สสส. เยี่ยมชมรมจักรยาน หนุนศักยภาพการทำงาน
เมื่อไม่นานมานี้ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยทีมงาน เดินทางเยี่ยมเยือน ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย(TCC) เพื่อพบปะและร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงแนวทางดำเนินงานในการเสริมสร้างศักยภาพการทำงาน
“ขณะนี้การปั่นจักรยานกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ถ้าชมรมฯ ต้องการบอกเล่าเนื้อหาเพื่อขยายช่องทางการสื่อสาร ต้องคำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้ง และจึงผลิตเนื้อหาให้ตรงต่อความต้องการ นอกจากนี้ควรมีเนื้อหาที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่าย อย่างเช่น แนะนำการปั่นจักรยานอย่างถูกวิธี หรือความปลอดภัยในการขับขี่จักรยาน เป็นต้น ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับประชาชน” ทพ.กฤษดา ผู้จัดการ สสส. เริ่มต้นบทสนทนา ด้วยการให้คำแนะนำเพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้แก่ชมรมจักรยานฯ
ทพ.กฤษดา บอกอีกว่า จากผลการดำเนินงานของชมรมจักรยานที่ผ่านมาในการขับเคลื่อนและสร้างความตระหนักเพื่อกระตุ้นประชาชนให้หันมาใช้จักรยานนั้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้จักรยานทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวัน และใช้เพื่ออกกำลังกายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการทำงานทั้งด้านวิชาการ และด้านปฏิบัติที่เป็นหน่วยงานมีความตั้งใจสูง โดยหวังว่าต่อไปคงมีโอกาสทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น รวมถึงการช่วยหนุนเสริมทั้งเรื่องเครือข่าย การพัฒนาศักยภาพ และด้านอื่นๆ ซึ่ง สสส. ยินดีให้ความช่วยเหลือเต็มที่ เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาการดำเนินงานต่อไป
ด้านนางาสาว อัจจิมา มีพริ้ง ผู้อำนวยการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย(TCC)อธิบายถึงแนวทางการทำงานว่า ทางชมรมจักรยานดำเนินงานโดยใช้โมเดลของ สสส. เป็นแบบอย่าง โดยมีความคาดหวังคือการขับเคลื่อนเรื่องนโยบายสาธารณะ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2543 และได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ในปี พ.ศ.2554 โดยเริ่มจากการจุดประกายแนวคิด และค้นหาข้อมูลงานวิจัยเรื่องการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ซึ่งผลที่ได้คืองานวิจัยเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขับขี่จักรยาน รวมถึงเกิดเครือข่ายร่วมกับสถาบันการศึกษา โดยหวังให้เป็นจุดเชื่อมต่อให้เกิดแรงผลักดันสำหรับการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน โดยเบื้องต้นได้ร่วมทำงานกับชุมชนใน 6 พื้นที่
ในปี พ.ศ.2555 – พ.ศ.2556 ทำงานเชิงรุกโดยส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันภายในชุมชน โดยมุ่งเน้นที่ชุมชนท้องถิ่นและทำควบคู่ไปกับงานวิจัย เพราะชมรมเห็นว่าข้อมูลฐานงานวิจัยเชิงวิชาการจะสามารถเป็นองค์ความรู้ที่ให้ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงการสร้างเครือข่ายผู้ใช้จักรยาน เพราะขณะนั้นโจทย์ของชมรมคือ “โครงการประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพ” ฉะนั้นการทำเครือข่ายในรูปแบบป่าล้อมเมือง จึงเป็นวิธีที่จะสร้างพลังให้เกิดแรงกดดันทางสังคมเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายให้ง่ายขึ้น โดยยังคงขับเคลื่อนด้านนโยบายสาธารณะ และทำควบคู่ไปกับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งผลที่ได้คือ มี40 พื้นที่ ดำเนินการเรื่องชุมชนจักรยาน มีงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น มีเครือข่ายขยายตัวออกไป และได้รับความเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
ในปี พ.ศ.2556 – ปัจจุบัน ชมรมจักรยานมีงานวิจัยกว่า 28 โดยในปี พ.ศ.2554 ทำเฉพาะเรื่องทัศนคติในการใช้จักรยาน แต่ในระยะหลังมุ่งเน้นเรื่องโครงสร้างที่ได้มาตรฐาน เรื่องความปลอดภัยในการขับขี่จักรยาน รวมถึงเรื่องสุขภาพและสังคม เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงให้เป็นกายภาพมากยิ่งขึ้น ขณะนี้มีพื้นที่ดำเนินการเรื่องชุมชนจักรยาน 61 พื้นที่ ทั้งนี้รวมกับชุมชนจักรยานของ สสส. รวมแล้วประมาณ 150 พื้นที่ที่ทำงานร่วมกัน
“เราเน้นคำว่าใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวัน ที่ผ่านมาเกิดการรณรงค์ อย่าง “I Bike I Walk”หรือ โครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันสู่นโยบายสาธารณะประเทศไทย โดยพบว่าสังคมเริ่มรับรู้และเข้าใจ ว่าขณะนี้เราควรส่งเสริมให้เกิดการเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพื่อตอบโจทย์ การลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม โดยทั้งนี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายการทำงานในปีต่อไป เพราะขณะนี้เราทำเรื่องนโยบายสาธารณะ ซึ่งจะขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นเพื่อมุ่งสู่ชุมชนสุขภาวะและสังคมสุขภาวะ”นางาสาว อัจจิมา กล่าว
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ยังได้บอกเล่าถึงจุดอ่อนในการดำเนินงานด้วยว่า เนื่องจากทางชมรมจักรยานทำงานกับชุมชนเป็นส่วนใหญ่ จึงมีข้อจำกัดในด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่มีอยู่ บางครั้งจึงต้องมีเสียงสะท้อนและคำแนะนำของสื่อที่นำเสนอออกไป ว่าควรทำอย่างไรให้น่าสนใจและโดนใจทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งหาก สสส.มีคำแนะนำ ทางชมรมจักรยานก็พร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขเพื่อเสริมศักยภาพการทำงาน และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้การออกเยี่ยมชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย(TTC) ทำให้ สสส. ได้รับทราบถึงปัญหาและอุปสรรคการดำเนินงาน เพื่อแนะนำการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานต่อไป
สามารถติดตามข้อมูลกิจกรรมของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย(TCC) ได้ที่ http://www.thaicyclingclub.org/
เรื่องโดย: แพรวพรรณ สุริวงศ์ team content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต