สสส.แนะแก้ปัญหาปัสสาวะเล็ดด้วยการขมิบ
บริหารกล้ามเนื้อเสริมสุขภาพสตรีวัยหมดประจำเดือน
รศ.กรกฏ เห็นแสงวิไล หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง “สร้างเสริมสุขภาพบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานในสตรีด้วยตนเอง” โดยการสนับสนุของแผนเปิดรับทั่วไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ปัญหากล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนสมรรถภาพ ถือเป็นเรื่องที่พบในสตรีทั่วโลก โดยเฉพาะในวัยหมดประจำเดือน เช่นที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
พบว่า สตรีวัยหมดประจำเดือน 75.3% มีปัญหาการกลั้นปัสสาวะ ขณะที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็พบว่า สตรีวัยหมดประจำเดือน 89.3% มีปัญหาเดียวกัน และ 43.3% มีภาวะมดลูกหย่อนด้วย นอกจากนี้จากการสำรวจสตรีไทยในภาคเหนือตอนบน ช่วงปี 2542-2543 ยังพบว่าผู้หญิงช่วงอายุ 20-24 ปี พบปัญหากลั้นปัสสาวะถึง 41% และวัยหมดประจำเดือนอีก 48%
ทั้งนี้ปัญหาที่ตามมาคืออาการปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ มดลูกหย่อน และเพศสัมพันธ์บกพร่อง เนื่องจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่อ่อนแรงและหย่อนลงมา จะทำให้ช่องคลอดขาดประสิทธิภาพ ไม่สามารถหดตัวได้ขณะมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังผายลมบ่อยผิดปกติ
“คนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในเรื่องการกลั้นปัสสาวะ ส่วนมากคิดว่าเป็นเรื่องของคนสูงอายุ หรือบางคนก็รู้สึกอาย กลัวสังคมรังเกียจ จึงไม่มารับการรักษา และพยายามแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เช่น ดื่มน้ำน้อยลง เข้าห้องน้ำบ่อยๆ ใส่ผ้าอนามัย หรือในรายที่มีอาการฉี่เล็ดมากๆ อาจถึงขั้นเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ยอมออกจากบ้าน”
สำหรับสาเหตุของอุ้งเชิงกรานหย่อนสมรรถภาพนั้น มาจากหลายปัจจัย อาทิ การตั้งครรภ์และการคลอด ซึ่งการตั้งครรภ์ จะทำให้มีการยืดขยายของกล้ามเนื้อ และพังผืดรอบอุ้งเชิงกราน ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ ส่วนการคลอดเป็นการกระทำโดยตรงต่อกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน คือมีการกรีดฝีเย็บ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง
นอกจากนี้ในผู้สูงอายุ สตรีวัยหมดประจำเดือน คนอ้วน คนใช้แรงงานยกของหนัก ก็เกิดภาวะกล้ามเนื้อหย่อนยานได้ง่าย รวมไปถึงโรคเรื้อรัง เช่น ถุงลมโป่งพอง ไอเรื้อรัง กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กล้ามเนื้องอก ล้วนก่อให้เกิดปัสสาวะเล็ดได้
รศ.กรกฏ กล่าวว่า ในการวิจัยได้เสนอวิธีการให้ความรู้และสร้างเสริมสุขภาพสตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน สตรีที่เริ่มมีอาการปัสสาวะเล็ด และสตรีมีครรภ์ โดยแนะนำการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอย่างถูกต้องด้วยตนเอง ด้วยการใช้สื่อวีดีทัศน์ที่ผลิตขึ้นอย่างมีคุณภาพ แล้วใช้แบบสอบถาม วัดผลสัมฤทธิ์ในสตรีวัย 40-60 ปี ประมาณ 60 คน ใน จ.เชียงใหม่ และ จ.พิษณุโลก
เพื่อเปรียบเทียบการเรียนรู้ด้วยตนเองก่อนและหลังการใช้วีดีทัศน์ และศึกษาในสตรีที่เริ่มมีอาการปัสสาวะเล็ดจำนวนประมาณ 30 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และสตรีมีครรภ์ จำนวน 30 คน ปรากฏว่า กลุ่มทดลองมีความรู้เกี่ยวกับอุ้งเชิงกรานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน และยังได้ฝึกขมิบอุ้งเชิงกรานอย่างถูกวิธี ต่อเนื่องถึง 12 สัปดาห์
ผลคือคนที่เคยมีปัญหาปัสสาวะเล็ดบ่อยๆ ลดความรุนแรงของอาการลง กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรงและกระชับตัว ส่งผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ซึ่งผู้เข้าร่วมทดลองหลายคนเล่าว่าได้รับคำชมจากสามีในเรื่องนี้
โดยการทดสอบสมรรถภาพกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานด้วยตนเองนั้น รศ.กรกฎ กล่าวว่า สามารถทำได้ โดยการดื่มน้ำ 2 แก้ว แล้วรอประมาณ 10-15 นาที จนรู้สึกปวดปัสสาวะ ให้กระโดดพร้อมกันจนสองเท้าลอยพ้นพื้นติดต่อกัน 20 ครั้ง จากนั้นกระโดดกางขาหน้า-หลัง 4 ครั้ง และไอแรงๆ อีก 2-3 ครั้ง สังเกตว่ามีปัสสาวะเล็ดหรือไม่ เพราะในคนปกติกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานควรควบคุมได้ ไม่มีอาการปัสสาวะเล็ด
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดอาการปัสสาวะเล็ดหรือไม่ วิธีการป้องกันและบรรเทาอาการของโรค ทำได้โดยการขมิบอุ้งเชิงกรานแรงๆ ค้างไว้ 10 วินาที แล้วปล่อยประมาณ 5 วินาที ทำซ้ำอีกจนครบ 5 ครั้ง แล้วขมิบ-ปล่อย แบบแรงเต็มที่ อีก 5 ครั้ง วันหนึ่งๆ ควรทำอย่างน้อย 4-5 ครั้ง ในช่วงเช้า สาย บ่าย เย็น และก่อนนอน โดยต้องฝึกขมิบในขณะที่ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น นั่ง ยืน เดิน จาม จนกลายเป็นนิสัย ก็จะส่งผลดีต่อสตรีในระยะยาว
ด้านนายแพทย์ชาตรี เจริญศิริ กรรมการบริหารแผนเปิดรับทั่วไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการวิจัย เรื่อง สร้างเสริมสุขภาพบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานในสตรีด้วยตนเอง เป็นงานวิจัยเชิงนวัตกรรมที่หยิบเอาผลการวิจัย หรือผลสำรวจของต่างประเทศมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย และยังคิดค้นวิธีการสอนให้หญิงไทยรู้จักขมิบอุ้งเชิงกรานอย่างถูกวิธีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านสื่อวีดีทัศน์ และการฝึกอบรม ช่วยแก้ไขปัญหาของสตรีจำนวนมากที่ประสบปัญหาเรื้อรังมานาน
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
update 17-12-51