำเนินการเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ได้จัดกิจกรรมศึกษาดูงานเรื่อง "การสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังผ่านมุมมองเศรษฐกิจการเมือง" ภายใต้การประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 (Prince Mahidol Award Conference: PMAC 2019) และได้มีการโชว์ 4 แผนงาน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมศึกษาดูงาน และเห็นถึงเส้นทางที่ทอดไปสู่ความสำเร็จของ สสส.
"ธีมของงานในปีนี้เป็นเรื่องของการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยผู้เข้าชมอยากจะรู้ว่า สสส. ทำงานเกี่ยวกับการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างไร" ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เล่าว่าสิ่งที่ ผู้เยี่ยมชมสนใจเรียนรู้คือการทำงานของ สสส. ด้านกลไกทางกฎหมาย กลไกกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และการจัดระบบสนับสนุนแผนงานต่างๆ ซึ่ง
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 2 สสส. ได้เล่าถึงแผนควบคุมยาสูบว่า กลยุทธ์การลดปัญหาการสูบบุหรี่ของคนไทยประกอบไปด้วย 3 ด้านคือ 1.ด้านวิชาการ ที่ใช้ความรู้วิเคราะห์และแก้ไขปัญหา และเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบาย 2.ด้านหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรรัฐ และ 3.ด้านองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร (NGO) ยกตัวอย่างเช่น การสร้างเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ โดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น และสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเร่งดำเนินการอยู่ขณะนี้คือการดำเนินงานภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO Framework Convention on Tobacco Control หรือ WHO FCTC) ที่กำหนดเป้าหมายให้ประเทศสมาชิก WHO ลดการบริโภคยาสูบลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568 (2025)
ทางด้านแผนควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เล่าถึงการนำเสนอผลงานว่า เป็นการแสดงตัวอย่างให้กลุ่มผู้เยี่ยมชมรับทราบถึงการทำงานของเครือข่ายงดเหล้าและการทำงานภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในประเด็นการห้ามจำหน่ายเบียร์ด้วยเครื่องอัตโนมัติในร้านสะดวกซื้อเมื่อ 2 ปีก่อน และอีกหนึ่งประเด็นที่กำลังดำเนินการคือปัญหาการใช้ตราสินค้าเสมือน เช่น การใช้ตราสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำเปล่าที่ไม่แตกต่างกันเพื่อให้สามารถโฆษณาได้ จึงกำลังดำเนินการเสนอกฎหมายเพื่อควบคุมไม่ให้มีการโฆษณาโดยใช้ตราสินค้าเสมือนเกิดขึ้น
"การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน หลอดเลือดสมองและหัวใจ ถุงลมโป่งพอง มะเร็ง ความดันโลหิตสูง และอ้วนลงพุง ขณะเดียวกัน การมีพฤติกรรมเนือยนิ่งก็สามารถก่อให้เกิดโรคดังกล่าวได้เช่นกัน" นายกิษิดิ คุณวิภูศิลกุล วิทยากรจากแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สสส. บอกเล่าถึง การทำงานของแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกายแก่ผู้เยี่ยมชมว่า ทางแผนได้พัฒนารูปแบบการทำงานที่มาจากการรณรงค์สื่อสารเรื่องเหล้าบุหรี่ จึงเกิดการสนับสนุนส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย และเพิ่มพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมทางกายควบคู่กันไป โดยแนะนำให้มีการยืดเหยียดในระหว่างวัน โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานบริษัทที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนั่งทำงานที่โต๊ะ
"เพราะการมีสุขภาพที่ดี ทำให้พนักงานป่วยน้อยลงและเพิ่มความสุขมากขึ้น" พ.ท.หญิง พญ.สิรกานต์ เตชะวณิช คณะกรรมการเครือข่าย คนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เล่าถึงการทำงาน ภายใต้แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ หลังจากสนับสนุนให้เกิดสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอาหารทางเลือกได้ง่ายขึ้น รวมถึงการแบ่งสัดส่วนจานอาหารตามหลักโภชนาการ 2:1:1 สองส่วนแรกเป็นผักสดชนิดต่างๆ หรือผักสุกมากกว่า 2 ชนิด ขึ้นไป อีกส่วนหนึ่งเป็นข้าว แป้ง ควรเลือกที่ไม่ขัดสี และส่วนสุดท้ายเป็นประเภทโปรตีน เน้นปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
ทางด้าน ทพญ.จิราพร ขีดดี ตัวแทนเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานได้เพิ่มเติมสำหรับแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ ในเรื่องของการรณรงค์ให้เด็กไทยไม่กินหวานมากจนเกินไป ดื่มน้ำเปล่าแทนการดื่มน้ำอัดลม รวมถึงการบริโภคผักและผลไม้ปลอดสารพิษ ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายโรงเรียนเพื่อให้เด็กนักเรียนได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ขณะเดียวกันก็ต้องขับเคลื่อนในระดับนโยบาย เพื่อให้ระดับพื้นที่มีแนวทาง ที่ชัดเจนในการปฏิบัติงานให้สัมฤทธิผล
การดำเนินงานเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจำเป็นจะต้องทำอย่าง ต่อเนื่องในหลากหลายรูปแบบ ซึ่ง สสส. ได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม และหัวใจสำคัญที่สุดคือการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายการสร้างเสริมสุขภาวะในระดับประเทศ เพื่อให้ คนไทยมีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม